ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลปกครองกลาง ปล่อยขึ้นราคาแอลพีจี-เอ็นจีวี อ้างคำร้องขอให้ระงับไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะชี้มติขึ้นราคาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายรัฐอ้างด้านๆ ทำถูกต้องตามกม. สอดคล้องตามนโยบายที่แถลงต่อสภา ระบุเงินชดเชยบัตรเครดิตพลังานปตท. ควักกระเป๋าจ่ายเอง "พิชัย"วอนประชาชนอดทน ยอมจ่ายค่าน้ำมัน-ก๊าซแพง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ “รสนา” ฉะรัฐเสียมารยาท ขึ้นค่าก๊าซไม่รอศาลปกครองชี้ขาด ชี้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนวงกว้าง สะท้อนความไม่จริงใจของรัฐบาล “มาร์ค”อัดรัฐวางนโยบายพลังงานพลาด อุ้มปตท. ปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อน
วานนี้ ( 16 ม.ค.) นายเทอดพงศ์ คงจันทร์ ตุลาการศาลปกครองกลางในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบังลังก์ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณาคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และพวกรวม 4 คนร้องขอให้สั่งระงับการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี ของรัฐบาลในวันที่ 16 ม.ค.55 ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 76/2555 ที่มูลนิธิฯ ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 5 คน ขอให้เพิกถอนมติครม. ที่อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาก๊าซทั้งสองประเภท
ทั้งนี้ในการไต่สวน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี ได้ให้ถ้อยคำสรุปว่า การขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี ที่มีการปรับขึ้นราคาสูงกว่าต้นทุนตลาดโลกกว่า 2 เท่าตัว จากข้อมูลพบว่าราคาก๊าซเอ็นจีวีของสหรัฐอเมริกา มีราคาเพียง 4.29 บาท ต่อก.ก. และราคาก๊าซเอ็นจีวี ของตลาดโลกปี 2554 มีราคาเพียง 7.57 บาทเท่านั้น ส่วนราคาเนื้อก๊าซเอ็นจีวีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่กำหนดอยู่ที่ 8.39 บาทต่อก.ก.นั้น เป็นราคาที่รวมกำไรแล้วไม่ใช่ราคาต้นทุนที่แท้จริง ขณะที่ค่าบริหารจัดการและขนส่งในราคา 5.56 บาท เป็นการดำเนินการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และเมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าการตลาดเป็นราคา 14.50 บาท จึงถือว่ามีราคาที่สูงกว่าราคาขายปลีกเฉลี่ยของตลาดโลกปี 2554 เกือบสองเท่า
ส่วนการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีนั้น จากสถิติปี 2551-2553 พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีการใช้ก๊าซแอลพีจี สูงขึ้น ถึงร้อยละ 68 ขณะที่ภาคยานยนต์มีการใช้ลดลง สาเหตุที่ทำให้แอลพีจีขาดแคลนจึงไม่ใช่เพราะภาคยานยนต์ ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้าง หากแต่มาจากการใช้แอลพีจี ของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แทนที่รัฐบาลจะมีการจัดเก็บเงินค่าแอลพีจี กับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น ก็กลับกำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตรา 1 บาท ต่อก.ก.เท่านั้น
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นที่ใช้แอลพีจีต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันใน อัตรา 8-11 บาท ต่อก.ก ประกอบกับการนำเงินกองทุนน้ำมันไปสนับสนุนให้รถยนต์ขนาดเล็กปรับเปลี่ยนการใช้แอลพีจี เป็นเอ็นจีวี ก็เป็นการเบี่ยงเบนและเอื้อประโยชน์ในการใช้แอลพีจี ให้กับกลุ่มอุตาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ของปตท.มีบริษัทในเครือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ และมีการผูกขาดการผลิตและการจำหน่ายเพียงองค์กรเดียว การปรับขึ้นแอลพีจีจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมมี ในเครือบริษัทปตท. อย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติยานยนต์ บริษัท ปตท.