xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปาหี่การเมือง โยนหินแก้ รธน. ปลายทางไม่พ้นช่วยนายใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ไม่ว่าสถานการณ์ในประเทศจะเป็นไปในรูปแบบใด ประชาชนในประเทศจะเดือดร้อนกับปัญหาข้าวยาก หมากแพงซักเท่าไหร่ แต่สำหรับภารกิจหลักของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังคงไม่พ้นความกระเหี้ยนกระหือรือ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเป้าหมายลึกๆ เพื่อปลดล็อก โละความผิดทางคดีความให้แก่ นช.ทักษิณ ชินวัตร อยู่วันยังค่ำ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

และถ้าจะเปรียบเทียบสติปัญญาในการบริหารประเทศกับความคิดแสนบรรเจิดในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องบอกว่ามีความใส่ใจต่างกันราวฟ้ากับเหว ยิ่งได้เห็นชัดเจนถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บรรดาสาวกนายใหญ่ทั้งหลายทั้งแหล่ ที่ขยันโยนหินถามทางกันเพื่อแผ้วทางให้ นช.ทักษิณอยู่ขณะนี้ กวาดสายตาดูก็จะเห็นได้ว่ามีอยู่หลายแนวทางเช่นกัน

เริ่มจากแนวทางแรก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เสนอรูปแบบ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ด้วยการให้มี ส.ส.ร. 99 คนมาจากตัวแทนจังหวัดที่เลือกตั้งจากประชาชน 77 คน และอีก 22 คน มาจากนักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์และผู้มีประสบการณ์การเมือง ซึ่งถือเป็นโมเดลแรกๆ ที่มีการโยนหินถามทางมาจากทางรัฐบาล แต่จนแล้วจนรอดกลับไม่ได้รับการตอบสนองของคนในพรรคเพื่อไทยเท่าใดนัก จะว่าไปก็ไม่ต่างจากเกาะกระแสเอาใจนายใหญ่ของ “เฉลิมรู้ทุกเรื่อง” แต่ดูเหมือนแนวทางนี้ก็เงียบหายไป

สูตร นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ สส.กลุ่มเสื้อแดง โยนรูปแบบ ส.ส.ร. 100 คนมาจากประชาชนเลือกตั้งทั้งหมด แบ่งตามจำนวนประชากรจังหวัดยึดสัดส่วน 4 แสนคนต่อ ส.ส.ร. 1 คน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการล่ารายชื่อคนเสื้อแดงให้ครบ 5 หมื่นชื่อ เพื่อชงร่างต่อประธานรัฐสภา โดยไม่รอร่างของรัฐบาล

แน่นอน แนวทางของหมอเหวงคือ การเสนอในฐานะตัวแทนของคนเสื้อแดงอย่างเป็นทางการ เป้าประสงค์แท้จริงต้องการนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ทั้งฉบับ เรียกว่าไม่อ้อมค้อมกันเลยทีเดียว สำหรับสูตรนี้เพราะเด่นชัดว่าการต้องการฟื้นชีพให้รัฐธรรมนูญ 2540 จะมีผลต่อการช่วย นช.ทักษิณ ให้ได้รับประโยชน์

หรือจะเป็น สูตรของ สงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย เสนอเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาบรรจุระเบียบวาระเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แนวทาง คือ ให้มี ส.ส.ร. 101 คนมาจากเลือกตั้งจังหวัด 77 คน ที่เหลือ 24 คน มาจากนักนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์การเมือง ในส่วนของนักวิชาการจะเปิดให้มีการสมัครและเลือกกันเองให้เหลือ 30 คน จากนั้นให้ตัวแทนจากจังหวัดทั้ง 77 คนเลือกอีกครั้งเหลือ 24 คน

ข้อเสนอของสงวน ถือว่าเป็นอีกสาขาหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามวิธีของเสื้อแดง เพื่อกันเหนียวหากพิมพ์เขียวสีแดงต้องมีอันเป็นไปแบบคาดไม่ถึง

