ASTVผู้จัดการ - บก.ข่าวช่องโอ๊ค-เอม “ธีรัตถ์ รัตนเสวี” อดีตลูกหม้อไอทีวี-ไทยพีบีเอส ระบายแค้นผ่านทวิตเตอร์ ซัดทีวีสาธารณะมีไปก็เปลืองภาษี เสียดายเงิน 2 พันล้าน เนื้อหามีวาระซ่อนเร้น คนทำงานมีอคติทางความคิด ฉะสภาผู้ชมมีแต่เอ็นจีโอ อยากได้โน่นนี่แล้วแจกค่าเดินทาง ผสมโรงเสื้อแดงด่า กก.นโยบาย มีแต่เอ็นจีโอสายอำมาตย์ กับฝ่ายบริหารจากเนชั่น
วานนี้ (8 ก.ย.) นายธีรัตถ์ รัตนเสวี อดีตคนข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมวอยซ์ทีวี ได้โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ @teeratr โดยกล่าวถึงกรณีที่ นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยรายงานผลการปฏิบัติงานของไทยพีบีเอส ประจำปี 2553
นายธีรัตถ์ ระบุว่า เสียดายวันนี้ลืมฟังสภาที่อภิปรายเรื่อง ไทยพีบีเอส มรดกจากรัฐประหาร โดนจัดหนักจากทั้งเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ การแถลงผลงานของไทยพีบีเอสในสภา สบายมาหลายปี ครั้งนี้ถูกวิพากษ์หนัก ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล สรุปส่วนตัวง่ายๆ ว่า สื่อนี้มีไปก็เปลืองภาษี ในฐานะคนหนึ่งทีเคยทำงานในไทยพีบีเอส เห็นได้ชัดว่า การนำเสนอเนื้อหาล้วนมีวาระซ่อนเร้น เอื้อประโยชน์พรรคพวกตัวเองและมีอคติ
“ตราบใดก็ตามที่คนบริหารงานในไทยพีบีเอส ยังมีอคติทางความคิด ไม่เปิดกว้าง การยอมรับของประชาชนนับวันก็จะน้อยลง ปัจจุบันสื่อเปลี่ยนไปอย่างมาก ความคิดคับแคบที่จะครอบงำประชาชนด้วยโทรทัศน์แบบไทยพีบีเอส จะไม่สัมฤทธิ์ผล เสียดายเงินภาษี 2,000 ล้านบาท ที่รัฐให้ไทยพีบีเอสไปถลุง 3 ปีกว่า ไม่สามารถทำให้เป็น “ทีวีที่คุณวางใจ” เหมือนสโลแกนที่ตั้งไว้หลอกตัวเองได้เลย” นายธีรัตถ์ โพสต์ข้อความ
อดีตคนข่าวไอทีวี ยังโพสต์ข้อความต่อว่า ถึงเวลาอย่างจริงจัง ที่ควรต้องมีพิจารณาผลการดำเนินงาน และการใช้เงินของไทยพีบีเอสอย่างจริงจัง เพราะมีการใช้เงินในทางที่ผิดอย่างมาก 3 ปีกว่าของไทยพีบีเอส ยังไม่สามารถมีรายการที่เป็นธงนำที่ทำให้คนสนใจได้ แต่กลับไปเร่งสร้างที่ทำการใหม่ให้เป็นอนุสรณ์สถานของผู้บริหาร โชคดีที่ไทยพีบีเอสยังมีฝ่ายรายการพยายามเลือกสรรรายการที่ดีออกมาให้ได้ดูกันบ้าง
นอกจากนี้ ความโปร่งใสของการจัดจ้างบริษัทมารับผลิตงานให้ไทยพีบีเอส ควรได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นมากกว่านี้ บทบาทของสภาผู้ชมไทยพีบีเอส สมัยที่ตนอยู่ ก็งงๆ เอาเครือข่าย NGO (องค์กรพัฒนาเอกชน) มาประชุมกันอยากได้โน่นอยากได้นี่ แล้วก็แจกเงินค่าเดินทางที่มาประชุม ตนมักจะสรุปว่า ไทยพีบีเอส เป็นแหล่งรวม NGO ที่อยากทำทีวี โดยเอาภาษีประชาชนทั้งประเทศไปผลิตกันเอง ดูกันเอง ปัจจุบันคนรับชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเกินร้อยละ 60 ของประชาชนทั้งประเทศไปแล้ว เรตติ้งที่จัดทำพบว่าฟรีทีวีหลายช่องแพ้ทีวีดาวเทียม “ราบคาบ”
อย่างไรก็ตาม นายธีรัตถ์ ได้ตอบคำถามผู้ที่ติดตาม (Followers) รายหนึ่งว่า อุตสาหกรรมทีวีวัดกันที่เรตติ้ง รายการคุณภาพดีตนไม่เถียง แต่เรตติ้งข่าวร่วงหนัก เมื่อเทียบกับสมัยเป็นไอทีวี แสดงว่าอะไร วันนี้ที่ตนเขียน ตนวิจารณ์ในฐานะคนที่เคยทำงานตั้งแต่วันแรกในฐานะผู้บริหาร สิ่งที่คนทำงานโดนกดดัน จนตัดสินใจลาออกก็แค่นั้น
