เชียงราย - จีนส่งเรือตรวจการณ์ พร้อมกำลังติดอาวุธประจำการตลอดแนวน้ำโขง ตั้งแต่ท่าเรือกวนเหล่ย ยันสามเหลี่ยมทองคำ ขณะที่พม่า-ลาว ส่งทีมเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธร่วมอีกหลายกองพัน ร่วมปฏิบัติการคุ้มกันเรือสินค้า-ท่องเที่ยว ด้านจังหวัดเชียงราย เมืองหน้าด่าน เร่งฟื้นการค้า-ท่องเที่ยวรับเรือจีนหวนกลับอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจีนจะเริ่มปล่อยให้เรือสินค้าสัญชาติจีน วิ่งขึ้น-ล่องในแม่น้ำโขงตอนบน จากเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา-ท่าเรือเชียงแสน จ.เชียงราย ได้อีกครั้ง โดยมีเรือจีนกลุ่มแรกเข้าเทียบท่าเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับมีการเปิดศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.) ขึ้นที่ท่าเรือกวนเหล่ย ของจีน และทางการไทยก็เปิด ศปปข.ขึ้นตำรวจภูธรภาค 5 และ ศปปข.ส่วนหน้า ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมอบหมายให้ตำรวจเป็นหน่วยหลักในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในแม่น้ำโขงอีก
ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่วันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุปล้น-ฆ่า เรือจีน 2 ลำ คือ เรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง Hua Ping และเรือขนกระเทียมและแอปเปิล Yu Xing 8 บริเวณดอนสามปู สามเหลี่ยมทองคำชายแดน สปป.ลาว-พม่า และฆ่ากัปตัน-ลูกเรือ รวม 13 ศพ และเมื่อเรือทั้งสองลำได้เข้าเทียบฝั่งไทยที่ริมฝั่งเขตหมู่บ้านสบรวก ม.1 ต.เวียง อ.เชียงแสน และเจ้าหน้าที่ไทยเข้าตรวจค้นบนเรือพบยาบ้าซุกซ่อนอยู่ 920,000 เม็ด ต่อมาได้มีทหารจากกองกำลังผาเมืองทั้งระดับสัญญาบัตรยศ พ.ต.และชั้นประทวนรวม 9 นาย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ชายแดนทยอยเข้ามอบตัวกับตำรวจข้อหาฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาและปิดบังซ่อนเร้นศพ
ขณะนี้แม้ว่าบรรยากาศการค้าชายแดนที่เชียงแสน จะกลับมาคึกคักอีกครั้งก็ตาม แต่ตลอดแนวแม่น้ำโขงตั้งแต่เชียงแสน ขึ้นไปถึงเชียงรุ่ง ก็ยังต้องอยู่ภายใต้การคุ้มกันอย่างเข้มงวด จากเจ้าหน้าที่ 4 ชาติ (จีน พม่า ลาว ไทย) ตามข้อตกลงร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เส้นทางการเดินเรือ จากท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านติดชายแดนจีน-สปป.ลาว เรื่อยมาผ่านชายแดนพม่า-สปป.ลาว จนถึง อ.เชียงแสน ระยะทาง 264 กิโลเมตร มีกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือประจำการอยู่ตลอดแนว
นอกจากกองกำลังของตำรวจตระเวนชายแดนของจีน ได้นำเรือตรวจการณ์ เรือติดอาวุธ และเรือลำเลียงพล รวม 5 ลำ ไปประจำอยู่บริเวณท่าเรือโครงการคิงส์โรมัน เขตเมืองต้นผึ้ง สปป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และทำหน้าที่คุ้มกันคาราวานเรือจีน ทั้งขาไป-กลับเป็นกลุ่มๆ ต่างจากในอดีตที่เดินทางไปอย่างไม่เป็นเป็นกลุ่มก้อนแล้ว จีนยังได้วางกำลังตลอดแม่น้ำโขงตั้งแต่ท่าเรือกวนเหล่ย ลงมาตลอดแนว รวม 300-500 นาย ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็มีการวางกำลังเช่นกันโดยพม่าได้ส่งกองกำลัง 3 กองพันประจำอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงด้านเมืองพง ตรงข้ามบ้านมอม แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว
ขณะที่ไทยพบว่าแต่ละหน่วยยังคงมีการลาดตระเวนในแม่น้ำโขงตามปกติ ทั้งหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย ตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า ฯลฯ โดยมี ศปปข. ซึ่งใช้ตำรวจเป็นหน่วยงานประสานงานหลักคอยประสานงานฝ่ายต่างๆ
นายพินิจ หาญพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า แม้ทางคณะกรรมการ 4 ฝ่ายไทย จีน พม่าและ สปป.ลาว จะเปิดการเดินเรือและมีข้อตกลงใช้กองกำลังคุ้มกันเรือ แต่ก็ดำเนินการตามขอบเขตไม่ละเมิดอธิปไตยของประเทศใด โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีกฎหมายระบุเอาไว้ชัดเจน กระนั้นทาง ศปปข.ส่วนหน้า ในพื้นที่ อ.เชียงแสน ก็ได้สนับสนุนความร่วมมือดังกล่าวอย่างเต็มที่ ในส่วนของจังหวัดนับจากนี้ก็จะเร่งพื้นฟูด้านการค้า และการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักเหมือนเดิม เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนให้ขยายตัว มีการส่งเสริมคุณภาพสินค้า ส่งเสริมการพัฒนาเพื่อให้ส่งออกให้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าด้านพืชผลทางการเกษตรอาทิข้าว และยางพารา ที่จำเป็นต้องเพิ่มยอดการส่งออกให้มาก กระนั้นก็มีความเป็นห่วงในเรื่องฤดูแล้งที่จะทำให้แม่น้ำโขงแห้งในช่วงต้นปีถึง เม.ย.ปีหน้า ซึ่งก็จะมีการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับจีนซึ่งเชื่อว่าจะจีนจะผลักดันให้มีการเดินเรือสินค้าได้ตลอดปี
ด้าน นายอรรถพันธ์ รังษี ประธานชมรมผู้ประกอบการค้า อ.เชียงแสน กล่าวว่า การเดินเรือในแม่น้ำโขงได้อีกครั้งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เนื่องจากมีสินค้าคงค้างอยู่ในโกดังริมฝั่งเพื่อรอการส่งออกจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การค้าชายแดนด้านนี้กลับมาคึกคัก แต่ช่วงนี้ยังน่าเป็นห่วงที่สินค้าจีนที่ส่วนใหญ่เป็นพืชผลทางการเกษตรประเภทแอปเปิลสาลี่ ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวก็จะทำให้การขนส่งจำนวนที่น้อย เพราะเราต้องพึ่งเรือจีนเท่านั้น ทั้งนี้หลังเกิดเหตุการณ์ไม่สงบผู้ประกอบการก็พยายามหาความร่วมมือกับภาคราชการเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก
“ศปปข.ทำให้ความอุ่นใจขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ต้องดูสถานการณ์ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ก่อนว่าจะมีเหตุการณ์อะไรมาซ้ำหรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการทั้งหมดกำลังเป็นห่วงอยู่ เพราะหากมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เชื่อว่าทางการจีนก็คงจะต้องหยุดการเดินเรืออีก การค้าชายแดนก็คงลำบากเพราะการค้าขายทางเรือมีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางบกมาก”นายอรรถพันธ์ กล่าว