xs
xsm
sm
md
lg

ปรับครม.ปูทาง”แม้ว”งาบประโยชน์”ปตท.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"กรณ์" เย้ย "ยิ่งลักษณ์" โละทีมเศรษฐกิจยกชุด สะท้อนความล้มเหลว แฉ "ธีระชัย" ถูกเขี่ยพ้นเก้าอี้เพราะขัดผลประโยชน์กองสลาก ส่วนอดีตซีอีโอ ชินวัตร นั่งว่าการพลังงาน ตามใบสั่ง "แม้ว" ห่วงบริหารประเทศเป็นบริษัทตัวเอง อัดแนวคิดแปรปตท.เป็นเอกชน หวังให้ทุนครอบงำธุรกิจผูกขาด จับตาทุจริตเชิงนโยบาย ใช้อำนาจรัฐเอื้อปตท. วอนหยุดให้ข่าวปั่นราคาหุ้น หวั่นเข้าแผน"แม้ว"ชักใยงาบธุรกิจพลังงาน

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง กล่าวถึงการปรับครม. ตำแหน่งหลักในทีมเศรษฐกิจว่า รัฐบาลยอมรับว่า 4 เดือนที่ผ่านมา ไม่ประสบความสำเร็จในการบริหาร และแก้ปัญหาบ้านเมืองในด้านเศรษฐกิจ เพราะตำแหน่งสำคัญทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงหมด

**ขัดผลประโยชน์กองสลาก

ในส่วนของรมว.คลัง นอกจากการขัดแย้งในเชิงนโยบายแล้ว ยังมีกระแสข่าวเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับกองสลากด้วย ซึ่งตนคิดว่า การแก้ปัญหาควรสานต่อแนวทางของรัฐบาลที่แล้ว คือ ตัดพ่อค้าคนกลางออก ขายสลากตรงให้กับประชาชน ก็จะตัดปัญหาเรื่องส่วนต่างราคาและโควต้า โดยตำแหน่งสำคัญในกองสลาก ก็มีการปรับเปลี่ยน มีการลาออกกลางคัน ซึ่งไม่ปกติ สอดรับกับข่าวที่ปรากฏในเรื่องของผลประโยชน์ขัดกัน

ที่ปรากฏชัดคือความขัดแย้งเรื่องแนวคิดการโอนหนี้สาธารณะไปเป็นภาระของ ธปท. ซึ่งนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ได้แสดงการปกป้องธปท.ในทางที่ถูกต้อง เพราะไม่ควรมีการนำเงินสำรองประเทศมาชำระหนี้ของรัฐบาล

**จำนำข้าวเจ๊งไม่เป็นท่า

แต่เมื่อแนวคิดขัดแย้งกับรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ จึงถูกปรับออก โดยให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง มาดูแลแทน ซึ่งเท่ากับปรับตัวเองออกจากกระทรวงพาณิชย์ สะท้อนถึงความล้มเหลวในการทำงานในฐานะ รมว.พาณิชย์ เพราะการดูแลสินค้า ค่าครองชีพเหมือนไม่ได้ให้ความสนใจ และที่เลวร้ายที่สุดคือนโยบายข้าว ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของนายกิตติรัตน์โดยตรง และอ้างมาตลอดว่า นโยบายจำนำข้าวจะไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ แต่เป็นนโยบายดึงราคาข้าวในตลาดโลกขึ้นมาในระดับเดียวกันกับราคาจำนำของรัฐบาล ซึ่งในวันนี้ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะราคาตลาด เมื่อเทียบกับราคาที่รัฐบาลตั้งโต๊ะรับซื้อจากชาวนา ต่างกันถึงตันละ 5 พันบาท เป็นการขาดทุนที่รอปรากฏผล

