เชียงราย - ไทยเปิดศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำในแม่น้ำโขงแล้ว พร้อมตั้ง ศปปข.ส่วนหน้าที่เชียงแสน มอบอำนาจให้ “ตำรวจ”คุมความปลอดภัยในน้ำโขง ขณะที่ สป.จีน ตั้งกองกำลังผสมขึ้นดูแลตั้งแต่ต้นทางที่กวนเหล่ย ตั้งแต่ 10 ธันวาฯก่อนปล่อยเรือสินค้าล็อตแรกเข้าเชียงแสนวันนี้(11 ธ.ค.)
วันนี้ (11 ธ.ค.54) ที่ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 เทศบาล ต.เวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พล.ต.ต.สิทธิพร ศรีจัทร์ทับ รอง ผบช.ภ.ภาค 5 ได้เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.) ส่วนหน้า ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 พ.ย.54 ที่ผ่านมา ตามข้อตกลงความร่วมมือ 4 ชาติคือไทย สปป.ลาว พม่า และจีน หลังเกิดเหตุการณ์ปล้นและฆ่าลูกเรือจีน 2 ลำในแม่น้ำโขงเสียชีวิตรวม 13 ศพเมื่อวันที่ 5 ต.ค.54 โดยมี พล.ต.ต.ทรงธรรม อัลภาชน์ ผบก.ภ.เชียงราย กำลังจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ตชด. ตำรวจน้ำ ตำรวจตรวจค้นเข้าเมือง ฯลฯ เข้าร่วม
ขณะที่เรือสินค้าจีน ก็มีกำหนดจะเดินทางถึงท่าเรือเชียงแสนในช่วงบ่ายของวันเดียวกันจำนวน 9 ลำ โดยมีเรือตำรวจจีนให้การคุ้มครองคาราวานเรือสินค้าจำนวน 3 ลำใหญ่ และ 8 ลำเล็ก อีกทั้งตามรายทางมีกำลังทหารและตำรวจของประเทศพม่า และ สปป.ลาว ซึ่งจัดตั้งตามข้อตกลงดูแลตลอดเส้นทางจากเมืองกวนเหล่ย เมืองท่าหน้าด่านของมณฑลยูนนาน จีนตอนใต้ ประมาณ 264 กิโลเมตรด้วย
พล.ต.ต.สิทธิพร กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้แต่ละประเทศมีความร่วมมือกันเป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เกิด ศปปข.ขึ้น อันเป็นความร่วมมือที่ทำให้แต่ละประเทศร่วมกันทำตามกฎหมายในแม่น้ำโขง และเป็นที่มาของการเดินเรือสินค้าตามปกติอีกครั้ง
ทั้งนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ทำให้ตำรวจกลายเป็นกำลังหลักในการดูแล ศปปข.โดยมีศูนย์อำนวยการและประสานงานระหว่างประเทศอยู่ที่กองบัญชาการ ภ.ภาค 5 จ.เชียงใหม่ ส่วนที่ท่าเรือเชียงแสน จะเป็น ศปปข.ส่วนหน้า โดย ศปปข.ได้เริ่มดำเนินการตามคำสั่งตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค.54 เป็นต้นไป
พล.ต.ต.สิทธิพร บอกว่า ในการทำงานจากนี้ไป แต่ละหน่วยก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนไปตามปกติ แต่ทาง ศปปข.โดยตำรวจจะคอยประสานงานและขอความร่วมมือเป็นกรณีๆ ไปแล้วแต่ความเหมาะสม เช่น หากเกิดเหตุการณ์อาจขอกำลังทหาร ตำรวจน้ำ เป็นต้น ด้านกำลังจากประเทศพม่า สปป.ลาว และจีน ที่คุ้มกันขบวนเรือสินค้ามาจากตั้งแต่จีนตอนใต้ถึงเชียงแสนก็จะมีการประสานงานกันตลอด
พล.ต.ต.สิทธิพร กล่าวอีกว่า สำหรับปฏิบัติการของ ศปปข.ในแต่ละวันก็คือ การร่วมกันจัดกำลังลาดตระเวนทั้งทางบกและทางน้ำตั้งแต่ช่วงเช้าถึงค่ำ เพราะช่วงกลางคืนจะไม่มีการเดินเรือสินค้าอยู่แล้ว แต่ก็จะมีการจัดหน่วยริมฝั่ง เพื่อดูแลป้องกันการก่อเหตุอาชญากรรมและกระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่องด้วย โดยจะปฏิบัติต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยยังไม่มีคำสั่งอื่นใด
ส่วนการลาดตระเวนของกองกำลังจากแต่ละประเทศตามข้อตกลงนั้น เนื่องจากประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่องอาณาเขตที่จะต้องไม่ถูกละเมิด และการจะดำเนินการใดๆ ต้องผ่านรัฐสภาก่อน ดังนั้นกรณีมีกองกำลังของประเทศต่างๆ ที่คุ้มกันขบวนเรือมาในแม่น้ำโขงก็จะไม่อนุญาตให้ล้ำเข้ามาในอาณาเขตหรือน่านน้ำไทย โดยจะคุ้มกันอยู่ด้านนอก และกำลังของไทยจะเข้าไปดูแลต่อไปจนถึงท่าเรือเชียงแสน
พล.ต.ต.สิทธิพร ยังกล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับทหารชั้นสัญญาบัตรและประทวนของกองกำลังผาเมืองที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุจำนวน 9 นาย ข้อหาฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาและปิดบังซ่อนเร้นศพนั้น ถือว่า คดีนี้เป็นคดีที่เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ แต่มีผลเข้ามาปรากฏในดินแดนไทยตามกฎหมาย ป.วิ อาญา มาตรา 20
