ศาล ปค.ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนฉุกเฉินคำร้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอระงับการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี-แอลพีจี ชั่วคราว ด้าน ปตท.อ้างหากศาลสั่งระงับ จะสร้างภาระให้ผู้ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น แถมระบุเงินชดเชยบัตรเครดิตพลังงาน ปตท.ควักกระเป๋าจ่ายเอง
วันนี้ (16 ม.ค.) นายเทอดพงศ์ คงจันทร์ ตุลาการศาลปกครองกลางในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณาคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และพวกรวม 4 คน ร้องขอให้สั่งระงับการขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี ของรัฐบาลในวันที่ 16 ม.ค.2555 ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 76/2555 ที่มูลนิธิฯยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 5 คน ขอให้เพิกถอนมติ ครม.ที่อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาก๊าซทั้งสองประเภท
ทั้งนี้ ในการไต่สวน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี ได้ให้ถ้อยคำสรุปว่า การขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีที่มีการปรับขึ้นราคาสูงกว่าต้นทุนตลาดโลกกว่า 2 เท่าตัว จากข้อมูลพบว่า ราคาก๊าซเอ็นจีวีของสหรัฐอเมริกา มีราคาเพียง 4.29 บาทต่อ กก.และราคาก๊าซเอ็นจีวีของตลาดโลกปี 2554 มีราคาเพียง 7.57 บาทเท่านั้น ส่วนราคาเนื้อก๊าซเอ็นจีวีของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่กำหนดอยู่ที่ 8.39 บาทต่อ กก.นั้น เป็นราคาที่รวมกำไรแล้วไม่ใช่ราคาต้นทุนที่แท้จริง ขณะที่ค่าบริหารจัดการและขนส่งในราคา 5.56 บาท เป็นการดำเนินการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และเมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าการตลาดเป็นราคา 14.50 บาท จึงถือว่ามีราคาที่สูงกว่าราคาขายปลีกเฉลี่ยของตลาดโลกปี2554 เกือบสองเท่า
ส่วนการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีนั้น จากสถิติปี 2551-2553 พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีการใช้ก๊าซแอลพีจีสูงขึ้น ถึงร้อยละ 68 ขณะที่ภาคยานยนต์มีการใช้ลดลง สาเหตุที่ทำให้แอลพีจีขาดแคลนจึงไม่ใช่เพราะภาคยานยนต์ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้าง หากแต่มาจากการใช้แอลพีจีของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แทนที่รัฐบาลจะมีการจัดเก็บเงินค่าแอลพีจี กับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นก็กลับกำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตรา 1 บาทต่อ กก.เท่านั้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นที่ใช้แอลพีจีต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตรา 8-11 บาทต่อ กก.ประกอบกับการนำเงินกองทุนน้ำมันไปสนับสนุนให้รถยนต์ขนาดเล็กปรับเปลี่ยนการใช้แอลพีจีเป็นเอ็นจีวีก็เป็นการเบี่ยงเบน และเอื้อประโยชน์ในการใช้แอลพีจีให้กับกลุ่มอุตาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของปตท.มีบริษัทในเครือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ และมีการผูกขาดการผลิตและการจำหน่ายเพียงองค์กรเดียว การปรับขึ้นแอลพีจีจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมมีในเครือบริษัท ปตท.อย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่ นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติยานยนต์ บริษัท ปตท.จำกัด และ นายสุเทพ เหลี่ยมศริเจริญ ผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ให้ถ้อยคำสรุปว่า มติการปรับขึ้นราคาก๊าซทั้งสองประเภทเป็นการดำเนินการโดยชอบตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในภาคการขนส่งรัฐบาลได้อุดหนุนก๊าซทั้งสองประเภทมาโดยตลอด โดยเรียกเก็บเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ใช้น้ำมันจึงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม อีกทั้งการสนับสนุนดังกล่าว ทำให้ราคาต้นทุนของก๊าซทั้งสองประเภทบิดเบือนจากต้นทุนที่แท้จริงก่อให้ภาระแก่กองทุนน้ำมันในการชดเชยเป็นจำนวนสูง หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจะก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับข้อมูลราคาเนื้อก๊าซนั้นสำนักนโยบายและแผนพลังงานได้จ้างสถาบันที่ปรึกษา เพื่อวิจัยต้นทุนราคาก๊าซที่แท้จริง ไม่ได้เป็นการฟังข้อมูลของ ปตท.หรือนำความเห็นของข้าราชการระดับสูงรายใดมาพิจารณาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อ ปตท.ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมเคมีก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมันตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาเพราะราคาแอลพีจีของภาคขนส่ง ภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมทั่วไป จะมีราคาต้นทุนในอัตราเดียวกัน คือ 10 บาทต่อ กก.ราคาขายปลีก 18.13 บาทต่อ กก.ขณะที่ราคาต้นทุนแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะอยู่ที่ 14-15 บาทต่อ กก.ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซ้ำยังต้องนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันอีก ซึ่งต่างจากภาคขนส่ง ครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมทั่วไปที่รัฐชดเชย อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาต้นทุนก๊าซที่กล่าวหาว่าขอบไทยแพ้กว่าทั่วโลกนั้นทั่วโลกจะอยู่ที่ 19 บาทต่อ กก.สหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ 14 บาทต่อ กก.โดยประมาณ เนื่องจากแหล่งที่มาต่างกัน จึงทำให้มีต้นทุนที่แตกต่างกัน โดย ปตท.จะซื้อก๊าซจากอ่าวไทย หรือพม่า ซึ่งจะต้องมีการขออนุมัติต้นทุนเนื้อก๊าซจากคระกรรมการนโยบายพลังงานห่างชาติ และจะนำไปใช้มากในภาคไฟฟ้า ส่วนภาคการขนส่งจะใช้น้อย สำหรับในส่วนของบัตรเครดิตพลังงานนั้น เพื่อเป็นการช่วยผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะบางราย เช่น รถแท็กซี่ รถร่วม ขสมก.และรถขนส่ง เป็นต้น ให้มีการลดต้นทุนในการจ่ายค่าก๊าซ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนที่ใช้บริการ ซึ่งเงินชดเชยส่วนต่างบัตรเครดิตพลังงานเป็นเงินที่ปตท.เป็นผู้จ่ายชดเชยไม่มีการเรียกคืนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือหน่วยงานใดของรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหลังไต่สวนนานกว่า 4 ชั่วโมง นายเทอดพงศ์ ได้แจ้งให้คู่กรณีทราบว่า ศาลจะมีการประชุมองค์คณะเพื่อพิจารณาคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวและจะมีคำสั่งภายในวันเดียวกัน โดยจะแจ้งให้คู่กรณีทราบทางโทรสาร หากไม่แล้วเสร็จจะแจ้งให้ทราบภายในวันที่ 17 ม.ค.นี้