** นโยบายพลังงานล้มเหลว
 

อีกกระทรวงหนึ่งที่ล้มเหลวสิ้นเชิงในนโยบายคือกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีคำถามว่านายกฯ เคยหาเสียงจะกระชากค่าครองชีพด้วยการยกเลิกกองทุนน้ำมัน สุดท้ายทำไมไม่ยกเลิก และยังเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อชดเชยหนี้กว่าหมื่นล้านบาทที่รัฐบาลก่อขึ้นมา ซึ่งหากดูจากน้ำมันดีเซล ก็จะเห็นชัดเจนว่าแพงกว่ารัฐบาลที่แล้ว และหนี้ของกองทุนน้ำมัน ก็เพิ่มขึ้นมาหมื่นกว่าล้านบาท ขณะ

ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีปัญหาในเรื่องนิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งความจริงจะโยนความรับผิดชอบให้ รมว.อุตสาหกรรม เพียงลำพังไม่ได้ เพราะการบริหารผิดพลาดเกิดจากรัฐบาล

ทั้งนี้ส่วนตัวยังเห็นว่า นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล มีความเป็นมืออาชีพในการทำงาน จากที่เคยทำงานร่วมกันกว่า 2 ปี ในช่วงที่เป็นรัฐบาล

**งานนี้เพื่อนายทุน ไม่ใช่เพื่อประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การนำอดีตซีอีโอ บริษัทชินวัตร มาดูแลกระทรวงพลังงานจะทำให้การบริหารประเทศถูกแปรสภาพเหมือนการบริหารบริษัท หรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า ไม่ใช่บริษัทธรรมดาด้วย แต่เป็นบริษัทครอบครัวของตนเอง เรื่องนี้ต้องดูอย่างใกล้ชิด เพราะการคัดสรรคนกลุ่มนี้เข้ามา ต้องเข้าใจว่าเขาไม่ใช่คนของประชาชน และไม่ต้องพึ่งพาคะแนนเสียงจากประชาชน ตรงกันข้ามเขาต้องพึ่งพากำลังสนับสนุนของคนคนเดียว ที่เป็นนายจ้าง เพราะฉะนั้น ก็ต้องถามว่าเขาจะทำงานเพื่อใคร ระหว่างประชาชนกับนายจ้าง ซึ่งเขาต้องทำงานเพื่อเจ้านายที่แต่งตั้งเขามา ไม่ใช่ทำงานให้กับประชาชน ต่อข้อถามว่า การบริหารลักษณะนี้ จะทำให้กลับสู่ยุคการเมืองใช้อำนาจกำหนดกติกาให้ทุนเข้ามากินรวบประเทศไทยหรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็เคยตั้งข้อสังเกตในหลายนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ว่า มักเลือกตัดสินใจในสิ่งที่เป็นคุณต่อนายทุน แทนที่จะเอาประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพลังงาน นโยบายภาษีที่มีการลดภาษีนิติบุคคล ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นการเลือกทำเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนทั้งสิ้น เรื่องที่ควรทำเพื่อสร้างความเสมอภาคในโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น การผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รัฐบาลกลับยกเลิก เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

** จับตาใช้เงินทุ่ม ฮุบ ปตท.
 

นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะนำกองทุนวายุภักษ์ไปซื้อหุ้นปตท. 2% เพื่อให้ขาดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่าการครอบงำโดยผู้มีกำลังทุนจะเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะสามารถฮุบซื้อหุ้นมาเป็นของตัวเองได้

