xs
xsm
sm
md
lg

“เจริญ” ตั้งท่าล้มกระดาน 4 บ.จ่อประมูลรัฐสภาใหม่-เสนอ “ขุนค้อน” เคาะพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบบจำลองอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งจะสร้างบนพื้นที่ราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2553
รองประธานสภาฯ หาช่องล้มกระดาน 4 บ.ผ่านคุณสมบัติประมูลงานสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ อ้างได้สิทธิ์ไม่โปร่งใส ชง “สนามกอล์ฟชลประทาน-ค่ายอดิศร” พื้นที่ใหม่ บ่น “เกียกกาย” ปัญหาอื้อ ห่วงน้ำท่วม-ไฟไหม้-ระเบิดทำตึกถล่ม เหตุออกแบบให้ระบบควบคุมอยู่ใต้ดิน แถมเจ้าของเดิมไม่ย้ายออก เมินเสียงชี้แจงจากบริษัทผู้ออกแบบ สรุปให้ “สมศักดิ์” ชี้ขาดพรุ่งนี้

วันนี้ (16 ม.ค.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมี นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการเป็นประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้เชิญบริษัทที่ปรึกษา และบริษัทผู้ออกแบบเข้าชี้แจงเกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้าง และรายละเอียดการย้ายออกของเจ้าของพื้นที่เดิม ซึ่งกรรมการหลายคนแสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่ย่านเกียกกายเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และการป้องกันอุบัติเหตุวินาศภัยที่อาจเกิดขึ้น เพราะได้มีการออกแบบให้ห้องควบคุม หม้อแปลง พื้นที่จอดรถอยู่ชั้นใต้ดินทั้งหมด ทำให้หากเกิดเหตุระเบิดขึ้นมาอาจทำให้โครงสร้างอาคารเสียหายถึงขั้นถล่มลงมาได้

นายเจริญ ยังอ้างว่า ในส่วนของระยะเวลาการย้ายของหน่วยงาน และชุมชนที่ได้ขอยืดระยะเวลาออกไป จนส่งผลกระทบต่อการเริ่มดำเนินการก่อสร้าง และไม่สามารถเปิดให้มีการประกวดราคาได้ทันตามกำหนดเดิม ทำให้อาจมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น และมีสิทธ์ที่เอกชนผู้ได้รับการประมูลงานฟ้องร้องได้ในภายหลัง จนอาจซ้ำรอยกรณีค่าโง่ทางด่วน ซึ่งนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้กำชับว่าไม่ควรให้เกิดความสุ่มเสี่ยงเช่นนั้น เพราะรัฐสภาถือเป็นผู้ออกกฎหมาย หากถูกฟ้องร้องก็จะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งทำให้ประเทศต้องสูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ จึงมอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาไปทบทวนและทำรายละเอียดการย้ายออกจากพื้ที่ของเจ้าของเดิมมาให้ รวมทั้งบริษัทผู้ออกแบบให้ไปวางแผนการป้องกันเหตุทั้งน้ำท่วม วินาศภัย และการก่อการร้ายให้รัดกุม โดยกำหนดระยะเวลาภายใน 3 วัน เพื่อที่จะสามารถวางปฏิทินการประกวดราคาได้ต่อไป

ด้านผู้แทนบริษัทผู้ออกแบบ ชี้แจงว่า ในส่วนของระบบการป้องกันน้ำท่วมนั้น ได้มีการเตรียมการไว้ส่วนหนึ่ง โดยเชื่อว่าเขื่อนกั้นน้ำของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่สูงกว่า 4 เมตรจากระดับน้ำทะเลนั้นจะสามารถป้องกันน้ำที่จะเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ได้ เพราะจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมานั้นน้ำท่วมในพทื้นที่ใกล้เคียงที่ก่อสร้างมีความสูง 2.53 เมตรจากระดับน้ำทะเล ดังนั้นหากมีน้ำท่วมสูงอีก 1.5 เมตร ก็จะทำให้พื้นที่ กทม.ท่วมทั้งจังหวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ส่วนการย้ายพื้นที่โรงไฟฟ้าย่อย หม้อแปลง และโรงพิมพ์ขึ้นที่สูงนั้น สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การป้องกันการเกิดอัคคีภัย วินาศภัยหรือการระเบิดนั้น ยืนยันว่าโครงสร้างที่ออกแบบมานั้นเป็นกำแพงคอนกรีตที่กันไฟ และทนต่อแรงระเบิดได้ตามมาตรฐาน ทั้งยังจะมีการแยกส่วนของพื้นที่จอดรถยนต์สำหรับรถที่ใช้แก๊สไม่ให้จอดในพื้นที่ใต้ดิน ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกเหนือจากระบบโครงสร้างเพื่อห้องกันเหตุแล้ว ยังต้องมีการออกแบบระบบบริหารจัดการการเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มงวด และการวางแผนอพยพที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นส่วนเสริมไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวด้วย

ขณะที่ ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาได้ยอมรับว่า ขณะนี้งานล่าช้าจากแผนงานเดิมมากว่า 200 วัน จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 5 เดือน แต่ปัจจุบันกินเวลาไปมากกว่า 1 ปีแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างที่สามารถเบิกได้เพียง 1 งวดเท่านั้นจากที่กำหนดไว้ 5 งวด โดยจะได้มีการขอเงินงวดที่ 2 ก่อน จากนั้นจะมีการขอขยายการเบิกค่างวดออกเป็น 12 งวดตามระยะเวลาจริงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ระยะเวลาจะล่วงเลยไปกว่าสัญญาที่ลงนามระหว่างกัน แต่ทางบริษัทที่ปรึกษา ก็ยืนยันว่า มีความเข้าใจในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และจะไม่ฟ้องร้องค่าเสียหายภายหลังอย่างแน่นอน

