xs
xsm
sm
md
lg

โอนหนี้ 1.14 ล้านล้าน ทำเป็นร่างพระราชบัญญัติเถอะ !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกำลังใช้สถานการณ์มหาอุทกภัยซึ่งเป็นเหตุการณ์ “ปัจจุบัน” ให้เป็นประโยชน์อย่างน่าขยะแขยง !

โดยผนวกเอาเรื่องการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งเป็นเรื่อง “อนาคต” กับการแก้ปัญหาภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาทซึ่งเป็นเรื่อง “อดีต” มาผูกรวมเป็นเรื่องเดียวกัน

เพื่อที่จะใช้ชุดวิธีการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนไปในคราวเดียวกัน

คือการออกเป็นพระราชกำหนดรวม 4 ฉบับ

ที่น่าขยะแขยงก็เพราะก่อนหน้านี้ตั้งแต่ยังไม่แถลงนโยบายด้วยซ้ำไป รัฐมนตรีหน้าปรุ ๆ คนหนึ่งของรัฐบาลนี้ก็เที่ยวโพนทะนาว่ารัฐบาลมีนโยบายจัดตั้ง “กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ” โดยจะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ขณะนี้มีมากเกินความจำเป็นมาเป็นทุนประเดิมสัก 10,000 ล้านดอลลาร์ แพลม ๆ ออกมาด้วยซ้ำว่าจะไปลงทุนไปนวัตกรรมการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะได้ผลตอบแทนดีกว่าเดิม อาทิ บ่อน้ำมัน เหมืองทอง ฯลฯ รวมทั้งบ่อน้ำมันในอ่าวไทยที่จะต้องเร่งเจรจาเพื่อร่วมมือกับกัมพูชา แต่แล้วก็ไปไม่รอดเพราะกระแสสังคมยังไม่เห็นด้วยในหลายประเด็นด้วยกัน พอเกิดน้ำท่วมได้ไม่กี่วัน นายรัฐมนตรีหน้าเดิมคนนี้ก็ออกมาปูดอีกว่ารัฐบาลจะมีโครงการ “นิวไทยแลนด์” ลงทุนสัก 6 – 8 แสนล้านบาท โดยลงทุนก่อนในปีแรก 1 แสนล้านบาท กระเจิงกลับไปอีกเหมือนกันเพราะตอบสังคมไม่ได้ในรายละเอียด และที่สำคัญนายรัฐมนตรีคนนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือพอ

น้ำท่วมหนักกว่าที่คิด รัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่า “การปรับคณะรัฐมนตรีทางประตูหลัง (Backdoor Reshuffle)” ด้วยการตั้ง กยอ. และ กยน. ขึ้นมา

ดร.วีรพงษ์ รามางกูรพูดอะไรออกมายังไงก็ดูน่าเชื่อถือกว่านายรัฐมนตรีคนนั้นแน่นอน !

ยิ่งใช้สถานการณ์ “ปัจจุบัน” ที่พี่น้องประชาชนไม่ต้องการเห็นน้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้นอีกในไม่กี่เดือนข้างหน้ามาเป็นหัวรถจักรนำ ก็จะสามารถลากเรื่อง “อนาคต” การลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานพ่วงท้ายเข้าไปได้ไม่ยาก และไหน ๆ ก็ไหนแล้ว ลากเรื่อง “อดีต” หนี้กองทุนฟื้นฟูฯที่ทำให้รัฐมีภาระงบประมาณตั้งจ่ายดอกเบี้ยปีละประมาณ 50,000 ล้านบาทมาพ่วงท้ายเข้าไปด้วยอีกโบกี้ก็จะเป็นเสมือนยิงปืนด้วยกระสุนนัดเดียวไม่ใช่แค่ได้นก 3 ตัวแต่ได้ทั้งฝูงเลย

- การใช้เงินตามนโยบายประชานิยมที่หาเสียงไว้ก็ไม่ต้องชลอไม่ต้องเลิก แถมมีโอกาสเพิ่มได้อีกเพราะงบประมาณรายจ่ายจะลดลงไป 50,000 ล้านบาทเพราะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯออกไปพ้นตัว รวม ๆ แล้วอีก 3 ปีงบประมาณที่เหลืออยู่ก็จะเป็นเงินรวม 150,000 ล้านบาทโดยประมาณ

- ได้ลงทุนใหม่อีกหลายแสนล้านบาทในโครงการใหญ่ตลอดวาระที่เหลืออยู่อีก 3 ปีเศษ

- ได้ใช้อำนาจรัฐที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชนขืนใจธนาคารแห่งประเทศไทยให้ต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากจะทำ ถ้าขวาง ถ้าแข็งขืน ก็จะนำไปสู่การแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยให้รัฐบาลมีอำนาจเหนือชัดเจนยิ่งขึ้น

วันนี้เราไม่ได้ยินเรื่องกองทุนความมั่งคั่ง ไม่ได้ยินเรื่องนิวไทยแลนด์ แต่จะมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศเป็นชื่อใหม่ขึ้นมาแทน โดยจะเป็น 1 ใน 4 ของชุดพระราชกำหนด ที่จะให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท

พระราชกำหนดกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทนี้เป็นเรื่อง “ปัจจุบัน” + “อนาคต” ที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก อาจจะเพาะมันเร่าร้อนน้อยกว่าเรื่อง “อดีต” คือพระราชกำหนดโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาทที่เป็นประเด็นใหญ่อยู่ในขณะนี้

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ออกโรงคัดค้านเสียงแข็งในหน้าเฟซบุ๊คของผมตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากเห็นร่างพระราชกำหนดฉบับนี้เผยแพร่ออกมาทางหน้าเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เพราะเห็นว่าคนเขียนกฎหมายเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 ไร้หิริโอตตัปปะ และเหี้ยมเกินไป คำย่อที่ผมใช้เพื่อให้เข้าใจง่ายคือ...