จำกัด และนายสุเทพ เหลี่ยมศริเจริญ ผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ให้ถ้อยคำสรุปว่า มติการปรับขึ้นราคาก๊าซทั้งสองประเภทเป็นการดำเนินการโดยชอบตามพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในภาคการขนส่งรัฐบาลได้อุดหนุนก๊าซทั้งสองประเภทมาโดยตลอด โดยเรียกเก็บเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ใช้น้ำมันจึงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม อีกทั้งการสนับสนุนดังกล่าวทำให้ราคาต้นทุนของก๊าซทั้งสองประเภทบิดเบือนจากต้นทุนที่แท้จริงก่อให้ภาระแก่กองทุนน้ำมันในการชดเชยเป็นจำนวนสูง หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจะก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับข้อมูลราคาเนื้อก๊าซนั้น สำนักนโยบายและแผนพลังงานได้จ้างสถาบันที่ปรึกษา เพื่อวิจัยต้นทุนราคาก๊าซที่แท้จริง ไม่ได้เป็นการฟังข้อมูลของปตท. หรือนำความเห็นของข้าราชการระดับสูงรายใดมาพิจารณาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อปตท. ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมเคมี ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมันตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาเพราะราคาแอลพีจีของภาคขนส่ง ภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมทั่วไปจะมีราคาต้นทุนในอัตราเดียวกัน คือ 10 บาทต่อ ก.ก.ราคาขายปลีก 18.13 บทต่อก.ก.
ขณะที่ราคาต้นทุนแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะอยู่ที่ 14-15 บาทต่อก.ก. ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซ้ำยังต้องนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันอีก ซึ่งต่างจากภาคขนส่ง ครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมทั่วไปที่รัฐชดเชย
อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาต้นทุนก๊าซที่กล่าวหาว่าขอบไทยแพ้กว่าทั่วโลกนั้นทั่วโลกจะอยู่ที่ 19 บาทต่อก.ก. สหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ 14 บาทต่อก.ก. โดยประมาณเนื่องจากแหล่งที่มาต่างกัน จึงทำให้มีต้นทุนที่แตกต่างกันโดยปตท. จะซื้อก๊าซจากอ่าวไทยหรือพม่า ซึ่งจะต้องมีการขออนุมัติต้นทุนเนื้อก๊าซจากคระกรรมการนโยบายพลังงานห่างชาติ และจะนำไปใช้มากในภาคไฟฟ้า ส่วนภาคการขนส่งจะใช้น้อย
สำหรับในส่วนของบัตรเครดิตพลังงานนั้น เพื่อเป็นการช่วยผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะบางราย เช่น รถแท็กซี่ รถร่วม ขสมก. และรถขนส่ง เป็นต้น ให้มีการลดต้นทุนในการจ่ายค่าก๊าซ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนที่ใช้บริการ ซึ่งเงินชดเชยส่วนต่างบัตรเครดิตพลังงานเป็นเงินที่ปตท. เป็นผู้จ่ายชดเชยไม่มีการเรียกคืนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือหน่วยงานใดของรัฐ
*** ศาลปกครองกลางไม่คุ้มครองชั่วคราว ***
ต่อมาเวลา 21.20 น. องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลางโดยนายเทอดพงศ์ คงจันทร์ ตุลาการศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวนได้มีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้ศาลสั่งระงับการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี และเอ็นจีวี ไว้จนกกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ทั้งนี้เหตุผลที่ศาลไม่สั่งคุ้มครองชั่วคราวระบุว่า ข้ออ้างของมูลนิธิคุ้มครองเพื่อผู้บริโภคและพวกในชั้นการพิจารณาคำขอวิธีการคุ้มครองชั่วคราวยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า มติครม.และมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลฯจะต้องพิจารณาในเนื้อหาต่อไป หากศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติกพช. และมติครม.ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ จะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของนายกฯ ครม. รมว.พลังงาน และกพช. ในการกำกับและกำหนดราคาพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหาร และพัฒนาพลังงานของประเทศ อันเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะได้ ศาลฯจึงเห็นว่าคำขอทุเลาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องขอนั้นยังไม่ครบองค์ประกอบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 จึงมีคำสั่งยกคำขอที่ขอให้ศาลกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพาษาของผู้ฟ้องคดี