ส่วนแนวทางของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เริ่มต้นจากการแก้มาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร. หลักการอยู่ที่การรวบรวมรายชื่อจากภาคประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ และ สส.พรรคร่วมรัฐบาลลงรายชื่อ 1 ใน 5 สมาชิกยื่นญัตติ ทั้งหมดนี้สามารถดำเนินการให้สำเร็จเพื่อเริ่มต้นแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศได้ภายในเดือน ก.พ. ส่วนที่มาของ ส.ส.ร.วิปรัฐบาลเสนอให้ผู้สมัครในจังหวัดนั้นเลือกกันเอง

หรือจะเป็นที่จับตาของหลายฝ่ายคือคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่มี อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน ข้อเสนอจากอดีตประธานรัฐสภาผู้นี้ ถือว่าเป็นการหักดิบทุกข้อเสนอที่ผ่านมา เพราะไม่เห็นด้วยกับการให้มี ส.ส.ร.เนื่องจากเสียเวลาและงบประมาณเกินความจำเป็น แต่ในรูปแบบของการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาระหว่าง 30-35 คน

ล่าสุด นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เปิดผลการหารือกันในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย เห็นว่า จะต้องเดินหน้าแก้ไขผ่านช่องทางมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยจะ แบ่งเป็น 2 ร่างเสนอประกบกันไป คือ ร่างของประชาชนทั่วไปที่มติวิปรัฐบาลเห็นด้วย ที่จะให้มี ส.ส.ร.จำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน ที่เหลืออีก 23 คน ก็ให้ ส.ส.ร.ที่มาจากตัวแทนจังหวัดทั้ง 77 คน เป็นผู้เลือกอีกครั้ง

หรืออีกแนวก็คือ ร่างของภาคประชาชนในนามกลุ่ม นปช. ที่กำหนดให้มี ส.ส.ร.จำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แบ่งเป็นจังหวัดละ 1 คน แต่ถ้าจังหวัดไหนมีประชากรมาก ก็ให้ยึดจำนวนประชาชน 4 แสนต่อ ส.ส.ร. 1 คน เพื่อให้ได้ 100 คน

เมื่อลิ่วล้อขยันออกมาชงกันขนาดนี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจเช่นกัน ที่นายกฯนกแก้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะออกมารับลูกสนับสนุนแนวคิดของ ดร.อุกฤษ ที่เสนอให้ใช้วิธีการรวบรัดโดยเสนอให้คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 34 คนประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญจากตัวแทนหลายฝ่ายโดยไม่ต้องมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณ

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพิ่งจะประกาศสนับสนุนให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่พอ ดร.อุกฤษออกมาเสนอแนวคิดใช้แผนเผด็จศึกรวบรัดตัดความในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบม้วนเดียวจบด้วยการตั้ง 34 อรหันต์ยกร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องมีส.ส.ร.กลับปรากฏว่านายกฯยิ่งลักษณ์ รับลูกทันควัน ทั้งๆ ที่แนวทางของทั้งสองแนวคิดแตกต่างกันสิ้นเชิง แต่ประชาชนก็คงทราบได้อย่างดีว่าเธอก็มีหน้าที่เพียงต้องแบกหน้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแก้บนไปวันๆ รอวันที่จะช่วยพี่ชายกลับประเทศเท่านั้น

ขณะเดียวกัน คงต้องบอกว่าฟัดกันนัวเนีย ไม่น้อยเช่นกันใน เพราะแต่ละฝ่ายก็มุ่งหน้าเสนอแนวทางของตนเอง อย่างกรณี นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. กล่าวว่ากรณีที่นายอุกฤษ จะมีการตั้ง 34 บุคคลซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะมาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มนปช. เห็นว่าประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในการแก้ รธน.มากกว่า ทางกลุ่มนปช. หวังว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก

แน่นอนที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คงหนีไม่พ้น ที่บรรดาสารพัดสูตรที่ลิ่วล้อนายใหญ่ โยนหินออกมาถามทางแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำราวกับว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเสียหนักหนา เพราะความจริงแล้วก็ไม่ได้มีประโยชน์อันใดกับประชาชนคนไทยซักเท่าไหร่ ยกเว้นก็แต่ นช.ทักษิณเพียงคนเดียวเท่านั้น

