xs
xsm
sm
md
lg

หมดเวลาลองผิด-ลองถูก ผลาญงบประมาณแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีควง “ดร.โกร่ง” นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย หรือ กยอ. และกรรมการยุทธศาตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน.

มาเล่าสู่กันฟังในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ถึงแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และแผนบริหารฟื้นฟูประเทศ

แจกแจงการวางระบบป้องกันน้ำท่วมหรือภัยแล้งในระยะสั้น รวมทั้งบอกแผนระยะยาว เช่น วางแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน แก้มลิง และ Flood way ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อให้ทุกฝ่ายรวมทั้งนักลงทุนต่างชาติมั่นใจว่า จะไม่เกิดวิกฤตอุทกภัยอีก โดยจะเสนอแผนแม่บท แผนฟื้นฟูสร้างอนาคตประเทศต่อนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า

พร้อมกับเสนอ ครม.อนุมัติหลักการกู้เงิน 350,000 ล้านบาท

นายกฯ รับประกันความมั่นใจว่าแผนการต่างๆ จะเสร็จทันภายในเดือนหน้า และจะทำให้นานาชาติ ซึ่งมีแผนที่จะเดินทางเยือนในปีหน้า ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงสหรัฐฯ และยุโรป มั่นใจในแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาของไทย

เป้าหมายสำคัญเรียกความเชื่อมั่น ฟื้นฟูความเชื่อถือจากต่างชาติหลังประเทศไทยประสบมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายย่อยยับอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

อย่างไรก็ดี งบประมาณที่ขออนุมัติเบื้องต้นจำนวนสูงถึง 350,000 ล้านบาทนั้น ยังไม่แน่ใจในรายละเอียดว่าจะคิดอ่านทำกันอย่างไร ข้อเสนอที่แพลมกันออกมายังไม่ตกผลึกเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ก่อนหน้านี้ก็มีการแบ่งงานกันไปคิดทำเป็นคณะอนุฯ พิจารณาแผนระยะสั้น มอบให้ปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธาน และคณะอนุฯพิจารณาแผนระยะยาวมอบให้นายกิจจา ผลภาษี รับหน้าที่ประธาน

แต่ทำไปทำมาต้องกลับมารวมกัน เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง ไม่สะเปะสะปะไปคนละทาง โดยแผนระยะสั้นและระยะยาวต้องเป็นไปแบบต่อเนื่องเกื้อกูลกัน

แผนการต่างๆ ในระยะสั้น เรื่องการขุดลอก คูคลอง ทำคันกั้นดิน ดูแล้วทำไม่น่ายาก แต่เรื่องการทำแก้มลิงรับน้ำนั้น ต้องไปคิดหาวิธีชดเชยความเสียหายให้ชาวบ้าน ซึ่งนับเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย อาจมีกระแสต่อต้านถึงขั้นก่อนม็อบขึ้นมาอีก

แผนระยะยาวหลายสิ่งหลายอย่างฟังแล้วดูดี วาดภาพในอากาศแล้วบอกใช่เลย การทำฟลัดเวย์ ฟลัดไฮเวย์ คิดทำให้่บางพื้นที่เป็นที่รองรับน้ำยามเกิดอุทกภัย หากเป็นช่วงปกติก็ใช้ทำเป็นถนน แนวคิดการทำเจ้าพระยา 2 ก็เข้าท่า

แต่ถ้าหากถึงเวลาแล้วน้ำไม่มา น้ำไม่มีแล้วจะเป็นอย่างไร จะเสียประโยชน์กันไปเปล่าๆ หรือไม่ ความคุ้มค่ามันอยู่ตรงไหน

วันนี้ข้อเสนอหลายอย่างยังดูล่องลอย ไร้หลักยึด เดินไปในหลายทิศทาง ยังไม่ตกผลึกเสียที เนื่องเพราะคณะกรรมการแต่ละคนที่ตั้งขึ้นมา ล้วนเก่งๆ ทั้งนั้น การแข่งขันภายในเองก็สูง ต้องการนำเสนอ ต้องการให้เป็นผลงานเอาหน้า สร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง

คงต้องฝากเป็นการบ้านให้รัฐบาลที่จะต้องคลอดแผนแม่บท อย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ แผนระยะสั้น ระยะยาวมีอย่างไรต้องบอกให้ชัด พร้อมทำให้เห็นผลจริง รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบประเมินติดตามผล

ไม่ใช่เอางบจำนวนมหาศาลไปละลายน้ำ ลองผิดลองถูกเล่นๆ

ประเทศไทยศึกษาเรื่องน้ำกันมาพอสมควรแล้ว แนวพระราชดำริ ก็มีให้เห็นอยู่ทนโท่ แต่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจน้อมนำมาปฏิบัติ เมื่อปัญหาเกิดก็ตาลีตาเหลือกหาทางแก้ไขกันที วันนี้ภัยมาถึงตัวแล้ว หมดเวลาลองผิดลองถูก ผลาญงบประมาณชาติไปวันๆ

หากตั้งท่าแก้ไข ดูเอาจริงเอาจังขนาดนี้แล้ว ยังเกิดน้ำท่วมซ้ำซากสร้างความทุกขเวทนาให้ประชาชนอีกในปีหน้า หรือปีต่อๆ ไป ก็คงหมดเวลาของรัฐบาล และนักการเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ

มีแต่คำครหาว่า ฉ้อราษฎร์บังหลวง!!
กำลังโหลดความคิดเห็น