xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านร้องขอที่ทำกิน โอดกรมอุทยานฯ ประกาศ พ.ร.ฎ.รุกที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาทนายฯ เผยฟ้องดะหน่วยงานรัฐ-รมต. มั่วประกาศอุทยานวังน้ำเขียวทับพื้นที่ชาวบ้าน ต.ไทยสามัคคี ขอศาลเพิกถอน พ.ร.ฎ.นี้ด่วน ระบุชาวบ้านมี ส.ค.1 ทะเบียนบ้าน เสียภาษีบำรุงท้องที่มาตลอด และอยู่ก่อนมีประกาศ พ.ร.ฎ. ยันผลคดีช่วยแค่ชาวบ้านไม่ครอบคลุมผู้ประกอบการรีสอร์ตวังน้ำเขียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไสว จิตเพียร ประธานสำนักงานคดีปกครอง สภาทนายความ ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจากองค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา กับพวกรวม 521 คน ได้เดินทางมายื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, อธิบดีกรมป่าไม้, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ, รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียว และป่าครบุรี เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2524 เฉพาะส่วนที่เป็นที่ตั้งอาณาเขตปกครองของอบต.ไทยสามัคคีหมู่1-11 อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ตามที่กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการรังวัดและปักหมายเลขที่ดินดังกล่าวไว้ เพื่อกันออกจากเขตที่ดินอุทยานแห่งชาติตามคำสั่งของกรมป่าไม้เมื่อปี พ.ศ. 2537 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2554 ที่เห็นชอบกันพื้นที่ดังกล่าวออกจากอุทยานแห่งชาติทับลาน และขอให้คณะรัฐมนตรี ดำเนินการเพิกถอนสภาพการเป็นอุทยานแห่งชาติทับลานของพื้นที่ดังกล่าวภายใน 90 วัน หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดเป็นต้นไป และระหว่างที่ยังไม่มีคำพิพากษาก็ขอให้ศาลฯมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 ระงับการกระทำหรือการปฏิบัติใดๆ ทั้งโดยอาศัยการใช้กฎ หรือคำสั่ง หรือการกระทำอื่นในพื้นที่บริเวณที่ดินพิพาทตามพระราชกฤษฎีกาจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

นายไสวกล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากสภาทนายความให้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวหลังจากชาวบ้านตำบลไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จำนวน 11 หมู่บ้าน รวม 521 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสภาทนายความ เพื่อขอความเป็นธรรม เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน กรณีที่มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทับพื้นที่ที่ชาวบ้านครอบครองถูกต้องตามกฎหมาย โดยหลังจากรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้ว สภาทนายความได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพบว่ามีข้อมูลว่า พื้นที่ในหมู่บ้านทั้ง 11 หมู่บ้านมีประชาชนอาศัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2440 เดิมที่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตป่าคุ้มครองหรือเขตป่าสงวนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พ.ศ.2481 รวมทั้งมีการจัดตั้งเป็น อบต. สถานีอนามัย โรงเรียน ชาวบ้านก็มีทะเบียนบ้าน และเสียภาษีบำรุงท้องที่ต่อทางราชการมาโดยตลอด แต่เมื่อมาถึงปี พ.ศ. 2515 รัฐบาลโดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวถูกรวมเข้าเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาปี พ.ศ. 2523 กองอุทยานแห่งชาติสังกัดกรมป่าไม้ ได้มีการรังวัดแนวเขต จัดพื้นที่ปรับปรุงและผนวกพื้นที่โดยรอบวนอุทยานป่าลานซึ่งรวมพื้นที่ ต.ไทยสามัคคีเข้าไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติทับลานในปี พ.ศ. 2524 โดยมีพื้นที่ 1.4 ล้านไร่และยังครอบคลุมพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี ที่มีเนื้อที่ 21,135 ไร่เข้าไปด้วย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชุมชน มีชาวบ้านอาศัยอยู่ ไม่ได้เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ

นายไสวกล่าวต่อว่า ชาวบ้านได้เรียกร้องความเป็นธรรมมาโดยตลอด จนกรมป่าไม้มีคำสั่งเมื่อปีพ.ศ. 2537 ตั้งคณะทำงานปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานขึ้น เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในกรอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ผลการปฏิบัติงานมีมติให้พื้นที่ประมาณ 6,135 ไร่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และผ่านความเห็นชอบของอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ จ.นครราชสีมา ต่อมาปี พ.ศ. 2540 ครม.ได้เห็นชอบให้มีการปรับแนวอุทยานแห่งชาติทับลานที่ได้มีการดำเนินการกันพื้นที่ไว้แล้วเพิ่มจำนวนขึ้นอีก 8 จุด เนื้อที่รวม 21,135 ไร่ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็ไม่ได้ดำเนินการเพิกถอนพื้นที่ส่วนดังกล่าวออกจากสภาพการเป็นที่ดินอุทยานแห่งชาติ จนวันนี้ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี 6 เดือน ถือว่าเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่จึงได้เดินทางมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้

เผย ครม.เคยเห็นชอบตัดส่วนออก แต่เกิดเป็นคดีฟ้องร้องเสียก่อนมีเอกสารสิทธิ

“จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ชาวบ้านมีเอกสารสิทธิเป็นใบ ส.ป.ก.ใบเสียค่าบำรุงท้องที่ และ ส.ค.1 ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งพบว่าขณะนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ เข้าไปดำเนินการบุกรุกพื้นที่ของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ทางสภาทนายความจึงมายื่นฟ้องในครั้งนี้ และยืนยันว่าการฟ้องของชาวบ้านจำนวน 521 คนไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทระหว่างผู้ประกอบการรีสอร์ตภายใน อ.วังน้ำเขียวกับกรมอุทยานฯอย่างแน่นอน โดยผลของคดีนี้จะครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ฟ้องจำนวน 521 คนเท่านั้นไม่ไปสู่การเป็นบรรทัดฐานต่อคดีอื่นแน่นอน”
กำลังโหลดความคิดเห็น