***"พิชัย" วอนคนไทยอดทน
ขณะที่ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.) ที่ประชุมได้พิจารณาวาระกระทู้ถามสดด่วน ที่นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการ (กมธ.) พลังงาน วุฒิสภา สอบถามถึงมาตรการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของรัฐบาลต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ ได้มอบหมายให้นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน เป็นผู้ตอบกระทู้แทน
นายสุรเดช กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบให้ปรับราคาพลังงานทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.55 ประกอบด้วย
1.ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ปัจจุบันราครา 8.50 บาทต่อกิโลกรัมปรับขึ้นเดือนละ 0.5 บาทต่อกิโลกรัม 12 ครั้ง หรือราคารวม 6 บาท ดังนั้นราคา ณ ปลายปี 55 อยู่ที่ 14.50 บาท
2. ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคขนส่ง ปัจจุบันราคา 18.13 บาท ต่อกิโลกรัม ปรับขึ้นเดือนละ 0.75 บาท ต่อกิโลกรัม 12 ครั้ง หรือราคาปรับขึ้นรวม 9 บาท ดังนั้น ราคา ณ ปลายปี 55 อยู่ที่กิโลกรัมละ 27.13 บาท
3. ก๊าซแอลพีจี ภาคครัวเรือน ปัจจุบันราคา 18.13 บาทต่อกิโลกรัมในยืนราคาตามเดิมไปจนถึงปลายปี 55
"จากนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานดังกล่าว ได้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นอันมาก รวมทั้งกับผู้ประกอบการกิจการสาธารณะ ซึ่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น จึงต้องการสอบถามว่า รัฐบาลได้ศึกษาต้นทุนราคาพลังงานที่แท้จริงโดยละเอียดและรอบคอบ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และรัฐบาลมีมาตรการรองรับช่วยเหลือเยียวยาประชาชนอย่างไร" นายสุรเดช กล่าว
จากนั้นนายพิชัย ได้ตอบว่า การจะให้รัฐบาลเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงานตลอดไปนั้น ไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน แต่จะทำโครงสร้างพลังงานของประเทศให้ถูกต้องเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้
สำหรับเอ็นจีวี แม้ว่าเราจะสามารถผลิตเองได้ก็จริง และรัฐบาลต้องการเสริมให้เป็นพลังงานหลักของประเทศ แต่พบว่าประเทศไทย มีการนำเข้าพลังงานปีละ 1.2 ล้านล้านบาท และการกำหนดให้ราคาเอ็นจีวี อยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ไม่สามารถทำได้แล้วเพราะเป็นราคาที่ใช้มากว่า 10 ปีแล้ว
“ราคาพลังงานในโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นสูงมากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อย่างราคาน้ำมันเมื่อ 10 ปีแล้ว ที่เริ่มรณรงค์ใช้เอ็นจีวี อยู่ที่ 20-30 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล แต่มาตอนนี้ราคาน้ำมัน 110 เหรียญ เพิ่มขึ้น 5 เท่า แต่เอ็นจีวี ยัง 8.50 บาทอยู่ ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ประกอบกับในราคา 8.50 บาท มีถึง 2 บาท ที่กองทุนน้ำมันจ่ายชดเชยให้อยู่ ซึ่งเงินที่เอามาอุดหนุนเอ็นจีวี ก็มาจากเงินของผู้ใช้ดีเซล และเบนซิน” นายพิชัย กล่าว
นอกจากนี้ ปตท. ยังขาดทุนอยู่ 4-5 บาทโดยปีที่ผ่านมาปตท.ขาดทุนรวม 2 หมื่นล้านบาท รวมตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ขาดทุนสะสมถึง 4 หมื่นล้านบาท ถ้าเราขยายให้ใช้ เอ็นจีวี เพิ่มขึ้นในราคาดังกล่าว จะขาดทุนเพิ่มขึ้นประเทศจะเดินหน้าไม่ได้ เราอยากให้เอ็นจีวีเป็นพลังงานหลัก แต่จะให้เอ็นจีวีขายขาดทุนตลอดคงทำไม่ได้ เพราะต่อไปคงจะขยายการให้บริการไม่ได้ ในความเป็นจริงแล้ว ถึงมีการปรับราคา แต่เอ็นจีวี ก็ยังมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลครึ่งต่อครึ่ง
