xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทยไม่สนเสียงท้วง เร่งสภาใหม่“สระบุรี”ปชป.ซัดอย่าอ้างน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(9 ม.ค.)นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยก่อนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ถึงกระแสข่าวการสำรวจสถานที่เพื่อก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่แทนพื้นที่ย่านเกียกกาย ว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯเห็นพ้องกันว่า ควรย้ายสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่จากย่านเกียกกาย ไปอยู่สถานที่อื่นๆ ซึ่งที่เล็งไว้ตอนนี้อาจจะเป็นที่ กทม. หรือ จ.สระบุรี โดยใช้พื้นที่อย่างน้อย 1,000 ไร่ และมีเงื่อนไขว่า สถานที่ใหม่ต้องไม่มีการซื้อที่ดิน เพื่อป้องกันข้อครหา ดังนั้นจะใช้สถานที่ของที่ราชพัสดุเท่านั้น และต้องเป็นพื้นที่น้ำไม่ท่วม
ทั้งนี้เหตุผลหนึ่งที่จะใช้พื้นที่ จ.สระบุรี เนื่องจากรัฐบาลจะมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กทม.-นครราชสีมา หากก่อสร้างขึ้นมาจะใช้เวลาเดินทางมายังรัฐสภาใหม่แค่ 15 นาที ซึ่งสะดวกต่อการเดินทาง อย่างไรก็ตามขณะนี้รอเพียงความเห็นชอบจากนาย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะให้เปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาใหม่หรือไม่
นายเจริญกล่าวว่า สาเหตุน้ำท่วม แม้บริษัทก่อสร้างยืนยันว่า มีการติดตั้งระบบป้องกันน้ำท่วมอย่างแน่นหนา แต่ต้องไม่ลืมว่า พื้นที่ข้างเคียงประสบปัญหา ก็ไม่สามารถทำงานได้อยู่ดี หากยังใช้พื้นที่เดิมต่อไป ก็จะทำงานท่ามกลางความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ในรูปแบบเดิมพื้นที่ชั้นล่างจะเป็นระบบไฟฟ้า และโรงยิม หากเกิดน้ำท่วมขึ้น จะมีปัญหาการทำงานทันที
“ส่วนที่มีการจ่ายเงินค่าเวนคืนล่วงหน้าที่ดินไปบางส่วนแล้ว ก็ไม่เป็นไร เพราะพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นของรัฐสภา ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้ แต่หากเสี่ยง ควรย้ายไปอยู่ที่ใหม่ดีกว่า เพราะสามารถสร้างเสร็จได้ทันตามกำหนดเดิมคือภายใน 900 วัน หรือภายในปี 2558 แต่หากยังใช้พื้นที่เดิมไม่มีทางสร้างเสร็จทันปี 2558 เพราะขณะนี้ทั้งโรงเรียน และหน่วยงานราชการยังไม่มีใครย้ายออกจากพื้นที่เลย การก่อสร้างต้องช้าออกไปอย่างน้อย 1 ปี หากยังใช้พื้นที่เดิมต้องเสียค่าโง่รอบสองแน่นอน เพราะขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้างเริ่มทำหนังสือมายังรัฐสภา เพื่อขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม เนื่องจากยังไม่สามารถก่อสร้างได้ตามกำหนดเวลา” นายเจริญ กล่าว

**อ้าง “วางศิลาฤกษ์แล้ว”ก็ไม่เกี่ยว
เมื่อถามว่าตามที่ได้มีการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่แล้วหากย้ายจะเป็นการไม่เหมาะสมหรือไม่ นายเจริญ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยว เราต้องพูดกันด้วยเหตุและผล หากเกิดน้ำท่วมขึ้นถามว่าใครจะรับผิดชอบ โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าหากต้องการได้พื้นที่สร้างอาคารรัฐสภาได้เร็วขึ้นน่าจะย้ายไปสร้างที่ใหม่ โดยแบบในการการก่อสร้างจะใช้แบบเดิม ซึ่งน่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างน้อยกว่าสถานที่ปัจจุบันด้วยซ้ำ
