xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ชี้ “กิตติรัตน์” พลาดมหันต์ อิงตัวเลขหนี้ต่องบประมาณผิด กระทบ พ.ร.ก.เงินกู้ 4 ฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความเรื่องอัตราส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณที่ถูกต้องคือเท่าใด เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บ่ายวันนี้ (23 ม.ค.)
ASTVผู้จัดการ – “ธีระชัย” แจงผ่านเฟซบุ๊กอีก ชี้ตัวเลขอัตราส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณที่ “กิตติรัตน์” ใช้อ้างว่า ร้อยละ 12 เพื่อออก พ.ร.ก.เงินกู้ 4 ฉบับนั้น ตัวเลขจริงๆ แค่ร้อยละ 9.33 อันจะส่งผลให้ พ.ร.ก.ดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอย่างที่รัฐบาลว่า และสุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ

หลังจากเมื่อวันเสาร์ (21 ม.ค.) ที่ผ่านมา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้เขียนบทความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala เรื่อง วินัยการคลัง กับการพยายามลดตัวเลขหนี้สาธารณะ โดยกล่าวเตือนไปถึงรัฐบาลว่า ความพยายามในการสำแดงหนี้สาธารณะให้ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยโยกหนี้ให้กองทุนวายุภักษ์นั้นตนไม่เห็นด้วย และอาจทำให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงจะล้มละลายเหมือนประเทศอาร์เจนติน่า

บ่ายวันนี้ (23 ม.ค.) นายธีระชัยได้เขียนบทความอีกชิ้นหนึ่งลงเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยใช้ชื่อว่า อัตราส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณที่ถูกต้องคือเท่าใด โดยมีเนื้อหาทักท้วง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกรณีอ้างอิงตัวเลข “อัตราส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณ” ว่าเป็นการอ้างอิงตัวเลขที่คลาดเคลื่อน อันจะส่งผลให้การออกพระราชกำหนดเงินกู้ 4 ฉบับเพื่อโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากจะทำให้การออกกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างที่รัฐบาลอ้าง

สำหรับเนื้อหาฉบับเต็มของบทความนายธีระชัยชิ้นล่าสุด มีรายละเอียดดังนี้

ผมมีปัญหาเกี่ยวกับตัวเลขอัตราส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณ ซึ่งทำให้ผมอึดอัดมาก และต้องขอระบายความในใจไว้ ณ ที่นี้

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 ซึ่งรองนายกฯ (นายกิตติรัตน์) ได้เสนอร่างพระราชกำหนด 4 ฉบับต่อ ครม. เป็นครั้งแรก และต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2555 เลขาธิการกฤษฎีกาได้เสนอร่างที่แก้ไขปรับปรุงนั้น รองนายกฯ (นายกิตติรัตน์) ได้แจ้งว่าจำเป็นต้องออกกฎหมายดังกล่าวในรูปแบบพระราชกำหนดแทนที่จะเป็นพระราชบัญญัติ เพราะมีเหตุที่เร่งด่วน

เหตุผลที่ชี้แจงข้อหนึ่งคือ หากไม่ดำเนินการโดยเร่งด่วน จะเกิดปัญหาขึ้นแก่อัตราส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณ

ภาระหนี้ต่องบประมาณนั้น คืออัตราส่วนเงินที่ชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณแต่ละปี เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของงบประมาณในปีนั้น ไม่ควรจะเกินร้อยละ 15 ของงบประมาณ ซึ่งกรอบนี้เรียกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง

รองนายกฯ (นายกิตติรัตน์) แจ้งคณะรัฐมนตรีว่าขณะนี้อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 12 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟู เพื่อมิให้ภาระดอกเบี้ยสำหรับหนี้กองทุนฟื้นฟู เป็นภาระแก่งบประมาณต่อไป มิฉะนั้นจะไม่มีช่องว่างพอเพียง ที่รัฐบาลจะกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำ

ผมได้ทราบภายหลังว่ารองนายกฯ (นายกิตติรัตน์) ได้ข้อมูลนี้ไปจากสภาพัฒน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่สภาพัฒน์ได้คำนวณโดยใช้ตัวเลขจากประมาณการเศรษฐกิจ และในการประชุมคณะรัฐมนตรีทั้งสองครั้ง เลขาธิการสภาพัฒน์ซึ่งนั่งอยู่ในห้องประชุมด้วย ก็มิได้แก้ไขข้อมูลนี้เป็นอย่างอื่น

ตัวของผมเองก็ได้ใช้ตัวเลขร้อยละ 12 ดังกล่าวในการอธิบายต่อสื่อโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์หลายแห่ง ซึ่งโทรทัศน์หลายรายการก็ปรากฏหลักฐานอยู่ใน facebook ของผมนี้

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่ผมจะพ้นตำแหน่งเพียงหนึ่งวัน เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังได้นำข้อมูลจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะมาแจ้งให้ผมทราบว่า สำหรับปีงบประมาณ 2555 นั้น อัตราส่วนดังกล่าวเป็นเพียงร้อยละ 9.33 มิใช่ร้อยละ 12 ดังที่รองนายก (นายกิตติรัตน์) แจ้งต่อคณะรัฐมนตรี

อัตราส่วนดังกล่าวเกิดจากการชำระหนี้เงินต้นร้อยละ 1.97 และจากการชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.36 รวมเป็นร้อยละ 9.33 และเป็นการคำนวณจากตัวเลขที่เป็นทางการในกฎหมายงบประมาณที่เพิ่งผ่านสภาไปเร็วๆ นี้

ผมเองต้องยอมรับว่าตกใจมากเพราะทำให้เหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนในการที่จะต้องออกกฎหมายในรูปแบบพระราชกำหนดเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

แต่เนื่องจากการทำงานของสภาพัฒน์นั้นขึ้นกับรองนายก (นายกิตติรัตน์) มิได้ขึ้นกับกระทรวงการคลัง ผมจึงยังไม่สามารถสาเหตุได้ว่าทำไมตัวเลขของสองหน่วยงานจึงได้แตกต่างกันมากเช่นนี้ และผมก็พ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน


ผมจึงขอเสนอรองนายก (นายกิตติรัตน์) ผ่าน facebook หน้านี้ เนื่องจากต่อไปนี้ท่านจะกำกับดูแลทั้งสภาพัฒน์และสำนักบริหารหนี้สาธารณะแล้ว ท่านจึงควรจะให้มีการศึกษาเปรียบเทียบตัวเลข และวิธีการเก็บข้อมูล รวมถึงวิธีคำนวณของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อให้ปรากฏตัวเลขที่ถูกต้องในการปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอหลักการและเหตุผลสำหรับพระราชกำหนดทั้ง 4 ฉบับ ในลักษณะที่เป็นเรื่องเดียวกันที่ผูกโยงไว้ด้วยกัน โดยใช้ข้อความเดียวกันทุกประการทั้ง 4 ฉบับ ดังนั้น หากมีการตีความว่าฉบับใดฉบับหนึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้พระราชกำหนดทั้ง 4 ฉบับติดขัดไปด้วยพร้อมกัน

ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องด่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลังคนใหม่นะครับ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น