xs
xsm
sm
md
lg

3 สัญญาณอันตราย “จุดแตกหัก”ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลปู!?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

การเดินสายและเข้าพบปะพูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพเกิดขึ้นบ่อยครั้ง พร้อมด้วยการสนับสนุนงบประมาณเพื่อซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับเหล่าทัพอย่างเต็มที่ ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นได้ว่า รัฐบาลพยายามจับมือกับทหาร รักษาสัมพันธภาพ เพื่อนำไปสู่การประคองสถานการณ์ลดความขัดแย้งระหว่างกองทัพและคนเสื้อแดง

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรักษาอำนาจรัฐบาลให้อยู่อย่างมั่นคงและยาวนานที่สุด

ความคิดในการแก้ไขพระราชบัญญัติ จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 เพื่อให้อำนาจฝ่ายการเมืองล้วงลูกโผทหารอัตรานายพลได้มากขึ้น ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมภายใต้ชื่อพระราชบัญญัติปรองดองเพื่อให้พรรคพวกของตัวเองพ้นความผิด และการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสถาปนาและกระชับอำนาจให้กับนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยมากขึ้นนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งว่ารัฐบาลชุดนี้ต้องการดำเนินการให้ได้

แต่ในช่วงหลัง รัฐบาลพรรคเพื่อไทยดูลังเลอยู่มาก บางครั้งก็ดูจะพยายามเร่งรีบ บางครั้งก็ประกาศว่าจะชะลอ บางครั้งก็ประกาศว่าจะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังสับสนตัวเองว่ากำลังไม่มั่นใจในอะไรบางอย่าง แม้จะมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรอย่างท่วมท้นก็ตาม

เพราะความจริงแล้ว หากรัฐบาลเหิมเกริมและลุแก่อำนาจ หวังเพียงแต่ช่วยเหลือพวกพ้องและนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นความผิดและมุ่งหน้าแก้ไขกฎหมายทั้งปวงเพื่อกระชับอำนาจมากขึ้น ก็ต้องมีประชาชนจำนวนไม่น้อยลุกขึ้นมาต่อต้านอย่างแน่นอน

ถึงแม้สมมติว่ามวลชนคนเสื้อแดงมีการเคลื่อนไหวในจำนวนที่มากกว่าก็ตาม แต่หากเกิดการเผชิญหน้าระหว่างมวลชน ย่อมมีโอกาสสูงมากที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ยาก และอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดความรุนแรงที่ควบคุมไม่ได้ เกิดการผสมโรงในการสร้างสถานการณ์จนถึงขั้นรัฐบาลไม่สามารถปกครองประเทศต่อไปได้ และหากมีความรุนแรงจนมีประชาชนบาดเจ็บล้มตายขึ้นมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีอาจถึงขั้นตกอยู่ในฐานะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ หรือถูกดำเนินคดีอาญา หรือมีตราบาปติดตัวไปตลอดชีวิตก็ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านอุทกภัยพิบัติที่ร้ายแรง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ซึ่งประชาชนสนับสนุนพรรคเพื่อไทย) รัฐบาลก็ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซ้ำร้ายการเยียวยาก็ยังช้า ไม่เพียงพอและยังไม่ถึงมือประชาชนให้ได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง ถือเป็นเหตุการณ์ที่ทำลายความศรัทธาต่อรัฐบาลอย่างรวดเร็ว

ในทางตรงกันข้ามทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงอุทกภัยกลับได้รับคะแนนความนิยมสูงขึ้นอย่างชัดเจนเช่นกัน

ด้วยเหตุผลนี้การเดินหน้ากระชับอำนาจของฝ่ายรัฐบาลจึงเป็นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายท่ามกลางสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยและมีความสุ่มเสี่ยงสูงเช่นนี้

และถึงแม้รัฐบาลจะพยายามประนีประนอมกับฝ่ายทหาร ทั้งในการถอยหลังไม่เข้าไปแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 พร้อมจัดสรรงบประมาณเพื่อเอาใจกองทัพให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ในช่วงเวลาที่รัฐบาลกำลังเพลี่ยงพล้ำ) แต่ถึงอย่างไรก็ตามปมขัดแย้งที่ถือเป็นจุดอันตรายถึงขั้นอาจเป็นจุดแตกหักระหว่างกองทัพกับพรรคเพื่อไทยยังคงดำรงอยู่ถึง 3 สัญญาณ คือ