เมื่อถามว่าการเปลี่ยนสถานที่ไปมาจะไม่เสียงบประมาณโดยใช่เหตุหรือไม่ นายเจริญ กล่าวว่า ตอนนี้ต้องถือว่ายังไม่ได้ทำอะไร ถึงทำไปแล้วเราก็ถือว่าไปสร้างโรงเรียนใหม่ ถ้าเขาย้ายไปเอาก็เอาพื้นที่นี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ขณะนี้ยังไม่เสียหายอะไร ต่อจากนี้คงจะหารือกับประธานรัฐสภาว่าจะเอาที่เดิมหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นที่เดิมจะล่าช้าปี 2558 ก็ไม่เสร็จ การจะขอให้ขยายเวลาก่อสร้างเป็น 1,200 วัน เราจะไม่เอาอย่างนั้น ถ้าเราปล่อยให้ดำเนินการไปแล้วมีปัญหาสร้างไม่ได้อาจเป็นการเสียค่าโง่เหมือนค่าโง่ทางด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดและติดตามโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมี นายเจริญ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯเป็นประธานการประชุม โดยการประชุมเพื่อฟังการยืนยันจากบริษัทที่ปรึกษาถึงระบบป้องกันน้ำท่วมและการรักษาความปลอดภัย ซึ่งแม้บริษัทผู้ออกและที่ปรึกษาจะยืนยันว่าไม่มีผลกระทบ แต่นายเจริญเห็นว่า เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายจะต้องดูแลด้วยความรอบคอบ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมอีกด้วย หากเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้าง

**เด็กปชป.ย้ำต้องสร้างที่เกียดกาย
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะโฆษกกมธ.กิจการสภา กล่าวว่า โครงการก่อสร้างรัฐสภาใหม่น่าจะเดินหน้าต่อเพราระมีการลงทุนก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่ไปแล้วมีมูลค่าหลายพันล้านบาท โดยเฉพาะการหาผู้ก่อสร้างก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ไม่น่าจะใช้วิธีการไล่รื้อโครงการที่ตัวเองไม่ได้เริ่มต้น ซึ่งทาง กมธ.กิจการสภาเองก็ได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องหลานส่วนมาชี้แจง โดยสรุปภาพรวมพบว่า หน่วยงานราชการและหน่วยทหารในพื้นที่ย่านเกียกกาย อาทิ โรงเรียน ขส.ทบ. และหน่วยทหารอื่นๆในบริเวณนั้นก็พร้อมที่จะย้ายออก และมีการก่อสร้างฐานของอาคารสถานที่ในพื้นที่ที่มีการจัดหาไว้ให้แล้ว หน่วยการเหล่านี้ไม่ได้เป็นการสร้างปัญหาแต่อย่างใด
ขั้นตอนที่ล่าช้าคือ ตัวแบบแปลนของโครงสร้างที่ต้องเสียเวลาในการถอดแบบทางวิศวกรรมของอาคารสถานที่ของรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่และมีรายละเอียด หลังการถอดแบบโครงสร้างแล้วก็ต้องหาผู้ประมูลโดยสมัยของนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานสภา ได้ใช้วิธีการยื่นตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประมูล โดยมีเงื่อนไขต่างๆ เช่น ต้องเคยผ่านงานเกินกว่า 2 พันล้านบาท มีความพร้อมด้านเครื่องมือ อุปกรร์ก่อสร้าง มีวิศวกรและแรงงานพร้อม โดยมีผู้ยื่นคุณสมบัติเพื่อตรวจสอบ 6 บริษัท คุณสมบัติไม่ผ่าน 2 บริษัท สอบผ่าน 4 บริษัท และขั้นตอนล่าสุดคือรอให้สำนักงบประมาณประเมินราคากลางในการก่อสร้างตามผังแบบแปลนที่ได้มีการถอดแบบทางวิศวกรรมมาแล้ว เพื่อหาราคากลางในการก่อสร้าง
