xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพฯบินไทย-ปตท. ขยับจัดเวทีต้านขายหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -สหภาพฯการบินไทย (THAI) และ ปตท.(PTT) ต้านคลังขายหุ้น เตรียมจัดเวทีสาธารณะชำแหละ ชี้รัฐบาลต้องหนุนให้แข่งเอกชนไม่ใช่ขายหุ้นทิ้ง เสนอแก้มติ ครม.และข้อกฎหมายที่ติดขัดแทน "ธีระชัย" แฉ รบ.กดตัวเลขหนี้สาธารณะต่ำกว่าจริง ขู่ซ้ำรอยอาเจนติน่า สักวันต้องร้องเพลง Don’t cry for me ด้าน ปชป.อัด “โกร่ง” กลืนน้ำลาย แฉจ้องแต่จะแปรรูป รสก.ทำเงิน

นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดในการขายหุ้นที่ถืออยู่ในรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งคือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI) และบริษัท ปตท. จำกัด ( มหาชน) (PTT) ให้กองทุนวายุภักษ์ ว่า มีรายละเอียดที่ต้องชี้แจง โดยเฉพาะการบอกว่าขายหุ้น 2% ให้กองทุนวายุภักษ์ เป็นการลดหนี้สาธารณะอย่างไร พนักงานการบินไทยข้องใจ และการบินไทยที่เป็นสายการบินแห่งชาติ ได้อะไร ที่สำคัญประชาชนได้ประโยชน์อะไรบ้าง

สหภาพฯ การบินไทยและสหภาพฯ ปตท.ได้หารือกันแล้วว่า จะร่วมกันจัดเสวนาใหญ่ เปิดเวทีสาธารณะให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวด้วย เพราะถือว่าประชาชนเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจตัวจริง โดยจะเชิญผู้แทนจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ซึ่งเคยเป็นประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ,อดีตประธานบอร์ดการบินไทย, นักวิชาการและวุฒิสภา (สว.) เข้าร่วม เพื่อให้ข้อเท็จจริงและฟังความเห็นที่เป็นกลาง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และประชาชนอย่างแท้จริง

ส่วนกรณีที่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ระบุว่า การที่กระทรวงการคลังลดสัดส่วนหุ้นจาก 51% เหลือ 49% จะส่งผลดีต่อการบินไทย เพราะจะทำให้การบริหารมีความคล่องตัวมากขึ้น นั้นนางแจ่มศรีกล่าวว่า เป็นความเห็นของฝ่ายบริหาร ซึ่งความคล่องตัวอย่างเดียวไม่ได้ทำให้สายการบินสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้ ซึ่งวันนี้การแข่งขันสูงมาก การเป็นรัฐวิสาหกิจของการบินไทย ที่มีรัฐบาลให้การสนับสนุนเพื่อแข่งขันเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า จึงควรเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไป แต่ควรหาทางแก้ไขปัญหาความไม่คล่องตัว เช่น แก้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือข้อกฎหมาย ที่ทำให้การบริหารงานติดขัด มากกว่าการขายหุ้น

นางแจ่มศรีกล่าวว่า รัฐบาลควรให้การสนับสนุนการบินไทยทุกรูปแบบเพื่อแข่งขันกับเอกชน ซึ่งการบินไทยเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดอยู่แล้ว และที่ผ่านมาการบินไทยแสดงให้เห็นว่า ความเป็นรัฐวิสาหกิจ สามารถเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนและด้านความมั่นคงได้เป็นอย่างดี เช่น เหตุการณ์สึนามี เหตุการณ์น้ำท่วม ที่ผ่านมา หรือกรณีเหตุร้ายแรงในต่างประเทศ และต้องนำคนไทยกลับประเทศ การบินไทย ช่วยในการขนส่งประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐบาลใช้บริการทุกครั้งที่เกิดเหตุ แต่หากการบินไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว รัฐบาลจะไม่สามารถใช้เป็นเครื่องสนับสนุนโดยเฉพาะการดูแลประชาชนได้ หรือจะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นแน่นอน

