ผู้นำฝ่ายค้าน อัด “โกร่ง” ธปท.ไม่ใช่รัฐอิสระ แฉรัฐจ้องกู้เกิน 2 ล้านล้าน กระตุก “ปู” ทบทวนขึ้นเอ็นจีวี-แอลพีจี จี้เปิดราคาต้นทุนที่แท้จริง อย่าอ้างราคาส่งออก ซัดขึ้นค่าก๊าซทำค่าครองชีพพุ่ง แต่กลับลดภาษีนิติบุคคลเอื้อคนรวย แฉคนรวยตั้งโต๊ะซื้อคูปองจ่ายแค่ 300 ซดกำไรพันเจ็ด จ้องสอบ “พิชัย” ใช้อำนาจขัด กม. ถลุงเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน
วันนี้ (9 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวคิดของรัฐบาลในการผลักภาระหนี้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า นอกจากจะสร้างปัญหาในการบริหารของ ธปท.เพิ่มขึ้นแล้ว ยังต้องเข้าใจด้วยว่า ธปท.ไม่ใช่รัฐอิสระตามที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ.ออกมาระบุ แต่ประเทศที่เป็นสากลล้วนแต่ให้อิสระธนาคารกลางทั้งสิ้น เพื่อให้ดูแลเสถียรภาพการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่รัฐบาลกลับคิดแต่จะกู้เงินเพิ่มขึ้นตัวเลขสูงกว่า 2 ล้านล้านบาทแล้ว โดยเอาเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดมาอ้างอิงอยู่กับเรื่องน้ำท่วมเพื่อใช้การกู้เงินพิเศษเป็นกระบวนการนอกงบประมาณ ขาดการตรวจสอบและจะเกิดปัญหาตามมา ซึ่งการที่ กยอ.กลายเป็นผู้มีบทาทในการกำหนดนโยบายและการของบประมาณ สุดท้าย ครม.ก็ยังต้องเป็นผู้ชี้ขาดอยู่ดี และ กยอ. รวมถึงนายวีรพงษ์คงคาดหวังให้แก้ปัญหาที่เป็นของจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องน้ำ การใช้พื้นที่ในประเทศไทย มากกว่ากำหนดวิธีล้วงเงินจากใครเท่าไหร่
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการปรับราคาก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจีของรัฐบาลว่า ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลเคยประกาศว่าการปรับราคาก็ต่อเมื่อรายได้ประชาชนสูงขึ้น แต่ขณะนี้เงินเดือน 15,000 บาท และค่าแรง 300 บาท ประชาชนยังไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ แต่กลับเพิ่มภาระประชาชนทันที การปรับราคาก๊าซดังกล่าวประชาชนจะกลายเป็นผู้แบกภาระเรื่องสินค้าราคาแพง และหากรัฐบาลแก้ปัญหาให้แท็กซี่ด้วยการขยายอัตรามิเตอร์ ภาระก็ตกอยู่กับประชาชน ซึ่งในขณะนี้ก็มีหนี้สินเพิ่มอยู่แล้ว ขณะเดียวกันทิศทางในการส่งเสริมพลังงาน รมว.พลังงาน ก็เกิดความสับสนว่าจะสนับสนุนพลังงานทางเลือกอย่างไร
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า พรรคจะไปตรวจสอบตัวเลขว่าจากนโยบายของรัฐบาลเช่นนี้จะทำให้ประชาชนต้องควักกระเป๋าเพิ่มในการจ่ายค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากน้อยเพียงใด และอยากเตือนรัฐบาลว่า ไม่ควรมองเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก เพราะมาตรการที่มารองรับยังไม่เป็นธรรมหรือสร้างความมั่นใจได้ เช่น บัตรเครดิตพลังงาน ส่วนที่อ้างว่าต้องเร่งแก้เพื่อฐานะกองทุนน้ำมันก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าอุ้มเบนซินทำไมเพราะเป็นส่วนทำให้หนี้สินกองทุนเพิ่มขึ้น ตนคิดว่าหากรัฐบาลยกเลิกนโยบายนำเงินกองทุนน้ำมันไปสนับสนุนเบนซิน โดยคงการดูแลเอ็นจีวีและแอลพีจีเอาไว้ น่าจะอยู่ในวิสัยที่บริหารได้ เพราะยังมีประเด็นเรื่องภาษีด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ รมว.พลังงานเคยกล่าวหารัฐบาลชุดที่แล้วว่าไม่ควรทำ แต่กลับมาต่ออายุครั้งละเดือน ยิ่งเกิดความไม่แน่นอน แสดงถึงนโยบายที่สับสนไร้ทิศทาง เพิ่มภาระให้กับประชาชน