สำหรับเหตุผลที่นายเจริญระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้สร้างมาเพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมนั้น ตนเห็นว่า ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนแปลงเพิ่มโครงสร้างบางส่วนเพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมในอนาคต และการย้ายไปที่อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรีเองก็ประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน การอ้างเหตุผลนี้เพื่อย้ายไปที่จ.นนทบุรี ไม่ตอบโจทย์ที่กล่าวอ้าง หรือกรณีที่นายสมศักดิ์ ระบุว่า สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก่อสร้างแบบทิ่มแทงเข้ามาในบริเวณรัฐสภานั้น ก็สามารถแก้ไขได้ทั้งการออกแบบโครงสร้างสะพานและตกแต่งให้สวยงาม หรือการย้ายแนวการสร้างสะพานขยับออกไปให้ห่างจากพื้นที่ของรัฐสภา
ที่น่าแปลกใจคือ กรณีที่นายสมศักดิ์ระบุว่า ทางโรงเรียนโยธินบูรณะได้มีการของบประมาณเพิ่มอีก 600 ล้านบาท จากเดิมที่มีการตกลงในการหาสถานที่สร้างโรงเรียนและให้งบประมาณอีก 1,000 ล้านบาทให้กับโรงเรียน ก้สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้คือการยืนยันในสัญญาเดิมที่ตกลงไว้ในงบประมาณที่ 1,000 ล้านบาท ส่วนยอดในการก่อสร้างที่ทางโรงเรียนแห่งใหม่เกินไปถึง 600 ล้านก็ให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องไปจัดหางบประมาณ เพราะอยู่นอกสัญญา

**หนุนต่อ คาดได้ผู้ประมูลสิ้นก.ย. นี้
นายบุญยอด กล่าวอีกว่า การก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ของชาติที่คนในสังคมต่างให้ความสนใจ ผู้บริหารของสภาควรที่จะต้องผู้ที่มีส่วนร่วมโดยเฉพาะทั้ง ส.ส.และส.ว.ด้วย ไม่ใช่ผู้บริหารไปตั้งหน้าตั้งตามุบ หมิบกันทำ ไปคิดกันเองสมาชิกรัฐสภาไม่รับรู้รับทราบ ขนาดกมธ.กิจการสภาเองยังไม่รู้เรื่องความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงในการหาสถานที่สร้างใหม่เลย
“ในส่วนของนายไพจิต ศรีวรขาน ประธานกมธ.กิจการสภาเองบางครั้งท่านก็ยังมั่ว พูดเอง เออเองในที่ประชุม กมธ. คือประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปท่านก็ออกไปตั้งกระทู้ถามสดต่อสภาในเรื่องอื่น โดยในที่ประชุมได้เชิญตัวแทนของเลขาธิการสภามาชี้แจง ซึ่งตัวแทนเลขาฯก็ยืนยันว่า หากทางสภาจะเดินหน้าต่อในโครงการเดิมที่เริ่มไปแล้ว ก็สามารถหาผู้ประมูลก่อสร้างได้ทันก่อนสิ้นเดือนก.ย. 2555 แน่นอน
ที่สำคัญการที่นายสมศักดิ์ออกมาพูดว่า 4 บริษัทที่ผ่านการสอบคุณสมบัติไม่เหมาะสมเหมือนมัดมือชกให้เลือกเอาแค่ 4 บริษัทนั้น หากนายสมศักดิ์เห็นว่าไม่มีความเหมาะสมก็ต้องชี้แจงว่าทั้ง 4 บริษัทไม่เหมาะสม มีการล็อคสเปค ทำผิดหลักเกณฑ์ขั้นตอนอย่างไร ไม่ใช่มาพูดคลุมเครืออย่างในช่วงการประชุมงบประมาณ 55 ไม่ใช่ใช้กระแสสังคมมากดดัน เพราะงบประมาณในปี 2555 ก็ไม่มีการจัดเตรียมงบประมาณไว้ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่ควรจะได้ผู้ประมูลงานก่อสร้างสภาไว้เท่านั้น เพราะหากรื้อและเริ่มต้นโครงการกันใหม่ที่สุดก็จะเป็นโครงการ 7 ชั่วโคตรอีกแห่ง ซึ่งสมาชิกรัฐสภาทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น”.
กำลังโหลดความคิดเห็น