รายงาน
วันที่ 15 ธ.ค.54 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันแรกที่เรือสินค้าจีน สตาร์ทเครื่องแล่นออกจากท่าเรือเชียงแสน 1 อ.เชียงแสน จ.เชียงราย วิ่งทวนกระแสน้ำโขงกลับไปยังท่าเรือกวนเหล่ย เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากที่เพิ่งล่องลงมาเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.54
แต่ขบวนเรือสินค้าจีนที่วิ่งขึ้นล่องในแม่น้ำโขงตอนบนจากนี้เป็นต้นไป ดูเหมือนจะต้องอยู่ภายใต้การคุ้มกันของกองกำลังติดอาวุธ 4 ชาติทั้ง จีน พม่า ลาว และไทย ตลอดเส้นทางเดินเรือ 264 กม. เพื่อป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นเหมือน 5 ต.ค.54
และดูเหมือนว่าการค้าผ่านแม่น้ำโขงตอนบน จะต้องอยู่ภายใต้การคุ้มกันของกองกำลัง 4 ชาติไปจนกว่ากลุ่มติดอาวุธที่อาละวาดปล้น-ฆ่าเรือสินค้า ท่องเที่ยวจะถุกปราบปราม หรือได้รับการแก้ไข
ล่าสุดปลายปี 54 ที่ผ่านมา จีน ได้มอบเรือให้กับพม่า 1 ลำ สปป.ลาว 1 ลำ เพื่อใช้ในการคุ้มกันเรือสินค้าในแม่น้ำโขง ขณะที่ สป.จีน เองก็ทุ่มกำลัง-อาวุธ ออกปฏิบัติการในแม่น้ำโขง จากเชียงรุ่ง ถึงเหนือสามเหลี่ยมทองคำ (ก่อนเข้าเขตไทย) เป็นเรือขนาดใหญ่ 3-5 ลำ และเรือเล็กอีก 8 ลำ
ส่วนไทยที่มี ศปปข. / ศปปข.ส่วนหน้า ซึ่งมีกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เป็นหน่วยหลักที่ทำหน้าที่ประสานสั่งการดูแลความสงบเรียบร้อยแทนกองทัพบกนั้น มีเรือดีเซล 2 ลำ เบนซิน 2 ลำ ของตำรวจน้ำ ที่ต้องทำหน้าที่คุ้มกันเรือสินค้าจากท่าเรือเชียงแสน-สามเหลี่ยมทองคำ ก่อนส่งไม้ต่อให้กองกำลัง สปป.ลาว พม่า จีน ต่อไป
และนั่นหมายถึง การค้าผ่านแม่น้ำโขง ในระยะนี้ต้องการเป็นการค้าภายใต้การคุ้มกันโดยกองกำลังติดอาวุธเต็มอัตราศึก
นายเฉลิมพล พงษ์ฉบับนภา พาณิชย์ จ.เชียงราย กล่าวว่า ภาพรวมการค้าชายแดนด้าน จ.เชียงราย เป็นการค้ากับจีนตอนใต้ กว่า 22% ที่เหลือเป็นการค้ากับพม่า และ สปป.ลาว โดยถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วง 2-3 ปีก่อนที่อยู่ในอัตรา 10% กว่าเท่าตัว
หากแยกเป็นรายด่านพบว่าเป็นการค้าด้าน อ.เชียงแสน กว่า 70% และที่เชียงของผ่านถนน R3a ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ จำนวน 30% โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการค้าทั้งหมดเป็นการส่งออกสินค้าของไทยที่ท่าเรือ อ.เชียงแสน กว่า 96% และมีการส่งออกที่เชียงของน้อยกว่ามาก ทำให้ที่เชียงแสนมีการค้ากันวันละเฉลี่ยกว่า 500 ล้านบาทแยกเป็นการส่งออกเฉลี่ยวันละกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามหาศาล
จากเหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 5 ต.ค.54 ได้ทำให้มูลค่าการค้าลดฮวบลงกว่า 50-60% เพราะแม้ว่า ยังมีการบรรทุกทางเรือสินค้าลาว แต่ระวางบรรทุกน้อยกว่ามากแค่ 150 ตัน ส่วนเรือจีนมีระวางบรรทุกกว่า 250-300 ตัน
“สถานการณ์เช่นนี้ อาจจะกระทบยาวไปจนถึงเดือนพ.ค. 55 เพราะตามปกติน้ำโขงจะแห้งจนไม่สามารถเดินเรือสินค้าได้ในช่วงฤดูแล้งด้วย”
