xs
xsm
sm
md
lg

สางปม “รัฐสภาใหม่” กลิ่นทะแม่ง “รองฯเจริญ” ลุยเดี่ยวล้มโคตรโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจริญ จรรย์โกมล
รายงานการเมือง

ยังคงอึมครึมไม่กระเตื้องคืบหน้าไปไหน จนกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองรับปีมังกร 2555 ไปแล้ว สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ “สัปปายะสภาสถาน” มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท บนเนื้อที่ 119 ไร่ย่านเกียกกาย ที่ถึงวันนี้อาจถูกรื้อโครงการใหม่ทั้งกระบิ

หลังจากที่ “เจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ในฐานะคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ รับช่วงต่อจากโครงการในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี “ปู่ชัย ชิดชอบ” จากค่ายภูมิใจไทย นั่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มุ่งหวังว่าจะใส่เกียร์หน้าเดินหน้าโครงการให้สามารถประมูล และปักเสาเข็มให้ได้ในสมัยที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่

แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สำเร็จ

กลายเป็นเป็นมรดกตกทอดมาถึงรัฐสภาในสมัยที่ “ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นั่งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งได้แจกงานให้ “เจริญ” รองประธานสภาฯเจ้าของฉายา “ตี๋น้อย” เข้ามาเป็นเจ้าภาพ และสวมบท “จอมละเอียด” ตรวจสอบผลดำเนินการโครงการที่ผ่านมาอย่างหนัก

ทำให้พบปัญหาที่มีมากเอาการ ตั้งแต่การคัดเลือกแบบก่อสร้างที่ได้ “สัปปายะสภาสถาน” เป็นผู้ชนะเลิศ ขั้นตอนการสรรหาบริษัทที่ปรึกษาออกแบบ ต้นทุนค่าก่อสร้างที่พุ่งสูงขึ้น การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม.ที่อาจจะบดบังทัศนียภาพ ปัญหาน้ำท่วม ระบบรักษาความปลอดภัย และปัญหาการจราจร

ที่หนักที่สุดคงเป็นการจ่ายค่าชดเชยและรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง เหตุเพราะพื้นที่บริเวณที่ราชพัสดุถนนทหาร (เกียกกาย) เขตดุสิต 119 ไร่ริมน้ำเจ้าพระยาที่ว่านั้น มีเจ้าของเดิมครอบครองอยู่ถึง 6 ราย และแต่ละรายมีขั้นตอนเงื่อนไขการอพยพย้ายออกจากพื้นที่แตกต่างกัน จึงทำให้ช่วงเวลาการย้ายออกไม่ตรงกันตามไปด้วย

ตาม “บันทึกข้อตกลง” ที่ลงนามร่วมกันตั้งแต่เมื่อเดือน ส.ค.2551 ระหว่าง รัฐสภา กับ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กรมราชองครักษ์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้อำนวยการโรงเรียนโยธินบูรณะ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และกรมธนารักษ์

ซึ่งทีโออาร์ฉบับนั้นได้ระบุว่าการส่งมอบพื้นที่จะสิ้นสุดในเดือน พ.ย.2555 แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นวันนี้ปรากฎว่า มีเพียง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และชุมชนตระกูลดิษฐ์ เท่านั้นที่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ ส่วนที่เหลือขอขยายระยะเวลาไปทั้งสิ้น โดยเฉพาะ “โรงเรียนโยธินบูรณะ” ที่ยังต้องรอให้อาคารแห่งใหม่ที่สร้างทดแทนให้ที่วัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ แล้วเสร็จก่อน จนคาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้เร็วสุดในช่วงเดือน เม.ย.2557