สัญญาณแรก ขบวนการจาบจ้วง ดูหมิ่น และอาฆาดมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นจุดยืนของกองทัพที่ไม่สามารถจะยอมรับได้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็อาจจะพยายามลดกระแสนี้ด้วยการสร้างภาพว่าจะเอาจริงเอาจังกับการกวาดล้าง และดำเนินคดีกับผู้ที่ล่วงละเมิดและหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างจริงจัง แต่ความจริงก็เป็นที่รู้ดีกันว่ารัฐบาลดำเนินการไปแบบลูบหน้าปะจมูก เพราะขบวนการแดงล้มเจ้านั้นก็ยังแฝงอยู่ในบางปีกของ นปช. และเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ทำให้รัฐบาลชุดนี้ก็ดูจะยังลังเลไม่กล้าลงดาบสลัดทิ้ง และตัดกลุ่มบุคคลเหล่านี้ออกไป

ด้วยความลังเลและไม่เด็ดขาดเช่นนี้ จึงเป็นผลร้ายต่อรัฐบาลเองถึงสองด้าน เพราะด้านหนึ่งขบวนการจาบจ้วงและดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ในขณะที่อีกด้านหนึ่งกลุ่มฮาร์ดคอร์คิดล้มล้างเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็มองว่ารัฐบาลชุดนี้ไปจับมือกับอำมาตย์ และทรยศกลุ่มคนเสื้อแดงล้มเจ้าไปแล้ว

ดัชนีชี้วัดสำคัญต่อไปอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะมีจุดยืนอย่างไรกับกรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่จะทำการยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลง หรือจะยุติในการแก้ไข ก็จะทำให้เรื่องนี้มีความชัดเจนขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์นี้แล้วรัฐบาลคงไม่กล้ารุกในประเด็นนี้มากนักในเวลานี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงเกินไปในสถานการณ์ที่ชัดเจนว่าประชาชนคนไทยเกือบทั้งหมดของประเทศมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

สัญญาณที่สอง กองทัพต้องรักษาอธิปไตยของชาติ ในขณะที่รัฐบาลชุดนี้ต้องการเอาใจกัมพูชาในทุกมิติ ตรงนี้เองทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายทหารชัดเจน ฝ่ายรัฐบาลไทยต้องการให้ทหารถอยออกจากแผ่นดินไทยมากกว่า 4.6 ตารางกิโลเมตร เพื่อจะเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก

ส่วนฝ่ายกองทัพมีจุดยืนอย่างชัดเจน ว่า ทหารไทยได้ปกป้องเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตไปมากแล้วเพื่อปกป้องอธิปไตย 4.6 ตารางกิโลเมตร จึงไม่มีทางถอยออกจากพื้นที่นี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากพิจารณาในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับการบังคับอำนาจของศาลโลกมานานกว่า 40 ปีแล้ว อีกทั้ง “หากประเทศไทยยอมปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลกก็จะถือว่าเป็นชาติแรกในโลกที่ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลโลก” ทั้งนี้นับตั้งแต่ศาลโลกเคยออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมา 10 คดี ปรากฏว่าไม่เคยมีประเทศไหนเลยแม้แต่ประเทศเดียวที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว

กรณีความขัดแย้งนี้จึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลชุดนี้จะสานต่อในการรับอำนาจศาลโลกต่อจากรัฐบาลชุดที่แล้วหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีเวลาเหลือไม่มากเพราะหากศาลโลกตัดสินในช่วงเวลาไม่เกินเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 โดยที่รัฐบาลไทยยังนิ่งเฉยต่ออำนาจศาลโลก และไม่ยืนยันข้อสงวนของรัฐบาลไทยที่ได้แถลงต่อองค์การสหประชาชาติว่าประเทศไทยได้ประท้วง คัดค้าน และตั้งข้อสงวนต่อคำตัดสินที่อยุติธรรมในคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี พ.ศ. 2505 ประเทศไทยย่อมมีความสุ่มเสี่ยงที่จะตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ

ทั้งนี้ศาลโลกมีโอกาสที่จะตัดสินตีความให้เป็นประโยชน์กับกัมพูชาเพิ่มเติมโดยอาศัยมูลฐานเดิมที่เคยใช้ตัดสินปราสาทพระวิหารที่ประเทศไทยไม่เคยยอมรับคือ “กฎหมายปิดปากที่ประเทศไทยไม่ได้ปฏิเสธแผนที่ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว” เมื่อถึงเวลานั้นคงหนีไม่พ้นการเผชิญหน้าที่รัฐบาลชุดนี้ใช้คำวินิจฉัยของศาลโลกในการบังคับทหารไทยให้ทิ้งอธิปไตยและดินแดนของไทยอีกครั้งหนึ่งเป็นแน่

คำถามก็คือ กองทัพไทยจะยอมรอถึงวันเสียอธิปไตยตามนโยบายหมอบกราบต่ออำนาจศาลโลกของรัฐบาลชุดนี้หรือไม่?