ล่าสุดได้ส่งสำนวนไปให้กับทางอัยการสูงสุดแล้ว แต่ตามขั้นตอนยังเป็นการร่วมกันสอบสวนในคดีนี้อยู่ โดยทางอัยการสูงสุดจะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน และมีพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจนำโดย พล.ต.ท.รชต เย็นทรง ผช.ตร.เป็นผู้ดูแล ซึ่งยังคงดำเนินการต่อเนื่อง คืบหน้าไปแล้วราวๆ 70% เพราะยังมีพยานบางปากที่จำเป็นต้องให้ปากคำและอยู่ต่างประเทศ ซึ่งคงต้องรอทางอัยการสูงสุดดำเนินการต่อไป
ด้าน พล.ต.ต.ทรงธรรม กล่าวว่า หลังเกิดเหตุโจมตีเรือจีนทำให้ไทย พม่า สปป.ลาว และจีน ได้ประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 31 ต.ค.54 ได้มีข้อตกลง 4 ประเทศที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และวันที่ 24-27 พ.ย.สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นตัวแทนของไทยไปเจรจา 4 ฝ่ายอีกครั้ง และเป็นผลทำให้มีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวออกมา โดยมีการจัดตั้ง ศปปข.ของกองกำลังผสมอยู่ที่เมืองกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนไปแล้ว เมื่อ 10 ธ.ค.54 ที่ผ่านมา ในส่วนของประเทศไทย ก็มี ศปปข.ปฏิบัติงานอยู่ที่ ภ.ภาค 5 และมี ศปปข.ส่วนหน้า อยู่ที่ อ.เชียงแสน
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าอย่างไรก็ตามก่อนการเดินเรือกลับมาของทางการจีน มีกระแสว่าเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารพม่าและ สปป.ลาว กับกองกำลังติดอาวุธ บริเวณบ้านดอนสามปูเหนือสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปทางเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร ใกล้กับจุดที่เกิดเหตุปล้นเรือสินค้าจีนที่ผ่านมา โดยกองกำลังทหารพม่าจำนวน 3 กองพัน เข้าไปกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธหรือโจรสลัดแม่น้ำโขง ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มของนายหน่อคำ จนเกิดการปะทะกันอย่างหนัก
แต่จากภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาและป่ารกริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งกลุ่มโจรสลัดแม่น้ำโขงมีความชำนาญพื้นที่ ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารพม่าได้รับความสูญเสียอย่างหนัก โดยมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 3 นาย ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ สปป.ลาว ก็มีการสนับสนุนปฏิบัติการดังกล่าวด้วย
สำหรับเหตุการณ์คนร้ายบุกขึ้นปล้นและฆ่าลูกเรือจีนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ต.ค.54 โดยเรือที่ประสบเหตุคือเรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง Hua Ping และเรือขนกระเทียมและแอปเปิ้ล Yu Xing 8 บริเวณดอนสามปู สามเหลี่ยมทองคำชายแดน สปป.ลาว-พม่า และฆ่ากัปตันและลูกเรือนรวม 13 ศพ ก่อนที่เรือจะเข้าเทียบฝั่งไทยที่ริมฝั่งเขตหมู่บ้านสบรวก ม.1 ต.เวียง อ.เชียงแสน และเจ้าหน้าที่ไทยเข้าตรวจค้นบนเรือพบยาบ้าซุกซ่อนอยู่ 920,000 เม็ด จนทำให้ทางรัฐบาลไทยและจีนได้เร่งรัดคลี่คลายคดี กระทั่งต่อมาได้มีทหารจากกองกำลังผาเมืองทั้งระดับสัญญานบัตรระดับ พ.ต.และชั้นประทวนรวม 9 นาย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ชายแดนทยอยเข้ามอบตัวกับตำรวจไปแล้ว
ด้านนางเกศสุดา สังขกร รองประธานฝ่ายการค้าชายแดน อ.เชียงแสน หอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงในแม่น้ำโขงทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวกันยกใหญ่ เพราะการค้าไม่สามารถขาดช่วงได้ ต้องหันไปใช้วิธีการขนส่งสินค้าผ่านเรือของ สปป.ลาว ซึ่งมีระวางบรรทุกน้อยกว่าเรือสินค้าจีนราว 3-5 เท่าตัว แต่ก็สามารถขนไปได้ถึงท่าเรือเมืองสบหรวย ประเทศพม่า ก่อนขนส่งทางบกผ่านประเทศพม่าเข้าไปยังชายแดนพม่า-จีน ต่อไป
กรณีสินค้าจีนจะส่งมาไทยก็มักจะขนส่งทางรถบรรทุกมาทางถนน R3A จีนตอนใต้-สปป.ลาว-อ.เชียงของ จ.เชียงราย แต่ก็ยอมรับว่าปริมาณการค้าลดลงกว่าเดิม จึงคาดว่าเมื่อเรือจีนกลับมาแล่นตามปกติจะทำให้การค้ากลับมาคึกคักเหมือนเดิม
สำหรับการค้าทางเรือแม่น้ำโขงในปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 1,057.39 ล้านบาท ส่งออก 5,630.20 ล้านบาท ปี 2554 ถึงเดือน เม.ย.มีการนำเข้า 736.80 ล้านบาท ส่งออก 4,982.14 ล้านบาท