ท่าทีของนายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่วิพากษ์วิจารณ์ อย่างรู้ทันและรู้จริง ต่อมาตรการ “ซุกหนี้สาธารณะ” ของนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. ที่ใช้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นมือไม้ไปทำ จะเป็นผล หรือเป็นเหตุ ที่ทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่ง เป็นเรื่องที่บุคคคลทั่วไปยากจะหยั่งรู้ได้ แต่ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวที่นายธีระชัยเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กนั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคม เป็นการตรวจสอบ-จับผิดการฉ้อฉลของรัฐบาล ในยุคที่ระบบการตรวจสอบโดยกลไกการเมือง และสื่อสารมวลชน แทบจะไม่มีอยู่แล้ว
ในข้อเขียนเรื่อง “วินัยการคลัง กับการพยายามลดตัวเลขหนี้สาธารณะ” ในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 21 มกราคม นายธีระชัยแย้งว่า “ระดับหนี้สาธารณะของไทยซึ่งมีประมาณร้อยละ 42 ของรายได้ประชาชาตินั้น ไม่สูงเท่าใด ระดับหนี้ที่สูงคือร้อยละ 60 ดังนั้น ในวันนี้รัฐบาลยังจะสามารถกู้ได้อีกเกือบ 2 ล้านล้านบาท โดยไม่กระทบความเชื่อมั่นในตลาดเงินตลาดทุน ไม่มีความจำเป็นต้องไปซ่อนตัวเลขให้ดูต่ำกว่าจริง ก็ยังสามารถกู้ได้ไม่ยากครับ ถ้าอย่างนั้น ทำไม่จึงมีความพยายามที่จะสำแดงตัวเลขหนี้สาธารณะ ให้ต่ำกว่าที่เป็นจริง
ผมเองไม่อยากกล่าวหาผู้ใดว่าคิดร้ายกับประเทศ แต่การที่ตัวเลขหนี้สาธารณะต่ำลงนั้น ย่อมจะมีผลทำให้รัฐบาลไม่มีแรงกดดันที่จะต้องหารายได้ และไม่มีแรงกดดันที่จะต้องขึ้นอัตราภาษี เพราะหากสำแดงตัวเลขหนี้สาธารณะตามเดิม ในอนาคตอันใกล้ รัฐบาลก็จะต้องขอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หรือรายได้อื่นๆ ซึ่งย่อมจะทำให้พรรคการเมืองนั้นเสียคะแนน แต่หากสำแดงตัวเลขที่ต่ำลง รัฐบาลก็จะสามารถใช้นโยบายประชานิยมไปได้อีกเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนมีการกินการใช้ที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่พอเพียง ไม่ประหยัด สำคัญผิดว่าเราร่ำรวยกันแล้ว สำคัญผิดว่ายังไม่จำเป็นต้องเริ่มเก็บเงินมาเพื่อชำระหนี้”
นายธีระชัยยังเห็นว่า การขายหุ้นการบินไทย และ ปตท. เพื่อลดหนี้สาธารณะ ตามแนวคิดของนายวีรพงษ์นั้น
“ภาษานักบัญชีเขาเรียกวิธีการเช่นนี้ว่า “การตกแต่งบัญชี” ครับ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “window dressing” คือการทำให้หน้าต่างที่แสดงสินค้าดูสวยหรู แต่เป็นการบังหน้าปัญหาที่เละเทะที่ซ่อนอยู่ภายในร้าน และตัวอย่างของประเทศกรีซ ก็เห็นแล้วว่า หากพยายามซ่อนตัวเลขหนี้สาธารณะ และภายหลังถูกจับได้ ก็จะไม่มีใครเชื่อถือเครดิตของประเทศอีกต่อไป
เป็นอันตรายอย่างมาก ขอเตือนไว้นะครับ”
ข้อเขียนเรื่อง “อัตราส่วนภาระหนี้ที่ถูกต้องต่องบประมาณที่ถูกต้องคือเท่าใด” เมื่อวันที่ 23 มกราคม นายธีระชัย ได้เปิดเผยข้อมูลที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของการใช้ข้อมูลที่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงของนายกิตติรัตน์ เพื่อเป็นข้ออ้างในการออกพระราชกำหนดกู้เงิน 4 ฉบับ ให้ ครม.อนุมัติในวันที่ 4 มกราคม
“เหตุผลที่ชี้แจงข้อหนึ่งคือ หากไม่ดำเนินการโดยเร่งด่วน จะเกิดปัญหาขึ้นแก่อัตราส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณ
ภาระหนี้ต่องบประมาณนั้น คืออัตราส่วนเงินที่ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณแต่ละปี เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของงบประมาณในปีนั้น ไม่ควรจะเกินร้อยละ 15 ของงบประมาณ ซึ่งกรอบนี้เรียกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง
รองนายกฯ (นายกิตติรัตน์) แจ้งคณะรัฐมนตรีว่าขณะนี้อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 12 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟู เพื่อมิให้ภาระดอกเบี้ยสำหรับหนี้กองทุนฟื้นฟู เป็นภาระแก่งบประมาณต่อไป มิฉะนั้นจะไม่มีช่องว่างพอเพียง ที่รัฐบาลจะกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำ
ผมได้ทราบภายหลังว่ารองนายก (นายกิตติรัตน์) ได้ข้อมูลนี้ไปจากสภาพัฒน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่สภาพัฒน์ได้คำนวณโดยใช้ตัวเลขจากประมาณการเศรษฐกิจ และในการประชุมคณะรัฐมนตรีทั้งสองครั้ง เลขาธิการสภาพัฒน์ซึ่งนั่งอยู่ในห้องประชุมด้วย ก็มิได้แก้ไขข้อมูลนี้เป็นอย่างอื่น
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่ผมจะพ้นตำแหน่งเพียงหนึ่งวัน เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังได้นำข้อมูลจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะมาแจ้งให้ผมทราบว่า สำหรับปีงบประมาณ 2555 นั้น อัตราส่วนดังกล่าวเป็นเพียงร้อยละ 9.33 มิใช่ร้อยละ 12 ดังที่รองนายก (นายกิตติรัตน์) แจ้งต่อคณะรัฐมนตรี
อัตราส่วนดังกล่าวเกิดจากการชำระหนี้เงินต้นร้อยละ 1.97 และจากการชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.36 รวมเป็นร้อยละ 9.33 และเป็นการคำนวณจากตัวเลขที่เป็นทางการในกฎหมายงบประมาณที่เพิ่งผ่านสภาไปเร็วๆ นี้
ผมเองต้องยอมรับว่าตกใจมากเพราะทำให้เหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนในการที่จะต้องออกกฎหมายในรูปแบบพระราชกำหนดเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
ผมจึงขอเสนอรองนายก (นายกิตติรัตน์) ผ่าน facebook หน้านี้ เนื่องจากต่อไปนี้ท่านจะกำกับดูแลทั้งสภาพัฒน์และสำนักบริหารหนี้สาธารณะแล้ว ท่านจึงควรจะให้มีการศึกษาเปรียบเทียบตัวเลข และวิธีการเก็บข้อมูล รวมถึงวิธีคำนวณของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อให้ปรากฏตัวเลขที่ถูกต้องในการปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอหลักการและเหตุผลสำหรับพระราชกำหนดทั้ง 4 ฉบับ ในลักษณะที่เป็นเรื่องเดียวกันที่ผูกโยงไว้ด้วยกัน โดยใช้ข้อความเดียวกันทุกประการทั้ง 4 ฉบับ ดังนั้น หากมีการตีความว่าฉบับใดฉบับหนึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้พระราชกำหนดทั้ง 4 ฉบับติดขัดไปด้วยพร้อมกัน
ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องด่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่นะครับ”
หากในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องว่า พ.ร.ก.4 ฉบับ ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามคำร้องของ สมาชิกวุฒิสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน กับพวก แล้วเรียกตัวนายธีระชัยไปเป็นพยาน ถ้านายธีระชัย ไม่ถูกนายใหญ่-นายหญิง ตบปากสั่งสอนเสียก่อน ข้อเท็จจริง เรื่อง ตัวเลขหนี้ต่องบประมาณ จะเป็นประเด็นที่ชี้ชะตารัฐบาลอย่างคาดไม่ถึงแน่
การซุกหนี้ แต่งบัญชี ปั้นตัวเลข อาจเป็นเรื่องปกติ ที่ทำกันทั่วไปในบริษัทเอกชน หากนายวีรพงษ์ยังสวมเสื้อคลุมนักเศรษฐศาสตร์ ทำมาหากินกับการเป็นประธานเป็นที่ปรึกษาของกลุ่ม ช. การช่าง และสุ่นฮั่วเซ้งอยู่ และนายกิตติรัตน์ยังเป็นวาณิชธนากรที่ใช้วิชาวิศวกรรมการเงิน ตัดปะ โยกย้าย ควบรวม ซุกซ่อนทรัพย์สิน และหนี้สิน เพื่อหาเลี้ยงชีพ ก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่วันนี้ ทั้งนายวีรพงษ์ และนายกิตติรัตน์ เป็นผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจของชาติ ที่กำลังเอาวิชาเล่นแร่แปรธาตุ ที่ทำให้แบงก์บีบีซีเจ๊ง และทำให้เศรษฐกิจไทยล่มสลายเมื่อปี 2540 มาใช้อีกครั้งหนึ่ง นำประเทศชาติไปเสี่ยงกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ โดยยกคาถา เพื่อป้องกันน้ำท่วมๆๆๆๆฯ มาตอบโต้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายซุกหนี้ กู้เงินของตน
ครั้งนี้ มาเจอผู้รู้จริง และรู้ทันอย่างนายธีระชัย หวังว่า ทั้งนายวีรพงษ์ และนายกิตติรัตน์ จะมีคำตอบโต้ในเชิงหลักการ และข้อเท็จจริง มิใช่แค่คำชี้แจงแบบข้างๆ คูๆ ว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับพวกตน เป็นเพราะยังไม่เข้าใจ เป็นเพราะเป็นพวกที่มีความคิดแบบโบราณเหมือนพวกแบงก์ชาติ เป็นพวกที่ชอบมองนักการเมืองในแง่ร้าย อย่างที่ผ่านๆ มา