" ในระยะสั้น ยืนยันว่ารัฐบาลช่วยเหลือประชาชนจากการชะลอเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ได้ในภาวะลำบาก แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เราต้องกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน ในความเป็นจริงการอุดหนุนราคามันอยู่ไม่ได้ ประเทศไหนก็ไม่เวิร์ก ลองดูว่าการช่วยเหลือทำได้แค่ชั่วคราว ระยะยาวไม่สามารถดำเนินการได้" นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับราคาแอลพีจี เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านจะเห็นว่าไทยยังมีราคาต่อลิตรที่ถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก อาทิ เวียดนาม 46 บาท กัมพูชา 44 บาท ลาว 44 บาท พม่า 36 บาท ส่วนของไทย 18 บาท ถามว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะต่อไปจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกไม่กี่ปีหน้า ถ้าเราไม่ปรับราคาให้มีระยะห่างน้อยลงเราจะเป็นปัญหาอย่างเช่นการลักลอบขายพลังงานผิดกฎหมายแน่นอน
“ยืนยันว่าส่วนตัวไม่สนับสนุนให้รถยนต์บ้าน ใช้แอลพีจี เป็นพลังงาน เพราะเวลาก๊าซรั่วจะอันตรายมาก และเป็นปัญหากับประชาชน แต่ในภาคครัวเรือนยังคงช่วยเหลือไปก่อน แต่ในอนาคตจะต้องขึ้นราคาแน่นอน เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งรัฐบาลคงแบกรับไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบขายก๊าซตามแแนวชายแดนกันตลอด ยืนยันได้มีการขนกันเป็นร้อยๆถัง” รมว.พลังงานกล่าว
นายพิชัย กล่าวยอมรับว่า ในอนาคตจะต้องมีการปรับขึ้นราคาแท๊กซี่ เพราะมิเตอร์แท๊กซี่ ไม่ได้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 51 แล้ว โดยจะพิจารณาหลังจากเมื่อมีการปรับราคาพลังงานและดัชนีเงินเฟ้อ และอยากให้ลองดูว่า การขึ้นแท๊กซี่ กับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ราคาไม่ต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
" การดำเนินการต่างๆ ไม่มีใครอยากขัดใจประชาชน เรามาเป็นรัฐบาลเราต้องการให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข อย่างกองทุนน้ำมัน เมื่อชะลอการเก็บเงินก็ช่วยประชาชนเต็มที่ แต่เมื่อเราทำแล้ว ก็กลับมาดูที่ระยะยาวถ้าเรามองเห็นแก่ประโยชน์สั้นๆ รักษาให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งไปวันๆ สุดท้ายประเทศเดินไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ อาจต้องกลืนเลือดกันบ้างอาจต้องลำบากกันบ้าง แต่ถ้าประเทศเดินได้ ผมว่าคุ้ม บางครั้งการทำบางเรื่องอาจไม่ถูกใจ แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องระยะยาว มันก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ" นายพิชัย กล่าว
จากนั้น นายสุรเดช ได้ถามประเด็นการแจกคูปองซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าให้กับประชาชน ที่ขณะนี้พบว่ามีการร้องเรียนเกี่ยวกับประเด็นทุจริต ซึ่งนายพิชัย กล่าวยืนยันว่า ประเด็นดังกล่าวไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอน ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของการแจกคูปองดังกล่าว เพราะต้องการช่วยเหลือประชาชนภาคครัวเรือน ให้ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน หลังจากที่ได้ช่วยเหลือในภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กมาแล้ว
" ผมคิดว่าหลังน้ำลดแล้ว ความต้องการของประชาชนจะมีสูง ดังนั้นจึงเร่งทำไปหน่อย ทำให้การให้ความรู้กับประชาชนมีน้อย แต่ผมยืนยันว่า ทำอย่างถูกต้องแน่นอน ส่วนที่บอกว่า พบว่ามีคนนำคูปองไปแลกเป็นเงินสดนั้น หากพบก็จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน ทั้งนี้ขอยืนยันในขั้นตอนการเบิกเงิน ว่าต้องมีหลักฐาน เป็นใบเสร็จที่ชัดเจน และพิจารณาจากยอดส่งของจากผู้ผลิตด้วย ผมยืนยันไม่มีการเบิกเงินซี้ซั้วได้แน่นอน" นายพิชัย กล่าว