“ผมเคยมีความมุ่งมั่นว่าอยากเห็นสื่อสาธารณะอย่าง BBC จึงตัดสินใจไปร่วมงาน ทั้งๆ ที่วันที่ไอทีวีจอมืด ผมมี Job offered อื่นรออยู่แล้ว แต่การบริหารจัดการภายใน มันเป็นการเอื้อพวกพ้อง องค์กรขาดความสามัคคี คนที่เคยร่วมอุดมการณ์หวังเห็นสื่อดีๆ ก็เดินออกมากัน” นายธีรัตถ์ ตอบคำถามผู้ที่ติดตาม
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้นได้มีผู้ใช้นาม @cinder ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ทวีตข้อความกล่าวหา ว่า “ไทยพีบีเอสประกอบด้วยกรรมการนโยบายที่ส่วนใหญ่จะเป็นนักวิชาการ กับ NGO สายอำมาตย์-พันธมิตรฯ กับฝ่ายบริหารที่มาจากเนชั่น ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ค่อยถูกกัน” ซึ่ง นายธีรัตถ์ ได้รีทวีตข้อความดังกล่าวด้วย
สำหรับ นายธีรัตถ์ เคยเป็นบรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ และพิธีกรรายการเส้นทางนักลงทุน ของไอทีวี ซึ่งที่ผ่านมาไอทีวีถูกเครือชินคอร์ปเทกโอเวอร์ด้วยการกวาดซื้อหุ้นสามัญ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพียงรายเดียวในไอทีวี ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2550 สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้บอกเลิกสัญญากับไอทีวี หลังจากไม่สามารถชำระค่าสัมปทาน และค่าปรับผิดสัญญาคงค้าง คิดเป็นเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทได้ทันตามกำหนด
จากนั้นกรมประชาสัมพันธ์เข้ามาดูแลสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ช่อง 29 แทนไอทีวี และเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี โดย นายธีรัตถ์ ยังทำงานอยู่เช่นเดิม พร้อมพนักงานไอทีวีคนอื่นๆ จากนั้นวันที่ 15 ม.ค.2551 ทีไอทีวีได้ยุติการออกอากาศและถูกโอนกิจการไปเป็นของ ส.ส.ท.ก่อนที่จะแปลงสภาพเป็นทีวีสาธารณะไทยพีบีเอส กระทั่ง นายธีรัตถ์ ได้เข้ามาเป็นบรรณาธิการบริหารฝ่ายปฏิบัติการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสระยะหนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลานั้นผู้ประกาศข่าว พิธีกร และพนักงานไอทีวีคนอื่นๆ ได้ย้ายไปทำงานให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 หรือเอ็นบีที ซึ่งได้รับสัมปทานผลิตรายการข่าว
อย่างไรก็ตาม ในภายหลัง นายธีรัตถ์ ได้ลาออกจากไทยพีบีเอส และเข้ามาทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการข่าว รวมทั้งเป็นพิธีกรรายการข่าวเศรษฐกิจ และรายการสนทนาข่าว ของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมวอยซ์ ทีวี ซึ่งมี นายพานทองแท้ และ นางสาวพินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของสถานีในฐานะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ ยังมี นายทรงศักดิ์ เปรมสุข อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท ไอทีวี ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการผู้อำนวยการวอยซ์ทีวี รวมทั้ง นางสาวตวงพร อัศววิไล บรรณาธิการข่าวการเมืองไอทีวี ปัจจุบันยังเป็นบรรณาธิการข่าวการเมืองของวอยซ์ทีวีอีกด้วย