xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำให้การมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค-ปตท. สู้คดีขึ้นราคาก๊าซLPG-NGV

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เปิดคำให้การมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค-ปตท.สู้คดีระงับการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี-เอ็นจีวี ฝ่ายผู้ฟ้องยกราคาก๊าซต้นทุนต่ำแต่ขายแพงกว่าตลาดโลกเกือบสองเท่า ฝ่ายปตท.โยนสนพ.จ้างที่ปรึกษาวิจัยต้นทุนราคาก๊าซ โดย กพช. เป็นผู้อนุมัติราคาเนื้อก๊าซฯ

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ศาลปกครอง มีการไต่สวนคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟ้องระงับการขึ้นราคาก๊าซนั้น ฝ่ายผู้ฟ้องมีน.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี ได้ให้ถ้อยคำโดยสรุปว่า การขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีที่มีการปรับขึ้นราคาสูงกว่าต้นทุนตลาดโลกกว่า 2 เท่าตัว จากข้อมูลพบว่าราคาก๊าซเอ็นจีวีของสหรัฐอเมริกามีราคาเพียง 4.29 บาทต่อ ก.ก.

นอกจากนี้ ราคาก๊าซเอ็นจีวีของตลาดโลกปี2554 มีราคาเพียง 7.57 บาทเท่านั้น ส่วนราคาเนื้อก๊าซเอ็นจีวีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่กำหนดอยู่ที่ 8.39 บาทต่อก.ก.นั้นเป็นราคาที่รวมกำไรแล้วไม่ใช่ราคาต้นทุนที่แท้จริง ขณะที่ค่าบริหารจัดการและขนส่งในราคา 5.56 บาท เป็นการดำเนินการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และเมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าการตลาดเป็นราคา 14.50 บาทจึงถือว่ามีราคาที่สูงกว่าราคาขายปลีกเฉลี่ยของตลาดโลกปี2554 เกือบสองเท่า

ผู้ฟ้องยังระบุอีกว่าส่วนการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีนั้น จากสถิติปี2551-2553 พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีการใช้ก๊าซแอลพีจีสูงขึ้น ถึงร้อยละ 68 ขณะที่ภาคยานยนต์มีการใช้ลดลง สาเหตุที่ทำให้แอลพีจีขาดแคลนจึงไม่ใช่เพราะภาคยานยนต์ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้าง หากแต่มาจากการใช้แอลพีจีของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แทนที่รัฐบาลจะมีการจัดเก็บเงินค่าแอลพีจีกับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นก็กลับกำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตรา 1 บาทต่อก.ก.เท่านั้น

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นที่ใช้แอลพีจีต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตรา 8-11 บาทต่อก.ก ประกอบกับการนำเงินกองทุนน้ำมันไปสนับสนุนให้รถยนต์ขนาดเล็กปรับเปลี่ยนการใช้แอลพีจีเป็นเอ็นจีวีก็เป็นการเบี่ยงเบนและเอื้อประโยชน์ในการใช้แอลพีจีให้กับกลุ่มอุตาหกรรมปิโตรเมี ซึ่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของปตท.มีบริษัทในเครือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ และมีการผูกขาดการผลิตและการจำหน่ายเพียงองค์กรเดียว การปรับขึ้นแอลพีจีจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมมีในเครือบริษัทปตท. อย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติยานยนต์ บริษัทปตท.จำกัด และนายสุเทพ เหลี่ยมศรีเจริญ ผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ให้ถ้อยคำสรุปว่า มติการปรับขึ้นราคาก๊าซทั้งสองประเภทเป็นการดำเนินการโดยชอบตามพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในภาคการขนส่งรัฐบาลได้อุดหนุนก๊าซทั้งสองประเภทมาโดยตลอด โดยเรียกเก็บเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ใช้น้ำมันจึงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม อีกทั้งการสนับสนุนดังกล่าวทำให้ราคาต้นทุนของก๊าซทั้งสองประเภทบิดเบือนจากต้นทุนที่แท้จริงก่อให้ภาระแก่กองทุนน้ำมันในการชดเชยเป็นจำนวนสูง หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจะก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับข้อมูลราคาเนื้อก๊าซนั้นสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ได้จ้างสถาบันที่ปรึกษา เพื่อวิจัยต้นทุนราคาก๊าซที่แท้จริง ไม่ได้เป็นการฟังข้อมูลของปตท.หรือนำความเห็นของข้าราชการระดับสูงรายใดมาพิจารณาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อปตท.

ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมเคมีก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมันตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาเพราะราคาแอลพีจีของภาคขนส่ง ภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมทั่วไปจะมีราคาต้นทุนในอัตราเดียวกัน คือ 10 บาทต่อ ก.ก. ราคาขายปลีก 18.13 บาทต่อก.ก. ขณะที่ราคาต้นทุนแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะอยู่ที่ 14-15 บาทต่อก.ก. ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซ้ำยังต้องนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันอีก ซึ่งต่างจากภาคขนส่ง ครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมทั่วไปที่รัฐชดเชย

อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาต้นทุนก๊าซที่กล่าวหาว่าของไทยแพงกว่าทั่วโลกนั้น ทั่วโลกจะอยู่ที่ 19 บาทต่อก.ก. สหรัฐอเมริกา จะอยู่ที่ 14 บาทต่อก.ก. โดยประมาณเนื่องจากแหล่งที่มาต่างกัน จึงทำให้มีต้นทุนที่แตกต่างกัน โดยปตท.จะซื้อก๊าซจากอ่าวไทยหรือพม่า ซึ่งจะต้องมีการขออนุมัติต้นทุนเนื้อก๊าซจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานห่างชาติ และจะนำไปใช้มากในภาคไฟฟ้า ส่วนภาคการขนส่งจะใช้น้อย

สำหรับในส่วนของบัตรเครดิตพลังงานนั้น เพื่อเป็นการช่วยผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะบางราย เช่น รถแท็กซี่ รถร่วม ขสมก.และรถขนส่ง เป็นต้น ให้มีการลดต้นทุนในการจ่ายค่าก๊าซ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนที่ใช้บริการ ซึ่งเงินชดเชยส่วนต่างบัตรเครดิตพลังงานเป็นเงินที่ปตท.เป็นผู้จ่ายชดเชยไม่มีการเรียกคืนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือหน่วยงานใดของรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น