รายงาน
บรรยากาศการค้า การท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขงตอนบน ตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปจนถึงจิ่งหง หรือเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สป.จีน จากนี้ไปเริ่มตกอยู่ในสภาพ “อึมครึม” อีกครั้ง หลังเกิดเหตุปล้น-ฆ่าหมู่ลูกเรือจีน 2 ลำ รวม 13 ศพ
โดยเหตุสะเทือนขวัญที่ส่งผลกระทบทั้งภายในประเทศไทยเอง และระดับความสัมพันธ์ไทย-จีน ดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 5 ต.ค.54
มีรายงานว่า เรือสินค้าจีน 2 ลำคือ เรือ Hua Ping บรรทุกกระเทียมและแอปเปิล และเรือ Yu Xing 8 Hao บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง ของ “อาหมิง” ที่ว่ากันว่า เป็นคนของ “มาดามซู” ภรรยาของ “เจ้าเหว่ย” ประธานบริษัทจินมู่เหมิน จำกัด ผู้ดำเนินโครงการ Kings Romans of Laos Asian & Tourism Development Zone ในฝั่งบ้านต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ถูกกองกำลังติดอาวุธปล้น
เหตุดังกล่าวเกิดขึ้น ขณะที่เรือสินค้าจีนทั้ง 2 ลำ แล่นมาตามลำน้ำโขงมาถึงบ้านสามปู จ.ท่าขี้เหล็ก ห่างจากบ้านสบรวก อ.เชียงแสน ขึ้นไปทางเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร ตรงข้ามเมืองมอม แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว
กระทั่งเวลา 12.30 น.วันเดียวกัน (5 ต.ค.54) พ.ต.ท.อัศเรศ เหลืองสนิท สารวัตรเวร สภ.เชียงแสน ได้รับแจ้งมีคนถูกยิงเสียชีวิตบนเรือสินค้าจีนซึ่งจอดเทียบริมฝั่งไทยริมถนนสายเชียงแสน-สบรวก บ้านสบรวก เมื่อไปตรวจสอบพบเรือสินค้าจีน 2 ลำคือเรือ Hua Ping และ Yu Xing 8 Hao และที่ห้องบังคับเรือ Yu Xing 8 Hao พบศพชายไม่ทราบชื่ออายุ 30 ปี นอนกอดอาวุธปืนกลเล็กเอสเค 47 สภาพถูกยิงที่ศีรษะ หน้าอกและสะโพก
เมื่อตรวจค้นบนเรือ Hua Ping พบกระสอบจำนวน 3 ใบ ภายในมียาบ้าจำนวน 520,000 เม็ด และเรือ Yu Xing 8 Hao พบกล่องต้องสงสัยจำนวน 1 กล่อง ภายในมียาบ้าจำนวน 400,000 เม็ด รวมยาบ้าทั้งหมด 920,000 เม็ด ก่อนที่เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายจะเข้าตรวจสอบ มีชาวบ้านได้ยินเสียงปืนเหนือสามเหลี่ยมทองคำ ตั้งแต่ช่วงเช้า
ต่อมาพบเรือทั้งสองลำแล่นมาตามแม่น้ำโขงเข้าสู่น่านน้ำไทย โดยมีกองกำลังติดอาวุธบนเรือพร้อมเรือเร็วอีก 4 ลำ มีกองกำลังประมาณ 9-10 คนตามขนาบมา ช่วงที่เรือเข้าเทียบริมฝั่งที่บ้านสบรวก กองกำลังผาเมือง ของไทย ที่ดูแลพรมแดนบริเวณดังกล่าว ได้ปิดถนนบริเวณริมน้ำโขง พร้อมติดตั้งอาวุธและมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ก่อนที่กองกำลังไม่ทราบฝ่ายจะหลบหนีออกจากเขตน่านน้ำไทยพร้อมเรือเร็ว เหลือไว้เพียงเรือและหลักฐานยาบ้า 920,000 เม็ด และศพชายลึกลับ พร้อมอาวุธปืนดังกล่าว
เช้าวันรุ่งขึ้น (6 ต.ค.54) กองกำลังผาเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยทหารม้า ฉก.ม.3 ฉก.,ทหารพราน 31 ,หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย ,ทหารเรือ ฯลฯ นำโดย พล.ต.ปราการ ชลยุทธ ผบ.กองกำลังผาเมือง ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยให้ข้อมูลว่า เหตุรุนแรงเกิดขึ้นนอกน่านน้ำไทย และเรือได้เข้าเทียบฝั่งไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปตรวจสอบเรือก็พบกับศพและยาบ้า