สัญญาณที่สาม กรณีที่รัฐบาลเดินหน้าตามที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ตั้งสอบกรณีที่คนเสื้อแดงเสียชีวิต โดยเฉพาะกรณีการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงที่วัดปทุมวนารามและกรณีอื่นๆ อีกรวม 16 ศพ ที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษและกองบัญชาการตำรวจนครบาลผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ในที่สุดก็เปิดโอกาสให้รัฐบาลชุดนี้มาสวมยอดต่อในการตั้งธงเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐโดยดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีมีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานว่า:

มาตรา 150 วรรคสาม ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ตามวรรคหนึ่ง และให้นำบทบัญญัติในวรรคสองมาใช้บังคับ

มาตรา 150 วรรคสี่ เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ

มาตรา 150 วรรคห้า เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใครตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้ทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ

โปรดสังเกตว่า การสอบสวนทำสำนวนชันสูตรศพใช้เวลานานสุดได้ 90 วัน และเวลาที่อัยการทำคำร้องต่อศาลให้ไต่สวนถ่วงเวลานานที่สุดก็คือ 90 วัน!!!

สำหรับนักการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ได้เอาตัวรอดคดีนี้โดยระบุว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ดูแค่ภาพรวมเท่านั้น ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ได้นำเอาคำสั่งของตัวเองซึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นนัยว่าสิ่งที่ตัวเองได้สั่งการลงไปปรากฏตามเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น

แต่สำหรับทหารแล้วเรื่องนี้มีความสำคัญและละเอียดอ่อนไปมากกว่านั้น เพราะในศึกที่ต้องรับมือกับผู้ก่อการร้ายที่มีทั้งอาวุธสงคราม จนเหล่าทหารต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บไปเป็นจำนวนไม่น้อย กลับต้องตกมาเป็นจำเลยเสี่ยงในคดีความให้เจ็บใจอีก ข้อสำคัญที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการ ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น มีแนวโน้มพร้อมใจกันยืนข้างธงของฝ่ายรัฐบาลเพื่อเล่นงานกองทัพทั้งสิ้น

หากกองทัพปล่อยให้สำนวนนี้ขึ้นสู่การไต่สวน แม้ในทางปฏิบัติกองทัพอาจมีประเด็นมากมายที่จะมีโอกาสต่อสู้คดีนี้ได้ แต่หากผู้บังคับบัญชาปล่อยให้ลูกน้องที่ปฏิบัติตามคำสั่งในภารกิจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตแล้วยังต้องไปเสี่ยงในชั้นศาลเมื่อไหร่ ย่อมเท่ากับว่าสถาบันกองทัพจะเข้าสู่ความสั่นคลอนอย่างหนักจนถึงขั้นพังทลายทั้งระบบ และหมายความว่าการสั่งการในภารกิจทางทหารที่มีความเสี่ยงชีวิตในอนาคตอาจทำไม่ได้อีกต่อไป

แต่เรื่องนี้แม้รัฐบาลคิดอยากจะจับมือกับทหารก็คงจะยากเสียแล้ว เพราะการเอาใจคนเสื้อแดงจากการปลุกระดมมาแรมปีว่า “ทหารฆ่าประชาชน” ทำให้การดำเนินการทั้งหมดถูกตั้งธงเอาไว้ และต้องเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ที่ฝ่ายรัฐบาลได้เดินหน้าไปแล้วนั้น ได้ถูกกำหนดให้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนตามตารางเวลาอย่างชัดเจนไม่สามารถจะดิ้นหนีไปได้

ประเด็นที่ต้องจับตาต่อไปก็คือ อัยการได้รับสำนวนจากตำรวจเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 โดยอัยการจะเริ่มขอให้ศาลไต่สวนนัดแรกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคห้า ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และเมื่อตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการ พร้อมยืนข้างฝ่ายรัฐบาลแล้ว ทหารจะมีจุดยืนในการต่อสู้คดีนี้ได้อย่างไร?

สถานการณ์นี้บอกได้คำเดียวว่า...ระฆังยกสุดท้ายกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว!!!?
กำลังโหลดความคิดเห็น