ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สภาอุตฯท่องเที่ยวไทย ชี้ กรณีบุกรุกป่าวังน้ำเขียว ภาคเอกชนตกเป็นจำเลยสังคม และรับกรรมความเสียหาย เหตุหน่วยงานรัฐขัดแย้งกันเอง 3 กระทรวง เข้าส่งเสริมท่องเที่ยว แต่อีกกระทรวงมาจับกุม แนะรัฐบาลใหม่นำ 4 กระทรวง เกี่ยวข้องร่วมถกหาทางแก้ปัญหาเพื่อเป็นกรณีศึกษาใช้กับทั่วประเทศ ด้านป่าไม้โคราชเดินหน้าลุยติดป้ายแจ้งการยึดครองจับดำเนินคดีครบทั้ง 22 รีสอร์ตแล้ว เจ้าของโผล่แสดงตัวแล้ว 4 ราย อ้างอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษมีแค่ใบ “ภบท.5” จ่อแจ้งจับ 17 รายใหม่
วันนี้ (26 ส.ค.) นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานฝ่ายนโยบายสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการดำเนินการของเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการบ้านพักรีสอร์ตที่บุกรุกป่าในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ทั้งในส่วนของป่าสงวนแห่งชาติ, อุทยานแห่งชาติ และ ส.ป.ก.ว่า อ.วังน้ำเขียว เป็นกรณีศึกษาที่ดียิ่งกับการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามแนวนโยบายของรัฐที่จะผสมผสานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ แต่กรณีนี้เห็นว่า มีหลายกระทรวงที่เข้ามาชี้นำนโยบายให้กับภาคเอกชนได้เข้าไปลงทุนในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว โดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 3 กระทรวง นี้ ได้สนับสนุนภาคเอกชนให้ทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเชิงเกษตร แต่มาถึงตอนนี้กรมอุทยานแห่งชาติ และ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับมาดำเนินการเอาผิดกับผู้ประกอบการ
ฉะนั้น จะเห็นถึงความไม่ประสานงานของหน่วยราชการด้วยกันว่า ใน 3 กระทรวงได้ทำการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน กับอีกกระทรวงได้พยายามบังคับใช้กฎหมายตามที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องแปลก และไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่ว่าภาคเอกชนจะตกเป็นจำเลยของสังคม และก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาคเอกชน ตนจึงอยากเห็นว่า เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว 4 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวบริเวณ อ.วังน้ำเขียว และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อ.วังน้ำเขียว ควรได้นั่งคุยกันและกำหนดแนวนโยบายในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชัดเจนอีกสักครั้งหนึ่ง และเชื่อว่าภาคเอกชนไม่มีใครที่จะไม่ปฏิบัติตามแนวนโยบายของรัฐ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ต้องถือว่าภาคเอกชนได้ปฏิบัติตามแนวนโยบายของรัฐ แต่แนวนโยบายของรัฐมีหลายกระทรวงที่ทำให้เกิดความสับสนกับภาคเอกชน ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่น่าจะมีการบูรณาการนโยบายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และเชิงเกษตรในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยใช้กรณี อ.วังน้ำเขียวเป็นกรณีศึกษา และต้องไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้ขึ้นมาซ้ำซ้อนในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทยอีก
“กรณีนี้น่าจะเป็นบทเรียนราคาแพงที่ภาคเอกชนได้เข้าไปดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับภาครัฐ แต่ขณะเดียวกันมีบางหน่วยงานที่ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ถูกต้อง ฉะนั้นความจริงแล้วภาคเอกชนเราย่อมไม่รู้ว่า สิ่งใดทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะนโยบายของรัฐยังมีความขัดแย้งกันอยู่ก็น่าจะใช้บทเรียนของวังน้ำเขียวให้เป็นประโยชน์โดยเร็วที่สุดกับทุกๆ พื้นที่ที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร” นายกงกฤช กล่าว
นายกงกฤช กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้หลักกฎหมายคงต้องเดินหน้าต่อไป เพราะบ้านเมืองต้องใช้หลักนิติธรรม นิติรัฐ เป็นหลัก อันนี้ยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่ เพียงแต่ว่าหน่วยงานที่ไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ ต่อไปคงต้องทำความเข้าใจกับส่วนราชการที่เป็นเจ้าของพื้นที่และกำหนดนโยบายเป็นเป้าหมายร่วมกันแล้วค่อยมาชี้นำภาคเอกชน ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับภาคเอกชนอย่างเช่นกรณีวังน้ำเขียวขึ้นอีก และการที่จะต้องทุบหรือทำลายหรือรื้อถอนรีสอร์ตต่างๆ จำนวนมากนี่ถือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความไม่ประสานกันของนโยบายระหว่างกระทรวงต่างๆ อันนี้เรียนตามตรงว่าผู้ได้รับผลกรรมคือภาคเอกชนรวมทั้งภาคประชาชนบางส่วน ฉะนั้นรัฐบาลชุดใหม่นี้ไม่ควรที่จะให้เกิดขึ้นอีก
นายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการกับบ้านพัก รีสอร์ต 22 แห่งที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง บริเวณเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ว่า จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ดำเนินการติดป้ายประกาศแจ้งการถูกตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีและห้ามบุกรุกเพิ่มเติม เสร็จเรียบร้อยครบทั้ง 22 แห่ง รวมพื้นที่บุกรุก 736 ไร่ 1 งาน 68 ตารางวาแล้ว โดยหลังติดป้ายประกาศแจ้ง สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมาจะให้เวลาเจ้าของรีสอร์ตบ้านพักทั้ง 22 แห่งอีก 15 วันนำหลักฐานเอกสารสิทธิ์การครอบครองพื้นที่ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ หากยังเพิกเฉยทางกรมป่าไม้จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 25 สั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ภายใน 45 วันต่อไป
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ติดป้ายประกาศ ดังกล่าว ของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้มีอุปสรรคบ้างเล็กน้อย เพราะรีสอร์ตบางแห่งเจ้าของได้นำคนงานมารื้อถอนป้ายที่ติดตั้งออกทันทีและไม่ยอมให้ติดในพื้นที่ แต่ไม่ได้เกิดปัญหาอะไรมากเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้โต้เถียงอะไร เนื่องจากถือว่าได้ติดแผ่นป้ายแจ้งให้เจ้าของพื้นที่ทราบแล้ว
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีเจ้าของรีสอร์ต-บ้านพัก ติดต่อแสดงตัวกับพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีแล้ว 3-4 ราย ส่วนใหญ่อ้างว่ามีเอกสารใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5) และอยู่ในพื้นที่มานานตั้งแต่สมัยบิดามารดา ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แจ้งให้เจ้าของรีสอร์ตบ้านพักเตรียมเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วนแล้วนำมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ก่อนจะสรุปสำนวนคดี
ส่วนการดำเนินการกับรีสอร์ตบ้านพักอีก 17 แห่ง ที่เข้าข่ายบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว เพิ่มเติมนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบพิกัดและรอผลการยืนยันจากกรมป่าไม้ ซึ่งหากได้รับการยืนยันแล้ว เจ้าหน้าที่จะเข้าแจ้งความดำเนินคดีเพิ่มเติมและเข้าสู่กระบวนการเดียวกันบ้านพักรีสอร์ต 22 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบหารีสอร์ตบ้านพักที่บุกรุกป่าสงวนป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว เพิ่มเติมด้วย เพราะมีข้อมูลเชื่อว่ายังมีรีสอร์ตบ้านพักอีกหลายแห่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โซนซี และ โซนอี