แม้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.54 เป็นต้นมา ได้มีเรือสินค้าสัญชาติจีน วิ่งจากเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน จีน เข้าเทียบที่ท่าเรือเชียงแสน 1 จ.เชียงราย นำสินค้าจีนเข้าไทยอีกครั้ง ภายใต้การคุ้มกันแน่นหนาตลอดแนวแม่น้ำโขง 264 กม.จากกองกำลัง 4 ชาติ จีน พม่า ลาว และไทย ก็ตาม
แต่ก็ยังคงมีปมปริศนา ที่ค้างคาในหลายปมเงื่อน
เหตุปะทะ - ปล้น - ฆ่า ในแม่น้ำโขง (ตอนบน) เหนือสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตพรมแดนพม่า - ลาว เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในระยะที่ผ่านมา
โดยเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงหลายสิบปีก่อนหน้านี้ ทำให้สังคมโลกรู้จัก “สามเหลี่ยมทองคำ” ในภาพแหล่งผลิตฝิ่น - เฮโรอีนแหล่งใหญ่ของโลก ในยุคที่ “ขุนส่า” หรือจางซีฟู ยังเรืองอำนาจอยู่
กระทั่ง จีน มีนโยบายมุ่งลงใต้ เปิดเส้นทางออกสู่ทะเลให้แก่มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านออกมาทางมณฑลหยุนหนัน เชื่อมพม่า / ลาว และไทย ทำให้ “แม่น้ำโขง” ถูกพัฒนาขึ้นเป็นเส้นทางการค้า การท่องเที่ยวรองรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวมากขึ้น นำมาซึ่งข้อตกลงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ 4 ชาติลุ่มน้ำโขงตอนบน (จีน พม่า ลาว ไทย) เมื่อปี 44 ที่ผ่านมา
แต่ 10 ปีที่ผ่านมา แม่น้ำโขง ก็ยังคงเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทั้งในและนอกระบบ
ด้วย 10 ปีมานี้ แม่น้ำโขงถูกพัฒนาให้กลายเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้า จนล่าสุดตั้งแต่เดือนม.ค. - ต.ค.54 มีมูลค่าการค้าเกิดขึ้น 5,680.53 ล้านบาท ขณะเดียวกันการค้านอกระบบ ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน
พร้อม ๆ กับการก่อกำเนิดขึ้นของกองกำลังติดอาวุธภายใต้การนำของ “จายหน่อคำ” ชาวพม่าสัญชาติไทยใหญ่ อายุประมาณ 35-40 ปี เคยเป็น อส. หรือกาก่วยเยของกองทัพพม่า ก่อนตั้งกลุ่มกองกำลังขึ้นมาเคลื่อนไหวแถบป่าแหลว หรือป่าเหลียว - เชียงลาบ เรื่อยลงมาถึงสามเหลี่ยมทองคำ และถูกระบุว่า เป็นผู้ก่อเหตุปล้น-ฆ่าลูกเรือจีนครั้งนี้
กองกำลังกลุ่มนี้มีฐานที่มั่นคล้ายเพิงบนแพกลางเกาะแม่น้ำโขงติดบ้านสามปู จ.ท่าขี้เหล็ก ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำประมาณ 20 กิโลเมตร โดยมีการใช้ลวดสลิงตรึงแพกลางน้ำกับเกาะแก่งและริมฝั่งเพื่อทำเป็นเพิงพักจำนวน 2 แห่งใกล้กัน ซึ่งใช้เป็นทั้งที่พักและซ่องสุมกำลัง รวมทั้งสังเกตเรือสินค้าที่แล่นผ่านไปมา อีกทั้งเป็นเขตน่านน้ำระหว่างพม่า-สปป.ลาว ซึ่งยากต่อการเข้าปราบปราม
“จายหน่อคำ” เคยเข้ามาทำพิธีแต่งงานที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีญาติอยู่ในฝั่งแม่สายด้วย และถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีคนไทยเข้าไปพัวพันด้วย
ตั้งแต่ปลายปี 2552 มีข่าวการอาละวาดของกองกำลังกลุ่มนี้ปรากฏมากขึ้น ทั้งปล้นจี้เรือจีน หลายครั้ง แต่ไม่มีรายงานความเสียหายมากนัก และต่อมามีการยิงเรือลาดตระเวนของตำรวจจีน ที่เดินทางมาจากเมืองเชียงรุ้ง จนเรือเสียหาย แต่ก็แล่นหนีเข้ามายังฝั่งไทยได้ โดยครั้งนั้นมีตำรวจจีนบาดเจ็บ 5-6 นาย
จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ปล้นจี้เรืออย่างต่อเนื่อง จนทำให้วันที่ 20 ก.พ.54 ทหารพม่าได้เข้าปะทะกับกองกำลังติดอาวุธดังกล่าวที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงหมู่บ้านสามปูตรงกันข้ามบ้านหลวงสิงชัย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เป็นเหตุให้เสียชีวิตด้วยกันทั้งสองฝ่าย ก่อนที่กลุ่มจายหน่อคำ จะหลบหนีพร้อมเรือเร็วข้ามไปทางฝั่ง สปป.ลาว
ต่อมาวันที่ 17 พ.ค.54 เมื่อเรือสินค้าสัญชาติจีน "หงซิ่ง" ขนาด 300 ตัน มีไป๋ เสวี่ยวไฉย เป็นกัปตันแล่นเรือเปล่าออกจากท่าเรือแม่น้ำโขงที่เมืองสบหรวย ประเทศพม่า ห่างจากประเทศไทยประมาณ 200 กิโลเมตร เพื่อจะไปรับสินค้าที่ท่าเรือเชียงแสน อ.เชียงแสน ถูกเรือเล็กเร็วในแม่น้ำโขงจำนวน 3 ลำ ลูกเรือมีอาวุธครบมือแล่นสวนขึ้นไปทำทีจะปล้นเรือ แต่นายไป๋ ขับเรือหลบหนีเข้าเขตน่านน้ำไทยก่อน แต่เรือก็ถูกยิงจนเสียหาย