ทั้งนี้จะว่าเป็นเกมการเมืองก็คงไม่ผิดนัก ซึ่งการโยนหินถามทางทางหนึ่งก็เพื่อสร้างกระแสเพื่อวัดอุณหภูมิของคนในสังคมว่าจะขานรับหรือไม่ หรือจะถูกคัดค้านอย่างหนักหน่วง แต่คงต้องบอกว่าเหตุการณ์ยังสงบอยู่ก็เพราะว่า โมเดลต่างๆ ที่ผุดมาตอนนี้ ยังเป็นแค่ที่มาของโครงสร้างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เนื้อหาว่าจะแก้ข้อไหน อย่างไร

ที่สำคัญก็คือ ยิ่งเมื่อกวาดสายตาดูแล้ว แม้บรรดาเครือข่ายระบอบทักษิณทั้งหลายจะมีแนวคิดและวิธีการที่แตกต่างกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ลืมก็คือทุกกลุ่มต่างก็เป็น ของทักษิณ โดยทักษิณและเพื่อทักษิณเท่านั้น ประชาชนตาดำๆไม่ได้ประโยชน์อะไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เลย

ดังนั้น ไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยแนวทางใดที่สำคัญคือต้องลบล้างโทษความผิดทั้งหมดให้กับทักษิณและทำให้ทักษิณได้ทรัพย์สิน46,000 ล้านบาทที่ถูกยึดตกเป็นของแผ่นดินคืน

อย่างไรก็ดี ถามว่าประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างที่รัฐบาลชอบอ้างมาหรือไม่ ก็คงต้องย้อนกลับไปถามว่าแล้วปัญหาที่มีผลต่อความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องด้านค่าครองชีพที่มีแนวโน้มถีบตัวสูงขึ้น เช่น ราคาก๊าซเอ็นจีวี หรือแอลพีจี จนนำมาสู่การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ในฐานะเป็นผู้ประกาศออกมาว่า จะทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี แต่การกระทำที่ออกมาได้สวนทางกับคำพูดและนโยบายอย่างสิ้นเชิง แล้วทำไมรัฐบาลจึงไม่รีบแก้ไขให้เป็นรูปธรรมเสียก่อน

ยิ่งพิจารณาอย่างเป็นธรรมก็จะเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยกลับทุ่มไปให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชนิดหน้ามืดไม่เลิกไม่รา คิดเพียงว่าจะใช้โมเดลแบบไหนเพื่อลดแรงเสียดทานให้น้อยที่สุด ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ต้องตั้งคำถามถึงความโปร่งใสอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยังไม่นับปลายทางของการแก้ไขว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับ นช.ทักษิณ ทางใดทางหนึ่ง เพราะท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมามันก็ฟ้องอยู่ว่าต้องการทำลายด้วยการแก้ไขมาตรา 309 ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงเกี่ยวกับการรับรองเหตุการณ์เมื่อปี 2549 มากแค่ไหน

ทั้งนี้ คงต้องบอกว่าเร็วไปที่พรรคเพื่อไทยจะคิดว่าไม่มีแรงเสียดทาน เพราะต้องไม่ลืมว่านี่เป็นแค่โครงสร้าง ยังไม่ได้ลงรายละเอียดในเนื้อหาซึ่งจะต้องเกิดขึ้นในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการลงรายละเอียดชัดเจนว่าจะแก้ข้อไหน อย่างไร ที่ต้องจับตาและอาจเกิดประเด็นร้อนแรงทางการเมือง เนื่องจากอาจมีการหมกเม็ดแก้เอื้อประโยชน์ให้ นช.ทักษิณ จากจุดนี้ได้

และเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว เชื่อว่าประชาชนที่หวังดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง คงจะต้องออกมาต่อต้านกันอย่างหนักหน่วงแน่นอน ส่วนเกมการเมืองโยนหินถามทางแก้รัฐธรรมนูญสูตรต่างๆ ของบรรดาเพื่อแม้วทั้งหลายทั้งแหล่ มันก็แค่ปาหี่การเมืองเกมหนึ่งเท่านั้น ปลายทางก็ไม่พ้นช่วยนช.ทักษิณวันยังค่ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น