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทางพรรคเคยเตือนว่านโยบายรัฐบาลมีปัญหา ซึ่งคนในรัฐบาลก็ยอมรับว่าภาวนาให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ซึ่งไม่ใช่แนวทางการบริหารที่ดีต้องทบทวนใหม่ทั้งหมด และตั้งหลักใหม่ เช่นกรณีการลดค่าไฟจาก 90 หน่วย เหลือ 50 หน่วย ที่คนจน 5 ล้านครัวเรือนต้องเดือดร้อน ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้นแต่กลับไปลดภาษีนิติบุคคลให้กับบริษัทจาก 30% เป็น 23% ทันที ขณะที่เลื่อนนโยบายช่วยประชาชนตลอดเวลา รัฐบาลคิดว่าแก้ปัญหาแต่ความจริงกำลังสร้างปัญหาให้เหมือนกับการคิดเก็บค่าธรรมเนียมสถาบันการเงิน แต่คนที่รับภาระคือประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือแก้ปัญหาเรื่องราคาก๊าซเอ็นจีวี หลังจากมีการปิดถนนประท้วง ถือว่าแก้ปัญหาช้าไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คนที่ได้รับผลกระทบออกมาเคลื่อนไหวเป็นเดือน ตอกย้ำว่ารัฐบาลกำลังสร้างค่านิยม ถ้าปิดถนนรัฐบาลจะรับฟัง แต่ในเวลาที่มีการท้วงติงกลับไม่มีการเข้าไปแก้ปัญหา แต่ปิดถนนเมื่อไหร่เข้าไปดูแล ซึ่งจะทำให้เกิดการปิดประท้วงรายวัน โดยเห็นได้จากเรื่องคูปอง เงินค่าชดเชย 5,000บาท เอ็นจีวี มีการปิดถนน สุดท้ายประชาชนโดยรวมเดือดร้อน ทำให้คนที่มีปัญหาแต่ไม่เคยคิดสร้างปัญหาก็ต้องใช้วิธีการเดียวกัน เพราะรัฐบาลฟังแต่คนที่ปิดถนน
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำในขณะนี้ คือ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องปรับราคาแอลพีจี และเอ็นจีวี แนวคิดนี้เกิดจากอะไร และรัฐบาลได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ในเรื่องของต้นทุนที่แท้จริงทั้งหมดหรือยัง เพราะทุกยุคทุกสมัยมีความพยายามอ้างว่าต้นทุนสูงขึ้น แต่เมื่อสั่งให้ตรวจสอบกลับไม่สะท้อนข้อเท็จจริงเพราะมีข้อโต้แย้งจำนวนมาก รัฐบาลต้องเอาราคาที่มีการศึกษาต้นทุนที่แท้จริงมาเปิดเผย อย่าอ้างอิงกับราคาส่งออกอย่างเดียวเพราะไม่ใช่ราคาต้นทุน
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตนแปลกใจที่ทำไมรัฐบาลพร้อมที่จะนำเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปสนับสนุนโครงการคูปอง 2 พันบาท เพื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งไม่แน่ใจว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่น่าจะตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุนที่สนับสนุนโครงการที่ช่วยลดการใช้พลังงานเป็นหลัก แต่ รมว.พลังงานกลับใช้เป็นข้ออ้างว่าซื้อเครื่องไฟฟ้าประหยัดไฟเบอร์ 5 แล้วนำเงินกองทุนไปใช้ไม่น่าตรงวัตถุประสงค์ เพราะการเชิญชวนคนขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 มาเข้าโครงการและสนับสนุนให้คนไปซื้อจะเป็นการอนุรักษ์พลังงานหรือไม่ ทางพรรคกำลังตรวจสอบว่าอำนาจหน้าที่การใช้เงินกองทุนเป็นของใคร รมว.พลังงานอนุมัติไปได้อย่างไร
นอกจากนี้ จำนวนคูปองจะน้อยกว่าผู้ที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมแล้ว ยังเกิดปัญหามีการซื้อขายคูปอง มีการนำคูปองไปแลกเงินสด โดยคนมีฐานะรับแลกคูปอง 2,000 บาท จ่ายให้คนจน 300 บาท คนรับแลกได้กำไร 1,700 บาท