** จวกรัฐบาลเสียมารยาท ไม่รอศาลปค.
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ได้กล่าวถึงมาตรการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี และแอลพิจี ของรัฐบาล ที่เริ่มต้นเมื่อวานนี้ ว่า รัฐบาลได้ทำผิดมารยาททางการเมือง กรณีไม่ชะลอการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี หลังจากที่มีประชาชน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิจารณาเรื่องนี้ และศาลเตรียมพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินเรื่องดังกล่าวในวันที่ 16 ม.ค.
อย่างไรก็ตาม ตนมองว่ากรณีที่รัฐบาลประกาศขึ้นราราคาก๊าซ และน้ำมัน ทั้งระบบ ได้สร้างผลกระทบประชาชนจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจ ตามที่เคยได้ประกาศหาเสียงไว้ เช่น บอกว่าจะยกเลิกกองทุนน้ำมัน กระชากค่าครองชีพประชาชน ด้วยนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน และเงินเดือน 15,000 บาท แต่วันนี้นโยบายเพิ่มค่าแรงและเงินเดือนยังไม่เกิด
น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาล ได้เร่งทำนโยบายที่เป็นประโยชน์กับตนเอง เช่น แก้รัฐธรรมนูญ และมุ่งทำนโยบายที่บริษัทขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์ เช่น ลดภาษีนิติบุคคลจาก 30 เปอร์เซ็นต์ เหลือ23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
**อุ้มปตท.โยนภาระให้ประชาชน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซต่างๆ ว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเห็นความเดือดร้อนและการซ้ำเติมประชาชน จากนโยบายพลังงานที่ผิดพลาด โดยตั้งแต่ตอนต้นที่พยายามจุดประเด็นเรื่องเอาการลดน้ำมันเบนซิน มาหาเสียง แล้วทำให้กองทุนน้ำมันมีหนี้เพิ่มขึ้น มาถึงตอนนี้ก็กลับหัวกลับหางหมด เหมือนกับว่า จะเป็นการให้ภาระทั้งหมดที่เกี่ยวกับพลังงานมากองอยู่กับประชาชน โดยคำนึงถึงฐานะของปตท. หรือกองทุนน้ำมันเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว สามารถบริหารจัดการได้
*** ตลาดโลกพุ่งน้ำมันจ่อขยับอีก
นายสรัญ รังคสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลของผู้ค้าน้ำมันอยู่ที่ 80 สต.ต่อลิตร น้ำมันเบนซิน 90 สต.ต่อลิตร ซึ่งค่าการตลาดที่คุ้มกับต้นทุนของผู้ค้าควรอยู่ที่1.50 บาทต่อลิตร จึงเป็นห่วงว่าหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังดีดตัวขึ้นต่อเนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางจะกระทบมายังราคาขายปลีกในประเทศให้สูงตาม
“วันที่ 31 ม.ค. ที่เป็นวันสิ้นสุดมาตรการ ยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5.31 บาท โดยรัฐบาลคงจะทยอยจัดเก็บหรือ อาจจะเลื่อนระยะเวลาการยกเลิกจัดเก็บภาษีฯออกไปอีก2-3 เดือนก็เป็นไปได้ เพราะราคาน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนของการขนส่ง”นายสรัญกล่าว