xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” เตือนรัฐซุกหนี้ตบแต่งบัญชีชาติ ส่อซ้ำรอยหายนะต้มยำกุ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (แฟ้มภาพ)
อดีต รมว.คลังได้ที ยกคำ “ธีระชัย” ย้ำข้อมูล ปชป.ถูกต้อง ยิ่งเพิ่มน้ำหนักคำร้องศาลรัฐธรรมนูญ จี้รัฐรับผิดชอบ สับซุกหนี้-โอนหุ้น-ซุกหุ้น ตบแต่งบัญชีชาติสวยหรูทั้งที่มีหนี้ ซ้ำรอยหายนะต้มยำกุ้ง วอนทบทวนการทำงาน ฉะ “กิตติรัตน์” อย่าเล่นแร่แปรธาตุ


วันนี้ (24 ม.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ออกมาระบุความคลาดเคลื่อนในเรื่องการกำหนดตัวเลขภาระหนี้ต่องบประมาณที่ 12% แต่ในข้อเท็จจริงภาระหนี้ต้องมีงบประมาณอยู่ที่ตัวเลข 9.33% ว่าเรื่องนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันมาตั้งแต่แรกว่าการพยายามผลักดันที่จะออกกฎหมายในรูป พ.ร.ก. โดยรัฐบาลน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนจริง โดยเหตุผลที่รัฐบาลหยิบยกมาอ้างในแต่ละเรื่อง เดิมที่อ้างว่าต้องการลดปริมาณหนี้สาธารณะโดยรวม ทางพรรคก็ชี้แจงแล้วว่า ระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันสามารถกู้ยืมได้ 2 ล้านล้านบาท โดยไม่เป็นข้อจำกัดตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง จึงใช้เหตุผลใหม่ว่า ภาระหนี้ต้องมีงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปีที่กำหนดไม่ควรเกิน 15% เพื่อไม่ให้กระทบต่อกรอบวินัยการคลัง รัฐบาลจึงนำเรื่องนี้มาอ้างว่าภาระหนี้ต่องบประมาณสูงถึง 12% ซึ่งไม่เป็นความจริง และตนเคยทักท้วงหลายครั้งว่าเป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อน เพราะใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดทำก็มีภาระหนี้ต่องบประมาณเพียง 9.33% เพื่อชำระดอกเบี้ยและเงินต้น จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการกู้ยืมเพิ่มเติม

“วันนี้อดีต รมว.คลัง ออกมายืนยันว่าตัวเลขและตรรกะของพรรคประชาธิปัตย์ที่คัดค้านเรื่องนี้ถูกต้องมาโดยตลอด ถือว่าเพิ่มน้ำหนักให้กับคำร้องที่พรรคประชาธิปัตย์จะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะนายธีระชัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมพิจารณาเรื่องนี้ใน ครม.ด้วย และยืนยันว่าคุณกิตติรัตน์ใช้ข้อมูลเรื่องภาระหนี้ต่องบประมาณ 12% มาเป็นเหตุผลและอธิบายต่อ ครม.ว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่เมื่อตระหนักแล้วว่าเป็นข้อมูลไม่ถูกต้อง ก็ต้องถามกลับไปที่รัฐบาลว่าจะดำเนินการรับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างไร” นายกรณ์กล่าว

เมื่อถามว่า รัฐบาลควรจะมีการทบทวนร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับหรือไม่ เพราะแม้ว่าจะมีการนำขึ้นทูลเกล้าแล้วแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ และยังไม่มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา นายกรณ์กล่าวว่า ต้องถามรัฐบาลว่าปัจจุบันเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานสภาฯ เรียบร้อยแล้ว มีรายชื่อ ส.ส.กว่าร้อยคน พร้อมที่จะยืนศาลรัฐธรรมนูญตีความในเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะมองปัญหานี้อย่างไร ทางพรรคได้พูดมาโดยตลอดว่ารัฐบาลไม่ควรหลีกเหลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐสภา ไม่ควรใช้อำนาจเผด็จการมาผลักดันกฎหมายสำคัญ แทนที่จัดให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติผ่านกระบวนการรัฐสภา ส่วนการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจะกระทำโดยเจตนาหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้คำตอบกับสาธารณะเพราะตนไม่สามารถเดาใจนายกฯ และรองนายกฯ ได้ ว่ามีเจตนาให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ แต่ที่ชัดเจนคือ สิ่งที่รัฐบาลบอกกับสาธารณะ ไม่ใช่ความจริง และตนเห็นว่าเรืองนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากการให้ตัวเลขที่แตกต่างกันส่งผลต่อภาระหนี้ของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ผู้บริหารระดับประเทศ โดยเฉพาะรองนายกฯ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าทำงานโดยไม่อาศัยข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ร่าง พ.ร.ก.ก็ไม่ได้ร่างโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงจากกระทรวงการคลัง แต่กลับมอบหมายให้สภาพัฒน์ไปดำเนินการ จนกระทั่งเกิดความผิดพลาด

