ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ยังไม่เข้ารูปเข้ารอย ขยับเดินหน้าปักเสาเข็มไม่ได้เสียทีสำหรับ “สัปปายะสภาสถาน” หรือรัฐสภาไทยแห่งใหม่ ซึ่งจะมาเป็นที่ทำการของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” หลังจากที่อาคารหลังเก่าทรุดโทรม และใช้มานานหลายสิบปี อีกทั้งพื้นที่ทำงานสำหรับพะนะทั่นผู้แทนราษฎรทั้ง ส.ส.-ส.ว.และทีมงานคับแคบไม่เป็นสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ
ย้อนกลับไปแนวความคิดในการสร้างอาคารรัฐสภาหลังใหม่นี้มีมานานแล้ว แต่มาสัมฤทธิ์ผลเริ่มนับหนึ่งได้เมื่อปี 2551 สมัยรัฐบาล“สมัคร สุนทรเวช” ผู้ล่วงลับ ที่กดปุ่มอนุมัติงบก้อนโต 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดสร้าง รวมทั้งยังเคาะโต๊ะชี้ชัดให้สร้างบนเนื้อที่ 119 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่ดินราชพัสดุ ถ.เกียกกาย เขตดุสิต หลังถกเถียงกันมานานในเรื่องสถานที่
ต่อมาก็ได้ทำการคัดเลือกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เสร็จไปตั้งแต่ปลายปี 2552 จนเป็นที่มาของชื่อเรียกยาก “สัปปายะสภาสถาน” ที่แปลว่า “สถานที่ประกอบกรรมดี”
คนหนึ่งที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการจัดที่ทำงานใหม่ให้กับฝ่ายนิติบัญญัติคือ “ปู่ชัย ชิดชอบ” ในสมัยที่ประธานรัฐสภา ที่เตรียมการเบื้องต้นสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการจนเกือบจะเริ่มประมูลได้ แต่ “ปู่ชัย” ก็จำต้องพ้นจากตำแหน่งไปก่อน
ภารกิจนี้จึงตกมาถึงรัฐสภาภายใต้การนำของ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติคนปัจจุบัน ที่ได้มอบหมายความรับผิดชอบให้แก่ “เจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ในฐานะ “ประธานคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่”
พลันที่ “รองฯเจริญ” เข้ามาจับงานก็ได้เรียกทุกฝ่ายมาหารือ และรายงานความคืบหน้าของโครงการทันที ทำให้พบว่าแผนงานล่าช้ากว่าที่คาดไว้ มีปัญหาในรายละเอียดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ“เจ้าของพื้นที่เดิม” ทั้ง “โรงเรียนโยธินบูรณะ - โรงเรียนขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) - ชุมชุมย่านเกียกกาย” ที่ยังไม่ย้ายออกจากพื้นที่ แม้จะได้รับค่าเวนคืนไปแล้วก็ตาม แต่อาคารที่รัฐสภาต้องสร้างชดเชยในที่ผืนใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ แถมยังมาติดขัดช่วงน้ำท่วมใหญ่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าเข้าไปอีก ทำให้ยังไม่สามารถรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมและดำเนินการตั้งราคากลางได้
เป็นเหตุให้จากความมั่นใจที่จะสร้างเสร็จทัน ส.ส.ชุดนี้ ต้องเขยิบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ด้วยความไม่เรียบร้อยดังกล่าวจึงทำให้ “รองฯเจริญ” สั่งระงับการดำเนินการในทุกขั้นตอน เพื่อรอให้คณะกรรมการกำหนดราคากลางยุติเสียก่อน คาดว่าปลายเดือน ม.ค.55 จะเสร็จสิ้น และเดินหน้ายื่นซองประมูลประกวดราคากันต่อไป หากไม่มีอุบัติเหตุหรืออุปสรรคไม่คาดฝันอีก เชื่อว่าต้นปี 2556 จะสามารถปักเสาเข็มได้
ซึ่งการที่สั่งให้ระงับการดำเนินการทุกอย่าง ก็เพราะ “รองฯเจริญ” ต้องการดำเนินโครงการนี้อย่างรอบคอบ และไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเหมือนกรณี “ค่าโง่ทางด่วน” ที่เอกชนมาฟ้องร้องรัฐในภายหลัง เพราะไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามสัญญา
ถือคติช้าๆได้พร้าเล่มงาม แต่มั่นใจว่าจะไม่เป็นโครงการ “สามชั่วโคตร” แน่ๆ
แต่อย่างไรพะนะทั่น ส.ส.-ส.ว.ก็ต้องเป็นแม่สายบัวรอคอยกันต่อไป หากอยากมีส่วนร่วมใช้ “ของใหม่” ก็ต้องพยายามรักษาตำแหน่งให้ได้ หากมีการเลือกตั้งรอบใหม่ เพราะแม้จะเริ่มปักเสาเข็มต้นปี2556 แต่ระยะเวลาก่อสร้างที่กำหนดไว้เบื้องต้น ก็กินเวลาถึง 900 วัน หรือกว่า 2 ปีครึ่ง
อย่างเร็วคงเป็นช่วงกลางปี 2558 ที่จะได้ยลโฉมที่ทำการใหม่ของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” กัน
กว่าจะถึงตอนนั้น ไม่แน่อาจ “ล้มกระดาน” เลือกตั้งใหม่ไปแล้วสองสามรอบแล้วก็ได้