วันที่ 20 ก.ย.54 มีข่าวระบุว่ากองกำลังติดอาวุธที่คาดว่าพัวพันกับนายจายหน่อคำปะทะกับกองกำลังทหารพม่าที่เมืองพยากและต่อเนื่องมาจนถึงเมืองเลน กระทั่งวันที่ 21 ก.ย.จึงถูกกวาดล้างหนักบริเวณบ้านสามปู จนคนบาดเจ็บหลบหนีเข้ามาฝั่งไทย 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นชาว อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นต้น
พ.ต.หล้าเมียวอู รอง ผบ.กองพันเคลื่อนที่เร็วที่ 526 ประธาน ทีบีซี ฝ่ายพม่า ที่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการประสานงานชายแดน (TBC:Township Border Committee) ไทย-พม่า ครั้งที่ 69 โรงแรมเรจิน่า จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 28 ต.ค.54 ก็มีการระบุในที่ประชุมว่า "จายหน่อคำ" เป็นกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าและมีพฤติกรรมเก็บค่าคุ้มครองเรือสินค้าแม่น้ำโขง-ค้ายาเสพติด
และเมื่อปลายเดือนก.ย. 54 ได้ก่อเหตุปะทะกับกองกำลังทหารพม่า จากนั้นกลุ่มของจายหน่อคำ ได้หลบหนีเข้ามารักษาตัวยังฝั่งไทยจำนวน 3 คน ต่อมาได้มีชายไทยอายุ 56 ปี อาศัยอยู่บ้านป่าเหมือด ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ได้ให้การช่วยเหลือ นำพาคนทั้งหมดหลบหนีไปจึงขอให้ทางการไทยช่วยติดตามมาดำเนินคดี
กรณีการปล้น-ฆ่าลูกเรือจีนกลางน้ำโขงครั้งนี้ ก็มีรายงานในทางลับเช่นกันว่า มี “คนไทย” ในพื้นที่เชียงแสน และแม่สาย ที่ได้ชื่อว่า เป็นตัวประสาน - ชงผลงาน ที่รู้จักมักคุ้น และติดต่อกับกองกำลังจายหน่อคำ และหน่วยราชการไทยในพื้นที่ชายแดนเชียงราย รับรู้และเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
ด้วยหลังเกิดเหตุปล้น-ฆ่าครั้งนี้ มี “จิ๊กซอว์” ตัวสำคัญที่หายตัวไปจากพื้นที่ชายแดนจังหวัดเชียงราย อย่างน้อย 2 คนด้วยกัน คนแรกถือเป็นผู้ที่มีหน้าตาทางสังคมของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่เคยออกงานร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของอำเภอชายแดนแห่งนี้มาอย่างต่อเนื่อง รู้จักกันดีในชื่อ “ลุง หนวด” หรือนาย จ. เชื้อสายไทยใหญ่ อีกคนชื่อ “นาย ส.” ที่เป็นญาติกับ “ลุงหนวด” และเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์หัวสีในพื้นที่แม่สาย
ทั้งนี้มีรายงานว่า ทั้ง 2 คน ได้ชื่อว่าเป็นมือประสาน รับงานในการประสานงานกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ “จายหน่อคำ” เพื่อ “จัดงาน” ครั้งนี้ขึ้น ก่อนที่จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปตรวจสอบ ยึดเรือและของกลางยาบ้า “920,000 เม็ด” ดังกล่าว
และจนถึงวันนี้ ก็ยังไร้ร่องรอยทั้งลุงหนวด และ นาย ส.ผู้เป็นญาติ
อย่างไรก็ตาม เหตุดังกล่าว ยังทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่ออำนาจในการคุมพื้นที่ชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขงของเชียงราย ที่ก่อนหน้านี้มีทหาร โดยกองกำลังผาเมืองดูแลพื้นที่อยู่เป็นด้านหลัก ต่อมาฝ่ายการเมืองในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พยายามที่จะเปิดประเด็นให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อลดอำนาจฝ่ายทหารที่ดูแลพื้นที่ลง
เพียงแต่ถูกกระแสต้านจากกองทัพ ทำให้ต้องล้มเลิกแนวทางการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกไป โดยหันไปตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.)ขึ้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และ ศปปข.ส่วนหน้า ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ตามมติ ครม.วันที่ 15 พ.ย.54
ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ทำให้ตำรวจกลายเป็นกำลังหลักในการดูแล ศปปข.โดยมีศูนย์อำนวยการและประสานงานระหว่างประเทศอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 จ.เชียงใหม่ ส่วนที่ท่าเรือเชียงแสน จะเป็น ศปปข.ส่วนหน้า
โดย ศปปข.ได้เริ่มดำเนินการตามคำสั่งตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค.54 เป็นต้นไป
ซึ่งนั่นหมายถึง จากนี้ไปอำนาจในการประสานงาน – สั่งการควบคุมดูแลชายแดนเชียงรายด้านนี้ ถูกเปลี่ยนมือจากทหาร ไปอยู่ในเงื้อมมือตำรวจแทนแล้ว