xs
xsm
sm
md
lg

“ธนารักษ์” เตรียมเชือดบิ๊ก ขรก.โยงค่าโง่ “บีทีเอส-ที่ดินหมอชิต” พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธนารักษ์” ตั้งกรรมการสอบ “ที่ดินหมอชิต” หาคนรับผิดหลังจ่ายค่าชดเชยให้บีทีเอสซี 1,097 ล้าน เล็งฟ้องแพ่งกราวรูด แม้หลายคนจะเกษียณไปแล้ว ลั่นไม่ใช่ค่าโง่แน่นอน เพราะมีช่องทางเรียกเงินคืน เตรียมเสนอ รมช.คลัง เดินหน้าโครงการฯ อีกครั้ง

นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อสอบสวนกรณีที่กรมธนารักษ์ต้องชำระค่าชดเชยงานก่อสร้าง (ค่าฐานราก) ให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด 1,097 ล้านบาท เนื่องจากไม่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ตามคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยจะสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2537 ว่ามีบุคคลหรือหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้อง และหลังจากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการหาผู้รับผิดทางละเมิดต่อไป

“เราได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบว่ามีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีหน่วยงานใดที่ต้องรับผิดชอบด้วย นับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ซึ่งเมื่อรู้ตัวแล้วก็จะตั้งคณะกรรมการ หาผู้รับผิดทางละเมิดต่อ โดยแม้ว่า บางคนอาจจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ถ้าพบว่าผิด ซึ่งต้องดูว่ามีใครจงใจประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ถ้าพบมีจริงก็จะต้องมีการฟ้องร้องทางแพ่ง เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว”

สำหรับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหลังจากกรมธนารักษ์ได้ให้บีทีเอสใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุ บริเวณหมอชิตเก่า เพื่อใช้เป็นที่ตั้งโรงจอด และซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า จากนั้นบีทีเอสก็ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงจอดและซ่อมบำรุงเสร็จ พร้อมได้ทำการก่อสร้างฐานรากเผื่อให้กับโครงการ สถานีขนส่ง และพื้นที่ธุรกิจอื่นด้วย

ขณะเดียวกัน กรมธนารักษ์ก็ได้เปิดประมูลให้เอกชน รายอื่นเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวด้วย หรือในโครงการสถานีขนส่งและพื้นที่ธุรกิจอื่น โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ชนะการประมูล ต้องเป็นผู้จ่ายค่าฐานรากเพิ่มเติมให้บีทีเอส ปรากฏว่า บริษัท ซันแอสเตท จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด หรือบีเคที) เป็นผู้ชนะการประมูล

ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า การพัฒนาที่ดินราชพัสดุบริเวณดังกล่าว กรมธนารักษ์ไม่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนทำให้สัญญาระหว่างกรมธนารักษ์ และบีเคที ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมธนารักษ์จึงไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้บีเคทีเข้าไปดำเนินโครงการตามสัญญาได้ ดังนั้น บีเคทีจึงไม่จ่ายค่าฐานรากให้กับบีทีเอส ทำให้บีทีเอสเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบีเคที กรมธนารักษ์ และกระทรวงการคลัง ให้ร่วมกันจ่ายเงินชดเชยค่าฐานรากดังกล่าว

นายนริศกล่าวว่า กรมธนารักษ์ยังเตรียมเสนอให้นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาเดินหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ หมอชิต ต่อไป โดยการดำเนินการครั้งใหม่นี้จะให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน เพราะมองว่าหากโครงการเดินหน้าต่อไปได้ ความเสียหายที่ต้องจ่ายไปจะสามารถกลับคืนมาได้ทั้งหมด หรือได้จากผู้ลงทุนรายใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ก็เคยเสนอเดินหน้าหลายครั้งหลังมีคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา แต่สุดท้ายก็ขึ้นกับนโยบายของรัฐมนตรีคลังในแต่ละสมัย

“คนบอกว่าเป็นค่าโง่ แต่คงไม่ใช่ เพราะถ้าค่าโง่จะเสียไปเปล่าๆ เอาคืนไม่ได้ แต่นี่ถ้าโครงการเดินหน้าต่อไปได้ สุดท้ายแล้วค่าชดเชยที่จ่ายไป ก็จะได้กลับคืนมาทั้งหมด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินมูลค่าโครงการใหม่ แต่เบื้องต้นคาดว่าไม่แตกต่างไปจากเดิม ที่มีมูลค่าราว 1.8 หมื่นล้านบาทมากนัก ซึ่งจะต้องรวมในส่วนของค่าชดเชยที่จ่ายให้บีทีเอสอีกด้วย”

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เห็นชอบให้เดินหน้าเรื่องนี้ต่อแล้ว และคาดว่าจะเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนจะให้รายเดิม คือ บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด หรือไม่นั้น ต้องเสนอ ครม.ตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน และให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นผู้ชี้ขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น