" ปตท.เป็นบริษัทที่มีอำนาจผูกขาดทางการตลาดด้านพลังงาน เพราะถูกออกแบบมาให้เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ยังต้องดูแลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่ถ้าปรับเปลี่ยนให้เป็นเอกชน รายไหนมาซื้อก็ได้ จะเป็นอันตรายมาก และเป็นประเด็นที่ต้องตอบคำถามกับสาธารณะชนว่า ทำไปเพื่ออะไร เหตุผลที่รัฐบาลให้คือ ต้องการลดหนี้สาธารณะ เพื่อกู้เงินเพิ่ม ผมก็ถามว่า จะกู้ไปทำอะไรอีกมากมาย เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะเทียบ จีดีพี ประมาณ 41% กรอบวินัยทางการคลัง กำหนดให้กู้ได้ 60% ของจีดีพี หมายความว่ายังมีช่องว่างอีก 20% หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท ที่กู้ได้ ทำไมต้องกู้มากกว่านี้ หรือเพียงแค่ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อเปิดช่องทางสู่การเข้ามาเป็นเจ้าของ ปตท.ด้วยตนเอง” นายกรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากปตท.กลายเป็นเอกชน จะกระทบต่อประชาชนอย่างไร อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า ทุกบ้าน ทุกครัวเรือน ต้องใช้สินค้าจากปตท.ทั้งก๊าซ และน้ำมันหรือแม้กระทั่งไฟฟ้า ผู้ผลิตก็ต้องซื้อก๊าซจากปตท. เพราะฉะนั้นหากปตท.เป็นเอกชนเต็มรูปแบบ จะมีผลต่อค่าครองชีพ และวิถีชีวิตของประชาชนทุกคนที่ต้องจ่ายแพงขึ้น และเห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับนโยบายพลังงานตั้งแต่การปรับโครงสร้างพลังงานโดยอ้างกลไกตลาดสอดรับกับสิ่งที่มีความพยายามจะทำให้ปตท. เป็นเอกชน ทุกอย่างสอดคล้องกัน เพราะการปรับโครงสร้างพลังงาน ส่งผลต่อกำไรของปตท.โดยตรง เป็นการเปิดโอกาสให้ปตท.ทำกำไรได้เต็มที่ ซึ่งในกรณีที่รัฐบาลยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็แย่พอแล้ว เพราะต้องแบ่งกำไรให้กับเอกชนเกือบครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อเอกชนกลับมาถือหุ้นใหญ่ ก็จะยิ่งเป็นปัญหาของประชาชนในฐานะผู้บริโภค ถือว่าเป็นผู้ที่ต้องรับเคราะห์ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทบทวนหลายประเด็น ถ้าให้ปตท.เป็นเอกชนเต็มตัว จะทำอย่างไรกับอำนาจผูกขาดที่มี และจะเอาคืนให้กับรัฐได้อย่างไร

" ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะทุกอย่างสัมพันธ์กัน ทั้งการผลักดันให้มีการร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปรากฏเงาคุณทักษิณ ชินวัตร ชัดเจน ในการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐกับสองรัฐบาล ที่ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นมุบมิบทำอะไรกันอยู่ ผลประโยชน์จะเป็นของใครเป็นเรื่องที่น่ากังวลและเราจับตาอยู่อย่างใกล้ชิด" อดีตรมว.คลัง กล่าว

** ระวังคนในรัฐบาลให้ข่าวปั่นหุ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องนี้สามารถเทียบเคียงกับการทุจริตเชิงนโยบาย ในการแปรสัมปทานโทรศัพท์มือถือเป็นภาษีสรรพสามิตได้หรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า การทุจริตเชิงนโยบายอาจจะยังไม่ปรากฏชัด เพราะถ้าเทียบกับเรื่องนี้ การแปรสัญญาสัมปทาน มีผลโดยตรงต่อบริษัทที่ครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ถือหุ้นอยู่ ในกรณีนี้ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ณ ปัจจุบันหรือในอนาคต เครือข่ายของผู้เป็นรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นในปตท. ก็เข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบายเช่นกัน

ทั้งนี้ ยังเตือนนายกิติรัตน์ ณ ระนอง ให้ระวังการพูดนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เช่น กรณีออกมาขานรับแนวคิดของ นายวีระพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ. ในการที่จะซื้อหุ้นของปตท. เพราะมีผลต่อราคาหุ้น ซึ่งนายกิติรัตน์ เป็นผู้เข้าใจในตลาดทุน หากยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี ก็ต้องสงวนท่าทีจนกว่าจะมีความชัดเจนและพูดครั้งเดียวให้ทุกคนได้รับข้อมูลพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นจะสร้างความสับสน และทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดทุนลดลง

ต่อข้อถามว่า ยุคการปั่นราคาหุ้น โดยนโยบายรัฐบาล กำลังกลับมาอีกครั้งหรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า ยังไม่อยากใช้คำนั้น แต่ขอย้ำว่า ต้องระวังเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น