เขายังคงยืนยันว่า แม่น้ำโขง เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หนึ่งของจีนตอนใต้ ที่จีน จะต้องรักษาไว้ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนลงใต้กำลังเป็นไปตามความประสงค์ดังกล่าว โดยนอกจากความร่วมือกับพม่า สปป.ลาว และไทย ในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมต่างๆ ยังก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจิ่งหง และศูนย์กระจายสินค้าที่เมืองคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน อย่างใหญ่โต เพื่อเตรียมผลิตและกระจายสินค้าตามนโยบายเศรษฐกิจลงใต้ดังกล่าว จนทำให้ถนนเพื่อขนส่งสินค้าที่ชายแดนพม่า-จีน แทบไม่ว่างเว้นจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ รถท่องเที่ยวไม่เคยห่างหายไปจากถนน R3 และเรือสินค้าจีนก็เป็นสีสันที่อยู่คู่กับแม่น้ำโขง
นอกจากนี้ เมื่ออเมริกา เริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ทั้งการเข้าไปแสดงทัศนะในทะเลจีนใต้ เวียดนาม และเริ่มติดต่อสัมพันธ์กับรัฐบาลใหม่ของประเทศพม่า รวมทั้งผู้นำฝ่ายค้านในพม่า จนสะเทือนโครงการสำคัญๆ ของจีนในพม่า ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำอิรวะดี ท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติจากพม่า-จีนตอนใต้ ฯลฯ
ทำให้เมื่อเกิดปัญหาปล้น-ฆ่าลูกเรือจีน ทางการจีนจึงส่งเรือเร็วติดอาวุธ กำลังพล ลงมาคุ้มกันกองคาราวานเรือสินค้าจีน ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่รัฐบาลจีนจะส่งกองกำลังออกนอกประเทศของตนเอง นับตั้งแต่สงครามเกาหลี ที่ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นต้นมาด้วย
เพื่อคงสถานะแม่น้ำโขงเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ของจีนตอนใต้ให้ได้ ควบคู่กับเส้นทาง R3 (ทั้ง R3a และ R3b) โดยเฉพาะ R3a จีน ลาว ไทย ที่ระยะที่ผ่านมา จีน ก็ส่งสินค้าผ่านเส้นทางสายนี้เข้าสู่ไทยปีละ 1,900 ล้านบาทแล้ว ขณะที่ไทยส่งออกผ่านเส้นทางนี้เพียง 100 กว่าล้านบาท หรือ 4%ของมูลค่าการส่งออกผ่านชายแดนเชียงรายเท่านั้น
สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะรถบรรทุกไทยไปถึงได้แค่ชายแดนจีน-สปป.ลาว ที่เมืองบ่อเต็น-บ่อหาน ไม่สามารถเข้าไปในจีนได้ และความชำนาญในการขนส่งอาจจะไม่เท่ารถบรรทุกของจีน ที่เหมาะสมกับเส้นทางคดเคี้ยวตามไหล่เขาของถนน R3a
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อม อ.เชียงของ กับ สปป.ลาว แล้วเสร็จในปี 2556 จะทำให้การขนส่งด้าน R3a คึกคักอย่างมาก จึงควรจะเตรียมการในช่วงนี้ไว้เพื่อรองรับด้วย
ขณะที่นายประธาน อินทรียงค์ ที่ปรึกษาหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ชายแดนด้าน จ.เชียงราย มีการลงทุน เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนหลายอย่าง เช่น ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ฯลฯ ขณะที่จีนก็ขยายการค้าการลงทุนลงมา ทำให้แม้แต่กลุ่มทุนญี่ปุ่น ก็สนใจจะเข้าไปลงทุนในกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะลอจิสติกส์
แต่เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้การขยายตัวของการลงทุน อาจต้องชะลอไปกว่า 2 ปี แต่เชื่อว่าในอนาคตทุกอย่างจะดีกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน
ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลไทย จะวางยุทธศาสตร์รับ-รุก ที่ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยมานานจนทำให้ไทยเป็นเพียงทางผ่านจีน ได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น
เพราะจากนี้ไปแม่น้ำโขง อาจไม่ได้มีเพียง จีน พม่า ลาว และไทย เป็นผู้เล่นเท่านั้น มหาอำนาจที่นำโดยอเมริกา ก็กำลังแผ่ขยายอิทธิพลหวนคืนเอเชียมากขึ้นทุกขณะเข้ามาเป็น “ผู้เล่นใหม่”ด้วยอย่างแน่นอน