"พนักงานการบินไทยไม่ได้ต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ใดๆ เพราะปัจจุบัน สิทธิประโยชน์ที่พนักงานได้รับไม่ได้มากมาย แต่ต้องการให้สังคม ประชาชน รับรู้ข้อเท็จจริง และร่วมให้ความคิดเห็น ปัญหาของการบินไทย ที่ผ่านมาเป็นปัญหาภายในที่มีวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งต้องจริงจังในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการแทรกแซงจากการเมือง ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบของภาคประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถมองไปที่ประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศให้มากที่สุด "นางแจ่มศรีกล่าว

พนักงานการบินไทยคนหนึ่งให้ความเห็นว่า กรณีที่กระทรวงการคลังจะลดหุ้นลง 2 % เป็นการหยั่งเชิง และเป็นการพูดความจริงไม่หมด เพราะเมื่อทำได้จะทำให้หลุดจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหลังจากนั้นจะทำอะไรก็ได้ ต้องบอกประชาชนให้ชัด ที่ผ่านมาปัญหาของการบินไทยและความเสียหายของบริษัท ล้วนเกิดจากนโยบายของรัฐบาล เช่น เดิมการบินไยมีเครื่องยนต์แบบเดียว คือ จีอี รัฐบาลสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหวัณบอกว่า เป็นการผูกขาดให้ ใช้เครื่องยนต์ โรสรอยล์ และ แพท แอนด์วิทนีย์ด้วย ผลที่เกิดขึ้นคือ การบินไทยต้องเพิ่มพนักงานฝ่ายช่างจาก 500 คนเป็น 1,500 คน ต้องเพิ่มสต๊อกอะไหล่ ต่อมาสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายให้เปลี่ยนโลโก้ การบินไทย เปลี่ยนสี เปลี่ยนทุกอย่างตั้งแต่หัวกระดาษ ไปจนถึงช้อนส้อม ใช้เงินในการปรับเปลี่ยน 1.4 หมื่นล้านบาท โดยมีกระแสข่าวว่า นักการเมืองได้ค่าที่ปรึกษาในการปรับเปลี่ยนดังกล่าว 30% เป็นต้น

**ธีระชัยแฉ รบ.กดหนี้ต่ำเกินจริง

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ในหัวข้อ "วินัยการคลัง กับการพยายามลดตัวเลขหนี้สาธารณะ" ว่า มีคนถามผมว่า การที่ผมไม่เห็นด้วยกับขบวนการโยกหนี้สาธารณะนั้น แสดงว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ในส่วนนี้ผมเห็นด้วยครับ ว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องกู้เงินเพื่อใช้พัฒนาระบบบริหารน้ำและระบบขนส่ง เพราะการที่รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่ม หากใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์จริงๆ หากไม่มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง และหากทำให้ประเทศมีความสามารถในการหารายได้ที่ยั่งยืนมั่นคงมากขึ้นก็จะเป็นเรื่องที่ดีทั้งนี้ ในส่วนของระดับหนี้สาธารณะของไทย ซึ่งมีประมาณร้อยละ 42 ของรายได้ประชาชาตินั้น ไม่สูงเท่าใดครับ โดยมองว่า หากระดับหนี้ที่สูง คือ ร้อยละ 60