“ผมคิดว่าคนที่ดำเนินการต้องรับผิดชอบโดยใช้หลักธรรมาภิบาลและจิตสำนึกของพวกท่านมาพิจารณา เพราะความพยายามหลายเรื่องที่รัฐบาลทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการซุกหนี้ของรัฐ โดยโอนหนี้ให้กับกองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือการซุกหุ้น ปตท. การบินไทย เพื่อนำไปสู่การซุกหนี้เพิ่มเติมให้กับกองทุนวายุภักษ์ ล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามตบแต่งบัญชีเพื่อให้ประเทศชาติดูเหมือนมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น ทั้งๆ ที่ตามข้อเท็จจริงหนี้ประเทศเคยมีเท่าไรก็ยังคงเท่าเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการที่ไม่โปร่งใส เคยใช้ในปี 2540 และนำมาซึ่งความหายนะต่อเศรษฐกิจของประเทศจนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงถือว่าเป็นวิธีการที่ไม่ควรนำมาใช้แก้ปัญหาประเทศ เพราะจะเป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือนักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย” นายกรณ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทีมเศรษฐกิจที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ล้วนเป็นบุคคลที่เคยทำให้ประเทศเกิดปัญหาในช่วงวิฤตต้มยำกุ้ง การนำแนวคิดเดิมกลับมาบริหารประเทศจะทำให้ประเทศไทยต้องประสบปัญหาวิกฤตต้มยำปูในยุคที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ หรือไม่ นายกรณ์กล่าวว่า ใช่ เพราะวิธีการตกแต่งบัญชีเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับที่เคยขึ้นในหลายสถาบันการเงินยุควิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ซึ่งวิกฤตนี้เริ่มต้นจากความอ่อนแอของระบบสถาบันการเงิน โดยมีความพยายามซุกหนี้ และความเสียหายที่เกิดขึ้นตกแต่งบัญชีเหมือนที่รัฐบาลนี้กำลังทำในระดับประเทศ ซึ่งอันตรายที่จะเกิดขึ้นคือ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อให้มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะนโยบายด้านการคลัง ความสำคัญที่สุดคือต้องมีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส ไม่เช่นนั้นผลพวงที่จะเกิดขึ้นจะกระทบไปทุกระดับจนถึงประชาชนทุกคน เพราะความพยายามที่จะซุกหุ้นเพื่อซุกหนี้ หมายถึงการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจสำคัญๆ เช่น ปตท.ได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนแล้ว โดยมีการลอยตัว พลังงานทุกชนิดส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะนี้อัตราค่าก๊าซหุงต้มก็กำลังจะสูงขึ้นในช่วงสิ้นปี สิ่งเหล่านั้นประชาชนสัมผัสได้แล้วว่าแนวคิดทางนโยบายของรัฐบาลชุดนี้จะสร้างความเดือดร้อน

เมื่อถามว่า นายธีระชัยออกมากล่าวว่า ประเทศไทยอาจจะต้องร้องเพลง Don’t Cry For me Argentina คิดว่าประเทศไทยต้องเข้าสู่ยุคนี้จริงหรือไม่ นายกรณ์กล่าวว่า ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาล จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมและแนวทาง ปฏิบัติที่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศในระดับนั้น ตนอยากวิงวอนในรัฐบาลทบทวนวิธีการทำงานทั้งหมดตั้งแต่วิธีคิด วิธีทำ หลักจรรยาบรรณ หลักธรรมาภิบาล และต้องกำหนดเป้าหมายที่สมเหตุสมผล การดำเนินงานในทุกขั้นตอนต้องให้ความสำคัญต่อการทำงานในระบอบประชาธิปไตย คือต้องมีความโปร่งใส ต้องพร้อมที่จะชี้แจงข้อมูลทั้งหมด โดยยึดหลักธรรมาภิบาลสูงสุด ไม่เช่นนั้นความหวังที่นายกฯ ระบุว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจก็จะไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ เพราะถ้ายังเดินหน้าเช่นนี้ ตนคิดว่าภายในไม่กี่อาทิตย์อาจต้องปรับ ครม.อีกครั้ง เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำมีผลในการออกกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญในส่วนของ พ.ร.ก.ที่ต้องมีผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นนายกฯ หรืออย่างน้อยที่สุดคือ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ตนคิดว่าประเทศจะเดินหน้าไปได้ อยากให้รัฐบาลทำงานเพื่อประโยชน์ประเทศอย่างแท้จริง อย่าเล่นแร่แปรธาตุ อย่าพยายามหลบซ่อนวาระซ่อนเร้นที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองจริงซ่อนไว้ รัฐบาลต้องระมัดระวังในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้มีอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงในปัจจัยที่มีประวัติในการขับเคลื่อนนโยบายในลักษณะทุจริตเชิงนโยบาย เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องและบริษัทที่ตนเองแอบถือหุ้นอยู่ จึงขอให้ทบทวนให้ดี ไม่เช่นนั้นประเทศชาติจะเสียหาย บ้านเมืองจะเสียโอกาสในการที่จะพัฒนาประเทศเพื่อประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น