xs
xsm
sm
md
lg

“เจริญ” ท้าโยนสภาฯชี้ขาดย้ายสถานที่ก่อสร้าง ชี้ เกียกกายปัญหาบานเบอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจริญ จรรย์โกมล
รอง ปธ.สภาฯ ดั้นด้นเดินหน้ากดดัน “ขุนค้อน” ฟันธงย้าย-ไม่ย้าย ที่สร้างสภาฯใหม่ แนะถ้าไม่ชัวร์เอาเข้าที่ประชุมสภาฯก็ไม่มีปัญหา ขีดเส้นต้องเคลียร์ก่อนสิ้นเดือน ม.ค. เชื่อ หากย้ายไป “สระบุรี” ใช้เวลาสร้างไม่ถึง 3 ปี ชี้ “เกียกกาย” ปัญหาบาน สุดท้ายสภาฯอาจต้องทะเลาะกับเด็ก นร.

วันนี้ (19 ม.ค.) นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวถึงกรณีที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ฐานะประธานคณะกรรมการให้คำปรึกษาในการจ้างที่ปรึกษาโครงการและควบคุมงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทำหนังสือรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสภาฯใหม่ ต่อสมาชิกวุฒิสภา ว่า ถือเป็นเรื่องปกติ ที่ นายนิคม จะรายงานความคืบหน้า แต่ตนในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดโครงการก็ต้องทำหน้าที่ เบื้องต้นนั้นได้มีการตรวจสอบและพบความไม่โปร่งใส และอาจกลายเป็นปัญหาที่อนาคตรัฐสภาอาจถูกฟ้องร้องได้ ได้แก่ บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ควบคุมงาน จำนวน 2 บริษัท มีการทำผิดระเบียบ และกฎหมาย เป็นต้น โดยประเด็นนี้ ตนได้สั่งให้ยกเลิกการคัดเลือก 2 บริษัทดังกล่าวแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างข้อกำหนดการประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อหาผู้ควบคุมงานใหม่ อีกทั้งขณะนี้อยู่ระหว่างการการพิจารณาของประธานสภาฯให้ดำเนินคดีกับ 2 บริษัทดังกล่าวด้วย

“ผมได้รับรับมอบหมายให้ทำหน้าที่ติดตามงานก่อสร้างรัฐสภาใหม่ ก็ต้องตรวจสอบให้เกิดความถูกต้อง แต่มีบางคนบอกว่าให้รีบ แต่จะทำได้อย่างไร เพราะพื้นที่ยังไม่ได้รับการส่งมอบ ในอนาคตอาจจะเป็นเรื่องที่น่าอาย หากรัฐสภาเป็นแหล่งผลิตกฎหมายแต่กลับถูกฟ้องซะเอง และหลายคนพยายามโยงไปถึงเรื่องผลประโยชน์ ผลประโยชน์อะไรยังไม่เห็นมีอะไรเลย แต่หากเราเดินหน้าเซนต์สัญญา เราต้องแอดวานซ์เอา 1,800 ล้านบาท ที่สำคัญ หากเราส่งมอบพื้นที่ล่าช้า นอกจากจะถูกฟ้องว่าทำผิดสัญญาแล้ว อาจจะบวกสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่าเค) ด้วย” นายเจริญ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานในช่วงบ่าย นายเจริญ ได้ลงพื้นที่บริเวณเกียกกาย เพื่อสำรวจความคืบหน้าการเวนคืนพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ พร้อมเปิดเผยเพิ่มเติมถึงรายงานผลสรุปของคณะกรรมการที่ได้ส่งให้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร พิจารณา ในประเด็นการย้ายสถานที่ก่อสร้างหรือไม่ โดยกล่าวว่า ส่วนตัวอยากได้ข้อสรุปโดยเร็ว หากเป็นไปได้ควรจะเป็นก่อนสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ส่วนกรณีที่ นายสมศักดิ์ ระบุว่า จะนำเข้าเป็นวาระการประชุมเพื่อให้ที่ประชุมสภาฯเป็นผู้ลงมติตัดสินใจว่าย้ายหรือไม่ย้ายนั้น ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ อย่างไรก็ตาม อยากให้ นายสมศักดิ์ กล้าตัดสินใจ เพราะถือเป็นผู้มีสิทธิ์ขาด เพราะถือเป็นในส่วนของนโยบาย สำหรับการชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกถือเป็นเพียงวิธีการเท่านั้น ทั้งนี้ หากมีการตัดสินใจย้ายสถานที่จริง ก็ต้องมีการนำความเพื่อกราบบังคมทูล เพื่อให้มีพระราชวินิจฉัยลงมาก่อน