ดังนั้นในวันนี้ รัฐบาลยังจะสามารถกู้ได้อีกเกือบ 2 ล้านล้านบาท โดยไม่กระทบความเชื่อมั่นในตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องไปซ่อนตัวเลขให้ดูต่ำกว่าจริง ก็ยังสามารถกู้ได้ไม่ยากครับ ถ้าอย่างนั้น ทำไมจึงมีความพยายามที่จะสำแดงตัวเลขหนี้สาธารณะให้ต่ำกว่าที่เป็นจริง ผมเองไม่อยากกล่าวหาผู้ใดว่าคิดร้ายกับประเทศ แต่การที่ตัวเลขหนี้สาธารณะต่ำลงนั้น ย่อมจะมีผลทำให้รัฐบาลไม่มีแรงกดดันที่จะต้องหารายได้ และไม่มีแรงกดดันที่จะต้องขึ้นอัตราภาษี เพราะหากสำแดงตัวเลขหนี้สาธารณะตามเดิม ในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลก็จะต้องขอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หรือ รายได้อื่นๆ ซึ่งย่อมจะทำให้พรรคการเมืองนั้นเสียคะแนน

หากสำแดงตัวเลขที่ต่ำลง รัฐบาลก็จะสามารถใช้นโยบายประชานิยมไปได้อีกเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนมีการกินการใช้ที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่พอเพียง ไม่ประหยัด สำคัญผิดว่าเราร่ำรวยกันแล้ว สำคัญผิดว่ายังไม่จำเป็นต้องเริ่มเก็บเงินมาเพื่อชำระหนี้ เรื่องวินัยการเงินการคลังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และต้องอิงวิชาการที่บริสุทธิ์เป็นสำคัญ แต่หากเอาการเมืองนำ ระวังนะครับ วันหนึ่งจะต้องร้องเพลง Don’t cry for me Argentina กันทั้งประเทศ

***“โกร่ง” กลืนน้ำลายแปรรูป รสก.

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำงานของนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศหรือกยอ.ว่า มีทัศนคติเปลี่ยนไปมากโดยเฉพาะความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และยังยืนยันที่จะต้องปลดรัฐวิสาหกิจอย่างปตท. และการบินไทยเพื่อให้ลงทุนต่างประเทศได้สะดวก และลดหนี้สาธารณะของประเทศ แต่กลับไม่พูดถึงว่ารัฐวิสาหกิจ 2 แห่งนี้ ได้ส่งรายได้ให้กับประเทศไทยสูงที่สุด ทำไมไม่เอาขสมก.หรือรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่สร้างภาระหนี้สินให้รัฐบาลทุกปี ทำไมจะต้องเอาตัวที่ทำกำไรไปให้เอกชนถือหุ้น และเอาทรัพย์สินออกจากมือของคนไทย

นายชวนนท์กล่าวว่า ตนอยากเตือนความจำว่า นายวีรพงษ์ได้เขียนบทความเกี่ยวกับธปท. เอาไว้เมื่อปี 2548 ครั้งหนึ่ง และได้พบอีกว่าได้มีการเขียนเอาไว้อีกครั้งเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 47ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วิจารณ์การแปรรูป กฟผ. ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ทรัพย์สมบัติควรจะเป็นของประเทศ การดึงออกไปต้องระมัดระวัง

"ไม่รู้ว่าเป็นนายวีรพงษ์ คนเดียวกันหรือไม่ ที่แต่ก่อนเคยพูดว่าข้อสำคัญที่สุดคือจุดประสงค์ของการแปรรูป ต้องชัดเจนว่าจะต้องเปิดให้แข่งขัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อต้นทุนที่ต่ำสุด ไม่ใช่เพื่อให้ตลาดหุ้นใหญ่ขึ้น หรือนำเงินมาลงทุนได้ หรือหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันน้อยลง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องรอง ถามว่าเป็นคนละคนหรือเปล่า เพราะเรื่องรองที่บอกไว้ กลายเป็นเรื่องแรกทั้งหมด ถ้าหากแปรรูปปตท. และการบินไทยไปแล้ว ใครจะมาแข่งขัน ท่านจะเอาบริษัทขายแก๊ส เอาอาแปะขายแก๊ส ที่ไหนมาแข่งกับปตท. เพราะฉะนั้นอยากให้ไปทบทวน ดูบทความตัวเองด้วย" นายชวนนท์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น