xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ 3 เขตเศรษฐกิจฯชร.ยังไม่เห็นวุ้นล่าสุดมีแค่มติ ครม.-แต่ยอดค้าโตล้ำหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ชี้เขตเศรษฐกิจ 3 อำเภอเมืองพ่อขุนฯ วันนี้ยังไร้ความคืบหน้า มีเพียงมติ ครม.ให้เห็นเท่านั้น ยังไม่มีการปฏิบัติเป็นรูปธรรม แถมก่อนหน้านี้ก็เคยมีมติ และแนวทางออกมาแล้ว แต่ก็ยังไม่เกิดเป็นจริง ขณะที่การค้าไทย-เพื่อนบ้าน โตไม่หยุด ล่าสุดปีกลายขยายตัวมากถึง 37% แถมยอดส่งผ่านลาวพุ่งกว่า 135% รับ R3a เชื่อหลังพม่าเปิดประเทศโตอีกเพียบ

นายเฉลิมพล พงษ์ฉบับนภา พาณิชย์ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า แม้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 3 อำเภอของ จ.เชียงราย คือ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ตนยังไม่ทราบรายละเอียดของโครงการ นอกจากได้รับทราบในภาพรวมของมติการเห็นชอบเท่านั้น แต่เชื่อว่าการดำเนินคงจะคืบหน้าโดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคต

แต่เมื่อหลายปีก่อน ก็มีแผนในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเอาไว้ 5 รูปแบบ ซึ่งขณะนั้นได้ข้อสรุปว่า จะใช้แบบสุดท้าย แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการกระทั่งมาถึงยุครัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการนำแผนเดิมมาพิจารณาด้วยหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะไม่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ปัจจุบันการค้าชายแดนก็คึกคักมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง โดยตัวเลขเมื่อปี 2554 พบว่า การค้าชายแดนกับ 3 ประเทศคือพม่า สปป.ลาว และจีนตอนใต้ มีมูลค่าถึง 28,956.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 37% ซึ่งถือว่าเกินกว่าเป้าที่ประมาณการเอาไว้อย่างมาก

ในจำนวนนี้เป็นการค้ากับพม่า 42% จีนตอนใต้ 22% และ สปป.ลาว 36% สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าเกษตร วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็น พืชผักผลไม้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลูกเต๋า ลูกเดือย ถ่านหินลิกไนต์ แร่แมงกานีส เคมีที่ใช้ในการผลิตยาสีฟัน แก๊สอาร์ก้อน และไม้แปรรูปฯลฯ

"กรณีตลาดของ สปป.ลาว น่าสังเกตว่าแม้ประชากรจะน้อย ทั้งประเทศมีเพียง 6 ล้านคน ในส่วนนี้เป็นลาวตอนเหนือ ประมาณ 2 ล้านคน แต่ปรากฏว่าการส่งออกไปยัง สปป.ลาว มีอัตราการเพิ่มมากที่สุดถึง135.64% คงเป็นเพราะสินค้าจากไทยที่ส่งเข้าไปส่วนหนึ่งใช้เพื่อการบริโภคในลาว แต่อีกส่วนหนึ่งมีการผ่านไปยังจีนตอนใต้ด้วยเหตุผลด้านต้นทุนการค้า" นายเฉลิมพล กล่าว

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ปัจจุบันถนนR 3 a มีความคึกคักด้านการขนส่งมากขึ้น โดยเฉพาะถนนสายจากเมืองหลวงน้ำทา แขวงหลวงน้ำทา ไปยังชายแดนจีน-สปป.ลาว ด้านเมืองบ่อเต็นและโม่ฮาน หรือบ่อหาน โดยมีการใช้รถบรรทุกสินค้าจากจีนขนส่งสินค้าเข้าออกอย่างคึกคัก โดยสินค้าส่วนใหญ่ มีทั้งขนส่งไปยังชายแดน สปป.ลาว ด้านเมืองห้วยทราย และไปทางแขวงอุดมไชย หลวงพระบาง ส่วนถนนใน สปป.ลาว ตอนล่างลงมาถึงแขวงบ่อแก้วติดกับ อ.เชียงของ พบว่ามีรถบรรทุกของไทยไปขนสินค้าอย่างคึกคักเช่นกัน

ตัวแปรสำคัญที่ทำให้การค้าเพิ่มมากขึ้นก็คือ ถนนR 3a ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ผ่าน อ.เชียงของ ซึ่งสามารถใช้ทดแทนการขนส่งสินค้าเมื่อมีผลกระทบทางเรือแม่น้ำโขงหรือถนน R 3 bผ่านประเทศพม่าได้เป็นอย่างดี โดยถนนสายนี้สร้างเสร็จเมื่อปี 2551 ปัจจุบัน นอกจากจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าไทย-สปป.ลาว-จีน ยังมีการลงทุนเกิดขึ้นเพื่อรองรับอย่างมากมายทั้งในจีนตอนใต้ ในแขวงบ่อแก้ว และแขวงหลวงน้ำทาของ สปป.ลาว โดยในลาวส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนด้านการแปรรูปเกษตรกรรม รวมทั้งมีปัจจัยเรื่องการยกเลิกนำเข้าสินค้า 15 รายการของพม่าตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา

ในอนาคตคาดว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในพม่าจะทำให้เส้นทางR 3b ซึ่งเชื่อมแม่สาย-เชียงตุง-จีนตอนใต้ ซึ่งเคยเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ แต่ชะงักไปนานกลับมาคึกคักอีกครั้ง



กำลังโหลดความคิดเห็น