xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ใช้ NGV อีสานทนแบกรับราคาปรับขึ้นได้มากสุด 11 บาท/กก.รถขนส่ง-รถสาธารณะจ่อขึ้นค่าบริการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนยข่าวขอนแก่น- อีสานโพล เผยผลสำรวจเรื่อง “ปัญหาการปรับราคาก๊าซ NGV กับผลกระทบต่อผู้ใช้ NGV ในภาคอีสาน” พบเพดานราคา NGV ที่ผู้ใช้ NGV รับได้อยู่ที่ 11 บาท/กก.ขณะที่ผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะและภาคขนส่งเตรียมปรับขึ้นค่าบริการ ส่วนผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวยังไม่ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ และเมินรถขนส่งสาธารณะ และผู้ใช้ก๊าซ NGV กว่าครึ่งยอมจ่ายเงินเพิ่มหากไม่ต้องรอคิวนาน

วันนี้ (17 ม.ค.) ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจเรื่องปัญหาการปรับราคาก๊าซ NGV กับผลกระทบต่อผู้ใช้ NGV ในภาคอีสาน ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 14-15 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53 ไม่เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐบาลในการปรับราคาก๊าซ NGV จากเดิมราคา NGV 8.5 บาท และจะเพิ่มขึ้นเดือนละ 50 ส.ต./กก. และจะทยอยปรับขึ้นสูงสุดเป็น 14.5 บาท/กก.ภายในสิ้นปี 2555 ขณะที่ร้อยละ 28 เห็นด้วย

เมื่อถามถึงการปรับราคาก๊าซ NGV สูงสุดภายในสิ้นปี 2555 นั้นกลุ่มผู้ใช้รถชาวอีสานส่วนใหญ่บอกว่ารับได้ หากอยู่ที่ราคา 10-11 บาท/กก.มีผู้เห็นด้วยมากที่สุดในอัตรานี้ คิดเป็นร้อยละ 31.0 หรือหากคิดสะสมจะมีผู้ที่สามารถแบกรับการปรับขึ้นราคา NGV ได้ร้อยละ 74.1

ต่อข้อถามถึงผลกระทบต่อพฤติกรรมของกลุ่มผู้ใช้ NGV พบว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซจะไม่ส่งผลต่อประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1.ไม่ส่งผลต่อการชะลอซื้อพาหนะที่ใช้ก๊าซ NGV ร้อยละ 65.1
2.กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 84.5 บอกว่า ไม่ส่งผลให้เกิดการหันไปใช้น้ำมันเถื่อน 3.ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนใช้เชื้อเพลิงทดแทนอื่นๆ เช่น ไบโอดีเซล หรือแก๊สโซฮอล์ ร้อยละ 56.7 มีผลเพียงร้อยละ 23.4 และ 4.กลุ่มตัวอย่างมากถึงร้อยละ 55.6 ระบุว่า จะไม่ส่งผลต่อคะแนนนิยมของพรรครัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า มีผลเพียงร้อยละ 23.0

เมื่อถามถึงนโยบายบัตรเครดิตพลังงาน NGV ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ NGV ของรัฐบาล ผู้ใช้ NGV ภาคอีสานส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.2 ตอบว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการนี้เหมือนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

ทั้งนี้ โดยปกติผู้ใช้รถ NGV ร้อยละ 43.2 จะต้องเสียเวลาในการต่อคิวเติมมากกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป แต่เมื่อสอบถามว่าหากมีช่องทางพิเศษโดยไม่ต้องต่อคิวรอเติม NGV ผู้ใช้จะยอมจ่ายเงินค่าบริการพิเศษนี้แต่ละครั้งสูงสุดเท่าใด พบว่าผู้ใช้เกือบครึ่งคือร้อยละ 49.5 จะยอมรอต่อคิว ขณะที่ผู้ใช้รถ ร้อยละ 31.1 จะยอมจ่ายในอัตราค่าบริการระหว่าง 10-20 บาท

ดร.สุทิน เปิดเผยต่อว่า สำหรับการสำรวจพฤติกรรมเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถแต่ละประเภทพบว่า ผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ตอบว่าผลกระทบจากการปรับราคาก๊าซจะไม่ส่งผลให้เปลี่ยนมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น (ไม่มีผลร้อยละ76.9) และไม่ส่งผลต่อการปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ (ไม่มีผลร้อยละ 62.8)

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ พบว่า มีแนวโน้มจะปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร (มีผลร้อยละ 65.6) แต่จะไม่ส่งผลต่อการลดคุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการ (ไม่ส่งผลร้อยละ 60.8) ด้านกลุ่มผู้ประกอบรถบรรทุกและการขนส่ง พบว่า อาจจะมีการปรับขึ้นราคาค่าบรรทุกสินค้า (มีผลร้อยละ 63.5) แต่จะไม่ส่งผลให้เกิดการลักลอบบรรทุกเกินน้ำหนัก (ไม่ส่งผลร้อยละ 53.8)

ดร.สุทิน ระบุว่า เมื่อรัฐบาลทำการปรับราคา NGV รวมถึงราคา LPG แล้วสถานะการเงินของกองทุนน้ำมันจะดีขึ้น ดังนั้น รัฐควรชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในส่วนของน้ำมันดีเซล เพื่อชะลอการปรับราคาค่าขนส่งและค่าโดยสารของผู้ประกอบการในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกได้ปรับตัวสูงขึ้น และควรชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในส่วนของแก๊สโซฮอล์ เพื่อส่งเสริมการใช้เอทานอลให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังได้อีกทาง

นอกจากนี้ หลังจากปรับขึ้นราคา NGV แล้ว ปตท.ก็จะไม่มีข้ออ้างในการที่จะไม่เพิ่มจำนวนสถานี NGV ให้ครอบคลุมอีกต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ NGV ไม่เสียเวลามากในการต่อคิวรอ

สำหรับการสำรวจความเห็นในประเด็นดังกล่าว ได้สุ่มสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้เชื้อเพลิง NGV รวม 437 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 3 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี

กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ร้อยละ 55.7 กลุ่มผู้ขับรถบรรทุกและผู้ประ กอบการขนส่งสินค้า ร้อยละ 28.4 และผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 15.9 ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น