ทั้งนี้มีการตั้งสมมติฐานว่า เหตุดังกล่าวเป็นฝีมือของ “จายหน่อคำ” กองกำลังติดอาวุธชาวไทใหญ่ ที่ตั้งกลุ่มเรียกเก็บค่าคุ้มครอง ค่าผ่านทางจากเรือสินค้า – ยาเสพติดที่ผ่านไปมาในน่านน้ำโขงแถบชายแดนพม่า-ลาว มานาน
อย่างไรก็ตาม หลังวันแถลงข่าวก็มีเหตุการณ์น่าสยองตามมา เมื่อพบศพของนายฮวงหย่ง อายุ 41 ปี กัปตันเรือ Hua Ping ลอยไปติดอยู่ที่ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1 ในเขตเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน ห่างจากจุดพบเรือประมาณ 6 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 7 ต.ค.54 สภาพถูกสวมกุญแจมือด้านหน้า และถูกยิงที่ศีรษะ ลำตัว ด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิด
นอกจากนี้ ยังมีลูกเรือคนอื่นๆ ลอยไปติดตามริมฝั่งทั้งฝั่งไทย และเกาะกลางแม่น้ำโขง คือวันที่ 7 ต.ค.54 พบศพนายหย่าง เจ๋อเหว่ย ห่างจากเรือ 6.44 กิโลเมตร , วันที่ 8 ต.ค.54 พบศพกลางน้ำโขงอีกหลายศพ ประกอบด้วยนายหวัง เจี้ยนจุง ห่างจากเรือ 150 เมตร ,นายหยัง ยิ่ง ตง ห่างจากเรือ 1.79 กิโลเมตร ,นางหลีเยี่ยน ห่างจากเรือ 2.23 กิโลเมตร ,นายจิว จา ไห่ ห่างจากเรือ 6.17 กิโลเมตร ,นายเฉิน เหยียนเชิง ห่างจากเรือ 2.1 กิโลเมตร ,นายหวัง กุ๊ย เชา ห่างจากเรือ 2.23 กิโลเมตร ,นายไช่ ฟังหัว ห่างจากเรือ 2.73 กิโลเมตร,นายเหวิน ต่ายหง ห่างจากเรือ 2.85 กิโลเมตร ,นางเฉิน โก หยิน ห่างจากเรือ 4.49 กิโลเมตร และวันที่ 11 ต.ค.54 พบศพสุดท้ายคือนายเจือ ซีห่าง ห่างจากเรือ 1.96 กิโลเมตร
เหตุดังกล่าวสร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้คนทั่วไปและเรือสินค้าจีนที่ไม่กล้าออกจากฝั่งอีกต่อไป โดยขณะนั้นมีเรือสัญชาติจีนเทียบท่าเรือเชียงแสน 26 ลำ ทางการของจีน ได้สั่งระงับการเดินเรือทั้งหมดตั้งแต่ 14 ต.ค.54 และรัฐบาลจีนเริ่มเรียกร้องให้คลี่คลายเรื่องราวทั้งหมด
นอกจากนี้วันที่ 6 ต.ค.54 เพียง 1 วันหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส.ของจีน ก็ได้เดินทางมาตรวจสอบเหตุการณ์เบื้องต้น ก่อนเดินทางเข้าไปที่โครงการ King Romance ของกลุ่มดอกงิ้วคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ที่อยู่ใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุทันที
ขณะที่ ดร.จู เหว่ย หมิง กงสุลใหญ่ประเทศจีน ประจำ จ.เชียงใหม่ ได้มอบหมายให้นายหวัง หย่งชิง กงสุลประเทศจีน ลงพื้นที่ไปประจำอยู่ที่ จ.เชียงราย เพื่อติดตามการค้นหาศพผู้เสียชีวิต และผลสรุปของคดี พร้อมกันนั้นยังได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ – แพทย์ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ที่มีนายเสริมศักดิ์ สีสันต์ นายอำเภอเชียงแสน เป็นประธาน