จากนั้น นายเจริญ ได้กล่าวอีกว่า ตนยังมีความเป็นห่วงในส่วนของการยกเลิกสัญญาของบริษัทผู้ควบคุมโครงการ 2 บริษัท เนื่องจากทราบว่าบริษัทดังกล่าวมีการใช้วิศวกรคนเดียวกับบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งผิดหลักเกณฑ์ที่กำนดไว้ ขณะที่อีกบริษัทใช้ใบวิศวกรรมปลอมมายื่นเข้าประมูล ซึ่งจะให้มีการดำเนินคดีเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในอนาคต รวมไปถึงกรณี 4 บริษัทเอกชนที่ได้รับการอนุมัติจากสภาฯ ชุดก่อนให้ขึ้นทะเบียนเพื่อคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้นหรือพีคิวไว้นั้น ส่วนตัวเห็นว่าเป็นการลัดขั้นตอน เพราะถึงปัจจุบันการออกแบบยังไม่แล้วเสร็จ รายละเอียดต่างๆ ยังไม่แน่นอน เนื่องจากล่าสุดอาจมีการขยายระยะเวลาการก่อสร้างจาก 900 วัน เป็น 1,200 วัน และขยายพื้นที่ก่อสร้างจากเดิม 300,000 ตร.ม.เป็น 400,000 ตร.ม.อีกด้วย ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ อดีต ส.ว.สิงห์บุรี ในฐานะกรรมการฯ เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องข้อกฎหมายกับบริษัทเอกชนดังกล่าว

“การจำกัดสิทธิ์ให้เพียง 4 บริษัทนี้ มีสิทธิ์รับงานจึงถือว่าไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ได้มีการส่งหนังสือหารือไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อสอบถามความเป็นไปได้ของการยกเลิกการพีคิวของทั้ง 4 บริษัท เพราะเห็นว่าเมื่อยังไม่ได้ลงนามในสัญญาจ้าง ก็ยังไม่มีผู้ใดเสียหาย อีกทั้งหากมีการร่างเอกสารข้อกำหนดการประกวดราคา (ทีโออาร์) แล้วเสร็จ ทั้ง 4 รายก็ยังมีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลงานอย่างเปิดกว้าง” นายเจริญ กล่าว

นายเจริญ กล่าวย้ำว่า ขณะที่ยังไม่มีผลสรุปว่าจะย้ายสถานที่ก่อสร้างหรือไม่ จึงขอให้บริษัทที่ปรึกษาและผู้ออแบบกลับไปทบทวนข้อสังเกตของกรรมการอย่างรัดกุม เพื่อที่จะนำเสนอมาใหม่ ทั้งนี้หากพบปัญหาในจุดใดต้องขอให้แจ้งให้ทราบอย่างตรงไปตรงมา โดยตนจะสรุปเรื่องทั้งหมด รวมทั้งผลการศึกษาข้อดีข้อเสียพื้นที่ราชพัสดุใหม่ 2 จุด ทั้งที่สนามกอล์ฟชลประทาน จ.นนทบุรี และ ค่ายอดิศร จ.สระบุรี ส่งให้ประธานรัฐสภา ภายในวันที่ 17 ม.ค.นี้ และประธานสภาฯ จะพิจารณาเรื่องให้เสร็จสิ้นว่าจะต้องมีการย้ายสถานที่สร้างสภาแห่งใหม่จากที่เดิมหรือไม่ ทั้งนี้อำนาจการตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่ประธานรัฐสภา

ด้าน นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธุ์ ส.ว.ขอนแก่น ในฐานะรองประธานคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เปิดเผยด้วยว่า ตนได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าประชุมหารือในวันที่ 19 ม.ค.นี้ ถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการในพื้นที่เกียกกาย อาทิ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สมาคมผู้ปกครองและสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนโยธินบูรณะ ผู้อำนวยการโรงเรียนคนเก่าและคนปัจจุบัน เพื่อชี้แจงให้ความมั่นใจเกี่ยวกับการก่อสร้าง และสอบถามถึงกำหนดการย้ายออกจากพื้นที่ ในการนี้ยังได้เชิญ นายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะอดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมเพื่อรับทราบความคืบหน้าของโครงการด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการประชุมได้มีวาระการพิจารณารายงานการสำรวจพื้นที่ราชพัสดุสำหรับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยกรมธนารักษ์ ซึ่งได้นำเสนอ 2 พื้นที่ได้แก่ พื้นที่สนามกอล์ฟกรมชลประทาน จ.นนทบุรี จำนวน 243 ไร่ และพื้นที่ค่ายอดิศร จ.สระบุรี แต่ไม่เปิดให้สื่อมวลชนร่วมรับฟังแต่อย่างใด

สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ 119 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่ราชพัสดุ ถนนทหาร ย่านเกียกกาย มีมูลค่าโครงการ 12,000 ล้านบาท โดยบริษัทผู้รับเหมาที่ผ่านพีคิว หรือผ่านการพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้น 4 รายได้แก่ 1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท เพาเวอร์ไลน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และ 4.บริษัทซินเทค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น