แค่การส่งพื้นที่ก็ล่าช้าจากกำหนดการเดิมแล้วร่วม 2 ปี

ที่สำคัญยังไม่สามารถการันตีได้ว่าต้นปี 2557 จะได้พื้นที่ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เป็นที่มาของความเป็นห่วงของ “เจริญ” ที่หวั่นว่าอาจต้องเสีย “ค่าโง่” ให้เอกชน หากไม่สามารถเคลียร์พื้นที่ให้ได้ตามสัญญาก่อสร้าง

ทุกอย่างจึงถูกสั่งให้หยุดชะงักทั้งหมด

“มือชั้นเซียน” ระดับ “รองฯเจริญ” ที่เคยสร้างชื่อจากการเป็นประธาน กมธ.ติดตามงบประมาณ สภาฯ ที่ทั้ง “หั่น - ตัด - ทอน” จนนักการเมืองด้วยกันขยาดมาแล้วในอดีต เมื่อมาจับเรื่องรัฐสภาใหม่ก็ไม่ตรวจสอบแค่แตะๆ แต่ล้วงลึกถึงรายละเอียด

ทำให้พบ “ขยะ” ที่ซุกอยู่ใต้พรมเพียบ

โดยเฉพาะเรื่องที่ส่งกลิ่นตุๆ จากการประมูลจัดจ้างบริษัทเอกชน ทั้งในส่วนของการคุมงานก่อสร้าง ที่มีมูลค่าสัญญากว่า 200 ล้านบาท และในส่วนผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่มีมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท

ซึ่งเรื่องที่ตรวจพบเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับโครงการใหญ่ขนาดนี้ คือ 2 บริษัทคุมงานก่อสร้าง กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน “อินเด็กซ์” และ “เอเคเอ็มเอ” ที่ได้รับการสรรหาและลงนามว่าจ้างไปแล้วเมื่อปลายเดือน มิ.ย.2554 ปรากฎว่าทั้ง 2 บริษัทมีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบราชการ โดยบริษัทหนึ่งใช้ใบวิศวกรซ้ำกับบริษัทที่ปรึกษาออกแบบ ขณะที่อีกบริษัทหนึ่งใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม “ปลอม” เนื่องจากตรวจสอบไม่พบในสารบบของสภาวิศวกร

เป็นเหตุให้ “รองฯเจริญ” สั่งการให้ “เอาจริง” ดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างในอนาคต

ความไม่โปร่งใสของโครงการนี้ยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านั้น เพราะเกิดเรื่องพิสดารพันลึก ในการเปิดประมูลสรรหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่ดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ทั้งที่ในเรื่องของแบบก่อสร้าง และรายละเอียดของโครงการยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่กลับมีการสั่งให้เปิดประมูลคุณสมบัติเบื้องต้น หรือที่เรียกกันในวงการรับเหมาว่า “พีคิว” มีบริษัทเอกชนที่ซื้อซองประมูล 14 ราย แต่เข้ายื่นประมูล 6 ราย ก่อนจะเป็นบริษัทเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติ 4 ราย ที่จ่อคิวได้งาน 12,000 ล้านบาทไป เหมือน “ล็อกสเปก” ไม่ให้บริษัทอื่นเข้ามาร่วมวงประมูลด้วย

4 บริษัทที่ว่าประกอบด้วย 1. บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ 4. บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

แต่ละรายถือเป็น “ยักษ์ใหญ่” ในวงการรับเหมาก่อสร้างเมืองไทยทั้งสิ้น และถือเป็น “กลุ่มทุน” ของขั้วการเมืองเจ้าของอำนาจรัฐในวันวานที่วันนี้ต้องมาเป็นฝ่ายค้านแทบทั้งสิ้น เชื่อมโยงเป็นเหตุผลที่ว่า เหตุใดจึงต้องมีการเร่งรีบให้การประมูลเสร็จก่อนที่จะหมดอำนาจลง