นายเจริญ กล่าวอีกว่า เชื่อว่า หากมีการตัดสินใจได้เร็วก็จะทำให้โครงการสามารถเดินหน้าได้ โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ จ.สระบุรี ที่มีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยที่กรรมการฯให้ความเป็นห่วงกันมาก ถ้าเริ่มได้ก็อาจจะแล้วเสร็จก่อน 900 วันที่กำหนดไว้เดิมด้วยซ้ำ แต่หากยังคงใช้พื้นที่เดิมบริเวณเกียกกายนี้อยู่ ก็อาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 5 ปี เพราะต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องการเวนคืนที่ยังไม่มีหลักประกันว่าจะสามารถใช้พื้นที่ในการก่อสร้างได้ตามกำหนด เพราะที่ดินทั้งหมด 119 ไร่นั้นแบ่งเป็น 6 แปลง 6 เจ้าของ และมีกำหนดการย้ายออกไม่พร้อมกัน สุดท้ายก็จะกลายเป็นปัญหาในที่สุด

รองประธานสภาฯ กล่าวอีกว่า ท้ายที่สุดสภาฯอาจถูกฟ้องเสียค่าโง่อย่างเรื่องทางด่วน หรือมีเรื่องคาราคาซังเหมือนกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับชุมชนในละแวกแอร์พอร์ตลิงก์ที่ยังฟ้องร้องกันอยู่ในตอนนี้ ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคืนในส่วนของโรงเรียนโยธินบูรณะ ที่ยังไม่สามรารถตกลงกันได้แม้ว่าจะเพิ่มมูลค่าการเวนคืนให้แล้วก็ตาม ท้ายที่สุดจะเป็นเรื่องของมวลชนที่ไม่ยอมย้ายออก และทำให้สภาฯต้องไปทะเลาะกับนักเรียน หรือแม้แต่ข้อติดขัดเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำเจาพระยาของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะสร้างบริเวณ ถ.ทหารนั้น ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป จุดนี้ก็อยากเชิญ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เข้ามาร่วมหารืออีกครั้งด้วย

“เราลงทุน 20,000 กว่าล้านบาทที่เป็นเงินจากภาษีของประชาชน ไม่ควรมีความเสี่ยงใดๆ ทั้งเรื่องน้ำท่วม หรือระบบการรักษาความปลอดภัย ดังนั้น เรื่องของความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ และอาคารรัฐสภาใหม่ก็จะถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศ ดังนั้น ยืนยันว่า ผมคำนึงถึงเรื่องผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักอย่างแน่นอน หากมีการย้ายไปที่ จ.สระบุรี จริงก็ไม่ควรนำเรื่องความลำบากในการเดินทางมาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ เพราะเป็นเพียงเรื่องของแต่ละบุคคลเท่านั้น” นายเจริญ ระบุ

ขณะที่ นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ ส.ว.ของแก่น ในฐานะรองประธานคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดโครงการก่อสร้าง ได้เป็นประธานในการประชุมเพื่อติดตามการย้ายอาคาร สถานที่ออกจากพื้นที่ก่อสร้างสภาใหม่ ร่วมกับเลขาสำนักงานส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ผู้อำนวยการ และอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนโยธินบูรณะ จากนั้น นายประเสริฐ แถลงว่า ทีมโรงเรียนยืนยันว่าจะย้ายออกอย่างแน่นอน แต่ต้องรอเวลาในการก่อสร้างโรงเรียนให้แล้วเสร็จก่อน เบื้องต้นคาดว่า จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.56 จากนั้นจะทำเรื่องให้กรมธนารักษ์ทุบอาคารเรียนซึ่งต้องใช้เวลาอีก ประมาณ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม เนื้อที่ก่อสร้างอีก 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นของหน่วยงานทหารที่ขณะนี้พบว่ายังไม่มีการรื้อย้ายอาคารใดๆ ทั้งสิ้น

“ในกรรมการเร่งรัดฯมองว่า หากรอให้มีการรื้ออาคารในพื้นที่ก่อสร้างออกไป อาจใช้เวลามากกว่าหาพื้นที่ใหม่เพื่อก่อสร้าง ดังนั้น กรรมการจึงเห็นตรงกันโดยไม่มีข้อโต้แย้งว่าควรย้ายพื้นที่ก่อสร้าง และเมื่อย้ายพื้นที่แล้วเชื่อว่าอาจใช้เวลาไม่เกิน 600 วันก่อสร้างจะแล้วเสร็จ” นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นจะย้ายหรือไม่นั้น เป็นดุลพินิจของ นายสมศักดิ์ เบื้องต้นนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีพิจารณาให้รอบคอบ ด้วยการนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา และเมื่อที่ประชุมเห็นว่าควรย้าย ควรเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณานำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ให้ทรงทราบ
กำลังโหลดความคิดเห็น