xs
xsm
sm
md
lg

“พิชัย” แจงขึ้นค่าก๊าซทำโครงสร้างให้ชาติเดินได้ ลั่นขึ้นแก๊สหุงต้มด้วยแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน ชี้แจงต่อสมาชิกวุฒิสภากรณีที่ ปตท.ต้องขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี และก๊าซแอลพีจี ว่า รัฐบาลต้องการปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และที่ผ่านมา ปตท.ต้องแบกรับภาระต้องนี้ทำให้ขาดทุนปีละหมื่นล้านบาท ที่ห้องประชุมรัฐสภา
ส.ว.กทม.ซัดรัฐเมินชะลอขึ้นก๊าซผิดมารยาททางการเมือง สับมุ่งนโยบายเพื่อทุนใหญ่ ด้าน ปธ.กมธ.พลังงาน ตั้งกระทู้ถามปรับราคาศึกษาต้นทุนหรือยัง “พิชัย” แจงทำโครงสร้างให้ถูกต้องให้ชาติเดินได้ อ้างตลาดโลกแพงใช้ราคาเก่าทำ ปตท.ขาดทุน หวั่นเกิดช่องว่างอาเซียนเหตุไทยขายถูกสุด ปูดมีลักลอบขนชายแดน เล็งขึ้นหุงต้ม-ค่าแท็กซี่ด้วย ยันแจกคูปองพลังงานไม่มีประโยชน์ทับซ้อน

วันนี้ (16 ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภาที่มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธานก่อนเข้าสู่วาระการประชุมวุฒิสภา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ได้กล่าวถึงมาตรการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพิจีของรัฐบาล ที่เริ่มต้นในวันนี้ว่า รัฐบาลได้ทำผิดมารยาททางการเมือง กรณีไม่ชะลอการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี หลังจากที่มีประชาชนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิจารณาเรื่องนี้ และศาลเตรียมพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินเรื่องดังกล่าวในวันนี้ อย่างไรก็ตามตนมองว่ากรณีที่รัฐบาลประกาศขึ้นราราคาก๊าซและน้ำมันทั้งระบบได้สร้างผลกระทบประชาชนจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจตามที่เคยได้ประกาศหาเสียงไว้ เช่น บอกว่าจะยกเลิกกองทุนน้ำมัน กระชากค่าครองชีพประชาชน ด้วยนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน และเงินเดือน 15,000 บาท แต่วันนี้นโยบายเพิ่มค่าแรงและเงินเดือนยังไม่เกิด

น.ส.รสนากล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งทำนโยบายที่เป็นประโยชน์กับตนเอง เช่น แก้รัฐธรรมนูญ และมุ่งทำนโยบายที่บริษัทขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์ เช่น ลดภาษีนิติบุคคลจาก 30เปอร์เซ็นต์ เป็น 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ขณะที่การประชุมวุฒิสภา ประธานวุฒิสภา ได้พิจารณาวาระกระทู้ถามสดด่วน ที่นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการ (กมธ.) พลังงาน วุฒิสภา สอบถามถึงมาตรการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของรัฐบาลต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ ได้มอบหมายให้นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ตอบกระทู้แทน

โดย นายสุรเดชกล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบให้ปรับราคราพลังงานทั้งระบบเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2555 ประกอบด้วย 1. ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ปัจจุบันราครา 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ปรับขึ้นเดือนละ 0.5 บาทต่อกิโลกรัม 12 ครั้ง หรือราคารวม 6 บาท ดังนั้น ราคา ณ ปลายปี พ.ศ. 2555 อยู่ที่ 14.50 บาท 2. ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ภาคขนส่ง ปัจจุบันราคา 18.13 บาทต่อกิโลกรัมปรับขึ้นเดือนละ 0.75 บาท ต่อกิโลกรัม 12 ครั้ง หรือราคาปรับขึ้นรวม 9 บาท ดังนั้น ราคา ณ ปลายปี พ.ศ. 2555 อยู่ที่กิโลกรัมละ 27.13 บาท 3.ก๊าซแอลพีจี ภาคครัวเรือน ปัจจุบันราคา 18.13 บาทต่อกิโลกรัมในยืนราคาตามเดิมไปจนถึงปลายปี พ.ศ. 2555

“จากนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานดังกล่าวได้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นอันมาก รวมทั้งกับผู้ประกอบการกิจการสาธารณะ ซึ่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น จึงต้องการสอบถามว่ารัฐบาลได้ศึกษาต้นทุนราคาพลังงานที่แท้จริงโดยละเอียดและรอบคอบว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และรัฐบาลมีมาตรการรองรับช่วยเหลือเยียวยาประชาชนอย่างไรด้วย” นายสุรเดชกล่าว

จากนั้นนายพิชัยได้กล่าวตอบว่า การจะให้รัฐบาลเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงานตลอดไปนั้นไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน แต่จะทำโครงสร้างพลังงานของประเทศให้ถูกต้องเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ สำหรับเอ็นจีวีแม้ว่าเราจะสามารถผลิตเองได้ก็จริงและรัฐบาลต้องการเสริมให้เป็นพลังงานหลักของประเทศ แต่พบว่าประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงานปีละ 1.2 ล้านล้านบาท และการกำหนดให้ราคาเอ็นจีวีอยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัมไม่สามารถทำได้แล้วเพราะเป็นราคาที่ใช้มากว่า 10 ปีแล้ว

“ราคาพลังงานในโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นสูงมากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อย่างราคาน้ำมันเมื่อ 10 ปีแล้วที่เริ่มรณรงค์ใช้เอ็นจีวีอยู่ที่ 20-30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่มาตอนนี้ราคาน้ำมัน 110 เหรียญ เพิ่มขึ้น 5 เท่า แต่เอ็นจีวียัง 8.50 บาทอยู่ ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ประกอบกับในราคา 8.50 บาทมีถึง 2 บาทที่กองทุนน้ำมันจ่ายชดเชยให้อยู่ ซึ่งเงินที่เอามาอุดหนุนเอ็นจีวีก็มาจากเงินของผู้ใช้ดีเซล และเบนซิน” นายพิชัยกล่าว

นายพิชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ปตท.ยังขาดทุนอยู่ 4-5 บาทโดยปีที่ผ่านมา ปตท.ขาดทุนรวม 2 หมื่นล้านบาท รวมตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาขาดทุนสะสมถึง 4 หมื่นล้านบาท ถ้าเราขยายให้ใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้นในราคาดังกล่าวจะขาดทุนเพิ่มขึ้นประเทศจะเดินหน้าไม่ได้ เราอยากให้เอ็นจีวีเป็นพลังงานหลักแต่จะให้เอ็นจีวีขายขาดทุนตลอดคงทำไม่ได้ เพราะต่อไปคงจะขยายการให้บริการไม่ได้ ในความเป็นจริงแล้วถึงมีการปรับราคา แต่เอ็นจีวีก็ยังมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลครึ่งต่อครึ่ง

“ในระยะสั้นยืนยันว่ารัฐบาลช่วยเหลือประชาชนจากการชะลอเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ได้ในภาวะลำบาก แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งเราต้องกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน ในความเป็นจริงการอุดหนุนราคามันอยู่ไม่ได้ ประเทศไหนก็ไม่เวิร์ก ลองดูว่าการช่วยเหลือทำได้แค่ชั่วคราว ระยะยาวไม่สามารถดำเนินการได้” นายพิชัยกล่าว

นายพิชัยกล่าวอีกว่า สำหรับราคาแอลพีจีเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านจะเห็นว่าไทยยังมีราคาต่อลิตรที่ถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก เช่น เวียดนาม 46 บาท กัมพูชา 44 บาท ลาว 44 บาท พม่า 36 บาท ส่วนของไทย 18 บาท ถามว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะต่อไปจะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกไม่กี่ปีหน้า ถ้าเราไม่ปรับราคาให้มีระยะห่างน้อยลงเราจะเป็นปัญหาอย่างเช่นการลักลอบขายพลังงานผิดกฎหมายแน่นอน

“ยืนยันว่าส่วนตัวไม่สนับสนุนให้รถยนต์บ้านใช้แอลพีจีเป็นพลังงาน เพราะเวลาก๊าซรั่วจะอันตรายมากและเป็นปัญหากับประชาชน แต่ในภาคครัวเรือนยังคงช่วยเหลือไปก่อนแต่ในอนาคตจะต้องขึ้นราคาแน่นอน เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งรัฐบาลคงแบกรับไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบขายก๊าซตามแแนวชายแดนกันตลอด ยืนยันได้มีการขนกันเป็นร้อยๆ ถัง” รมว.พลังงานกล่าว

นายพิชัยกล่าวยอมรับว่า ในอนาคตจะต้องมีการปรับขึ้นราคาแท๊กซี่เพราะมิเตอร์แท็กซี่ไม่ได้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 แล้วโดยจะพิจารณาหลังจากเมื่อมีการปรับราคาพลังงานและดัชนีเงินเฟ้อ และอยากให้ลองดูว่าการขึ้นแท๊กซี่กับมอเตอร์ไซด์รับจ้างราคาไม่ต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

“การดำเนินการต่างๆ ไม่มีใครอยากขัดใจประชาชน เรามาเป็นรัฐบาลเราต้องการให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข อย่างกองทุนน้ำมันเมื่อชะลอการเก็บเงินก็ช่วยประชาชนเต็มที่ แต่เมื่อเราทำแล้วก็กลับมาดูที่ระยะยาวถ้าเรามองเห็นแก่ประโยชน์สั้นๆ รักษาให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งไปวันๆ สุดท้ายประเทศเดินไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ อาจต้องกลืนเลือดกันบ้างอาจต้องลำบากกันบ้าง แต่ถ้าประเทศเดินได้ผมว่าคุ้ม บางครั้งการทำบางเรื่องอาจไม่ถูกใจ แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องระยะยาวมันก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ” นายพิชัยกล่าว

จากนั้นนายสุรเดชได้ถามประเด็นการแจกคูปองซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าให้แก่ประชาชนที่ขณะนี้พบว่ามีการร้องเรียนเกี่ยวกับประเด็นทุจริต ซึ่งนายพิชัยกล่าวยืนยันว่า ประเด็นดังกล่าวไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังอย่างแน่นอน ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของการแจกคูปองดังกล่าว เพราะต้องการช่วยเหลือประชาชนภาคครัวเรือนให้ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน หลังจากที่ได้ช่วยเหลือในภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กมาแล้ว

“ผมคิดว่าหลังน้ำลดแล้วความต้องการของประชาชนจะมีสูง ดังนั้นจึงเร่งทำไปหน่อย ทำให้การให้ความรู้กับประชาชนมีน้อย แต่ผมยืนยันว่าทำอย่างถูกต้องแน่นอน ส่วนที่บอกว่าพบว่ามีคนนำคูปองไปแลกเป็นเงินสดนั้น หากพบก็จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน ทั้งนี้ขอยืนยันในขั้นตอนการเบิกเงินว่าต้องมีหลักฐาน เป็นใบเสร็จที่ชัดเจน และพิจารณาจากยอดส่งของจากผู้ผลิตด้วย ผมยืนยันไม่มีการเบิกเงินซี้ซั้วได้แน่นอน” นายพิชัยกล่าว


พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา

กำลังโหลดความคิดเห็น