เหล่านี้เองที่ “รองฯเจริญ” เล็งเห็นถึงความไม่ชอบมาพากล และหาช่องทาง “ล้มกระดาน” เพื่อให้มีการประมูลใหม่ในเวลาที่เหมาะสม นั่นคือวันที่การออกแบบเสร็จสมบูรณ์ รายละเอียดทุกอย่างลงตัว เคาะราคากลางออกมาได้ และสามารถกำหนดเวลาส่งมอบพื้นที่ครบถ้วน

โดยยกเหตุแห่งความ “รอบคอบ” ขึ้นมา เหมือน “ไว้หน้า” ไม่หักหาญน้ำใจมาแฉผู้มีอำนาจสั่งการคนเดิมว่า มีเอี่ยวในความไม่ชอบมาพากลนี้ด้วย เป็นที่มาของการสั่งการให้ทบทวนทีโออาร์ประกวดราคาใหม่ทั้งหมด เพื่อเปิดกว้างให้ผู้รับเหมารายใหญ่-ย่อย เข้าร่วมวงประมูลตามครรลอง

ไม่เท่านั้นเมื่อปัญหามีมากมายจนยากจะไล่เก็บกวาด ก็มีการเสนอไอเดีย “ย้าย” สถานที่ก่อสร้างอีกครั้ง จากใจกลางเมืองกรุง มุ่งหน้าหนีความวุ่นวายไปปักหลักไกลถึง “ค่ายอดิศร” ในพื้นที่ จ.สระบุรี ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ ในความดูแลของกรมธนารักษ์เช่นกัน

ทำเอานักการเมืองน้อยใหญ่ร้องจ๊าก ที่จู่ๆจะต้องกลับมานับหนึ่งอีกครั้ง

ล่าสุด “รองฯเจริญ” ได้ส่งรายงานเสนอให้ “ทั่นสมศักดิ์” ประธานรัฐสภา เป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย แต่ท่าทีของ “สมศักดิ์” ก็ไม่ได้รับลูกข้อเสนอของ “รองฯเจริญ” ยังออกไปในแนว “แบ่งรับแบ่งสู้” มากกว่า โดยระบุว่า หากต้องย้ายสถานที่จริง ต้องมี “เหตุผลพิเศษจริงๆ” เท่านั้น แถมมีแนวคิดในการดึงสื่อมวลชนร่วมลงชี้ชะตาเรื่องนี้อีกต่างหาก

เรียกว่างานนี้ “รองฯเจริญ” ลุยเดี่ยวไร้แบ็คอัพ


ว่ากันว่าเหตุที่ “ทั่นสมศักดิ์” ยังไม่กล้าฟันธง แม้เห็นด้วยกับปัญหาที่ได้รับรายงานเข้ามา เพราะเคยมีชื่อนั่งร่วมอยู่ในกรรมการชุดที่ทำคลอดคัดเลือกที่ดิน “เกียกกาย” มากับมือ ทั้งยังมีการเบิกใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 7,000 - 8,000 ล้านบาท คงเป็นคำถามที่ต้องตามมาแน่นอนหากตัดสินใจย้ายออกไปจริง

หากประเมินแล้วท้ายที่สุดคงต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วม ส.ส.-ส.ว.เพื่อลงมติตัดสินเรื่องดังกล่าว ก่อนจะมีการตั้งกรรมาธิการวืสามัญขึ้นมาพิจารณาข้อดี-ข้อเสียอีกครั้ง กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการก็คงกินเวลาอีกกว่าครึ่งค่อนปีจะได้บทสรุป

ทั้งนั้นทั้งนี้การย้าย-ไม่ย้ายสถานที่ก่อสร้างคงไม่สำคัญเท่ากับการ “ล้มกระดาน” การประมูลที่ส่งกลิ่นตุๆหวังฟัน “เงินทอน” ให้กลับเข้าสู่กระบวนการที่ถูกตามครรลองคลองธรรม

เรื่องนี้ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ให้สมกับเป็นที่ทำงานของท่านผู้ทรงเกียรติ
กำลังโหลดความคิดเห็น