“3 ปล้น 1 ทำลาย”

ปล้นธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมาตรา 7(1) และ 7(3), ปล้นทุนสำรองระหว่างประเทศ-ทุนสำรองพิเศษทางอ้อมโดยใช้วิธีแทงสนุ๊กใช้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นลูกบ๋อยไปแก้พ.ร.บ.เงินตราว่าด้วยวิธีการรับรู้บัญชีของบัญชีทุนสำรองพิเศษ ในมาตรา 7(2), ปล้นสถาบันการเงินซึ่งจะส่งต่อภาระมาให้ประชาชนและภาคธุรกิจผู้ฝากเงินและกู้เงิน ในมาตรา 8 - 9, ทำลายระบบธนาคารกลาง โดยวิธีเขียนกฎหมายแบบนิติกรรมอำพรางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบกำกับดูแลการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแต่ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนดการจัดลำดับการชำระหนี้ ในมาตรา 4

ซึ่งโดยรวมก็คือปล้นชาติปล้นประชาชนและทำลายระบบเศรษฐกิจชาติ

แม้หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนจะละสังขารไปแล้ว แต่คณะศิษย์ของท่านทั้งบรรพชิตและฆราวาสยังต่อสู้ปกป้องคลังหลวง หรือบัญชีทุนสำรองพิเศษ อย่างแข็งขัน เมื่อรู้ข่าวว่าร่างพระราชกำหนดฉบับนี้มีส่วนกระทบไปยังคลังหลวงก็ออกมาเคลื่อนไหวไปยังจุดต่าง ๆ ตลอดสัปดาห์ที่แล้วและยังจะเคลื่อนไหวต่อในสัปดาห์นี้

พูดแล้วก็ขนลุก หลวงตาฯท่านมองการณ์ไกลเหมือนตาเห็นอนาคตทะลุปรุโปร่ง

เรื่องจะมาทุบคลังหลวงล้วงเงินไปล้างหนี้กองทุนฟื้นฟูฯมีความพยายามมาแล้วแททุกรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2543 เรื่องรวมบัญชี ปี 2550 เรื่องเปลี่ยนวิธีการรับรู้บัญชีของบัญชีทุนสำรองพิเศษ รัฐบาลที่แล้วก็คิดแต่ไม่ทันได้ขยับ ไม่สำเร็จสักครั้ง มีสำเร็จอยู่ครั้งเดียวในปี 2545 ที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้นคือม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลไปกราบขอหลวงตาฯขอให้เงินส่วนที่เหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีไปใช้หนี้เงินต้นกองทุนฟื้นฟูฯได้ หลวงตาฯท่านมีเมตตาอนุญาต จึงเป็นที่มาของพระราชกำหนดฯปี 2545 มาตรา 8 วรรคสอง

เหมือนคลังหลวงมีพระคุ้มครอง มีวิญญาณและพระวิญญาณของบรรพบุรุษและบุรพกษัตริย์คุ้มครอง พระราชกำหนดฯปี 2545 วรรคสองไม่เกิดผลมากนัก เพราะบัญชีผลประโยชน์ประจำปีแทบไม่เหลือหลังจากตีราคาสินทรัพย์ปลายปี เพราะพ.ร.บ.เงินตรากำหนดให้วิธีการรับรู้บัญชีของบัญชีสำรองพิเศษนี้รับรู้แต่กำไรอย่างเดียว ไม่รับรู้เรื่องขาดทุน หากขาดทุนไม่ว่าจะจากการซื้อขายจริงหรือการตีราคาต้องไปรับรู้บัญชีในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี

ประเด็นการรับรู้บัญชีนี่แหละที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็อยากแก้ไขพ.ร.บ.เงินตรา แต่ศิษย์หลวงตายังไม่เห็นด้วย

พระราชกำหนดโอนหนี้มาตรา 7(2) และมาตรา 12 ที่จะออกมาตามร่างแรกนั้นความจริงก็ไม่ได้แตะคลังหลวงมากไปกว่าพระราชกำหนดฯปี 2545 มาตรา 8 วรรคสอง เพียงแต่แก้ไขเพื่อให้สมารถนำมาใช้ทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย จากเดิมที่ให้ใช้หนี้เงินต้นอย่างเดียว

แต่เขียนไว้ก็ไม่มีประโยชน์ หากไม่มีการแก้ไขพ.ร.บ.เงินตรา เพียงแต่รัฐบาลไม่อยากทะเลาะกับพระ ไม่อยากเสนอแก้เองในชั้นนี้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่แบงก์ชาติ

ถ้ายังเกรงใจศิษย์หลวงตาฯจนไม่กล้าแก้แบงก์ชาติก็ต้องหาเงินจากส่วนอื่นมาใช้แทน


กระแสคัดค้านทำให้มีการแก้ไขปรับปรุงร่าง อาจจะมีตัดมาตรา 7(3) ที่ร้ายแรงที่สุด, ปรับมาตรา 7(1) ส่วนมาตรา 7(2) นั้นยังไม่แน่ใจ

ทางที่ดีที่สุดคือแยกเรื่อง “อดีต” (และ “อนาคต”) ออกมาจาก “ปัจจุบัน” เสียเถอะ

ทำเรื่อง “อดีต” และ “อนาคต” ในรูป “ร่างพระราชบัญญัติ” เพื่อความโปร่งใสดีกว่า !
กำลังโหลดความคิดเห็น