โดยทางการจีนก็ขอเข้ามามีส่วนร่วมด้วยทั้งการค้นหา การชันสูตรพลิกศพ ขอทราบความคืบหน้าในคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฯลฯ
ขณะที่รัฐบาลไทย ที่มี “ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกฯ ได้มอบหมายให้ รองฯเหลิม - ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับ สตช.เข้ามาดูแลคดี พร้อมกับ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯ กำกับดูแลงานด้านความมั่นคง เข้ามาทำหน้าที่ประสานงานกับรัฐบาลจีน อย่างใกล้ชิด
จากนั้น สตช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รอง ผบ.ตร.(ปป.3) ,พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร.,พล.ต.ท.วุฒิ ลิปตพัลลภ ผช.ตร.,พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผบช.สพฐ.ตร.ฯลฯ คลี่คลายคดี โดยตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ลงพื้นที่
กระทั่งวันที่ 28 ต.ค.54 พ.ต.เชิดพงศ์ ช่วยบำรุง จนท.ฝ่ายการข่าว กองกำลังผาเมือง ,ร.ท.อนุสรณ์ สอนถม หัวหน้าชุดปฏิบัติการลาดตระเวนไกล กองกำลังผาเมือง และทหารชั้นประทวนซึ่งเป็นลูกชุดประกอบด้วย จ.ส.อ.เฉลิมพล อินทร ,ส.อ.อิทธิศักดิ์ น้อมถิ่น ,ส.อ.คณิศร ศุขจักร ,ส.อ.ชัชวาล สรรพช่าง ,ส.อ.ปัจจะ คำผัด ,ส.อ.เพิด จันทะ และ ส.อ.พันธ์ศักดิ์ เผ่าบ้านฟาง ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน พร้อมรับทราบข้อกล่าวหาฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาและปิดบังซ่อนเร้นศพ
พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีโดยยึดตามกฎหมาย ป.วิ อาญา มาตรา 20 ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดนอกราชอาณาจักรไทยแต่มาพบผลในพื้นที่ประเทศไทย
ขณะเดียวกันรัฐบาลไทย โดย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สตช.-สมช.ฯลฯ ต่างก็ยกคณะเดินทางไปหารือร่วมกับทางการจีนหลายต่อหลายครั้ง เพื่อคลี่คลาย และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากเหตุสยองดังกล่าว
นำมาซึ่งข้อตกลงร่วม 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบน จีน พม่า ลาว ไทย ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 31 ต.ค.54 ที่จะร่วมดูแลความปลอดภัยในแม่น้ำโขง และ 24-27 พ.ย.54 สมช. เป็นตัวแทนของไทยไปเจรจา 4 ฝ่ายอีกครั้ง และเป็นผลทำให้ ครม. ให้มีการจัดตั้ง ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.) ขึ้นที่ ตำรวจภูธรภาค 5 และมี ศปปข.ส่วนหน้า อยู่ที่ อ.เชียงแสน เริ่มปฏิบัติงานวันที่ 11 ธ.ค.54 หลังจากจีน ตั้งกองกำลังผสมขึ้นมาดูแลความปลอดภัยในแม่น้ำโขง โดยมีศูนย์ปฏิบัติงานอยู่ที่ท่าเรือกวนเหล่ย เขตปกครองตนเองฯสิบสองปันนา เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.54 ก่อนที่จะปล่อยเรือสินค้าจีนล็อตแรกกลับมาวิ่งในแม่น้ำโขงอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในทาง “การข่าว” กลับพบว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นยังคงมี “เงื่อนงำ” ไม่น้อย และเป็นเงื่อนงำที่จะส่งผลกระทบต่อการค้า การท่องเที่ยวในแม่น้ำโขงอย่างเลี่ยงไม่พ้น