ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ปัญหารุกป่าวังน้ำเขียวโคราช หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการบ้านพักรีสอร์ต -ปชช. ชาววังน้ำเขียว อ้างเดือดร้อนจากการแจ้งจับ ไล่รื้อกรณีบุกรุกป่าสงวนฯป่าเขาภูหลวง - อุทยานฯทับลาน ของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ
วันนี้ (19 ส.ค.) ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ผู้ตรวจการแผ่นดินนำโดย ศ.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและร่วมประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียน โดยมี นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, นายสถิตพงษ์ สุดชูเกียรติ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) , หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตัวแทนกรมป่าไม้ และ นายสมศักดิ์ ปริสุทโธ เหมทานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมชี้แจงรายละเอียด พร้อม มีตัวแทนผู้ประกอบการบ้านพักรีสอร์ต และ ประชาชนชาวอ.วังน้ำเขียวในฐานะผู้ร้องเรียนได้เข้าร่วมชี้แจงและรับฟังกว่า 100 คน
ศ.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีขอให้พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริง จากการที่ผู้ร้องเรียนถูกกล่าวหาว่า บุกรุกที่ป่าสงวนบริเวณ อ.วังน้ำเขียว ทำให้ผู้ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย ในกรณีดังกล่าวได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นจากผู้ร้องเรียนว่า ได้มีการเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง พ.ศ. 2516 และ อุทยานแห่งชาติทับลาน พ.ศ. 2524
ต่อมาเมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ก็ได้มีการรังวัดสำรวจพื้นที่บางส่วน และกันพื้นที่นอกเขตดำเนินการไว้เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชน ซึ่งระหว่างที่ผู้ร้องเรียนและคณะครอบครองที่ดินไม่ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโต้แย้งแต่ประการใด และไม่ปรากฏว่ามีหลักเขตหรือป้ายหรือเครื่องหมายอื่นใด ที่แสดงว่าเป็นแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีเพียงการปักหมุดหลักแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติห่างจากที่ดินที่ผู้ร้องเรียนได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่
นอกจากนี้ การปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้ยื่นคำขอและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งหน่วยงานของรัฐยังได้จัดทำระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้แก่ผู้อยู่อาศัย มีการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ทำให้ราษฎรเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรรมมาเป็นเกษตรกรเชิงนิเวศ มีรายได้จากการนำผลผลิตมาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว
ดังนั้น การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กล่าวอ้างว่ามีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวข้างต้น จะทำการจับกุมและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ทำให้ผู้ร้องเรียนและคณะได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย
ศ.ศรีราชา กล่าวอีกว่า กรณีนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่สามารถรับไว้พิจารณาได้ และจากการตรวจสอบข้อร้องเรียนในเบื้องต้นพบว่า เรื่องร้องเรียนดังกล่าวเป็นเรื่องการโต้แย้งความชัดเจนในการกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงและพระราชกฤษฎีกากับแนวเขตในภาคพื้นดิน ตลอดจนการกล่าวอ้างเกี่ยวกับการเข้าครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นของผู้ร้องเรียน และคณะ อีกทั้งต้องพิจารณาว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ กฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่
ต่อมาเวลา 11.00 น. ศ.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแนวควบคุมเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน บ.บุไทร ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว ซึ่งเป็นแนวเขตที่มีข้อตกลงสำรวจร่วมกันในปี 2543 และประชาชนเรียกร้องให้ทำการเพิกถอนเขตอุทยานฯทับลาน โดยยึดตามข้อตกลงร่วมปี 2543 ดังกล่าว
จากนั้นเวลา 14.00 น. ศ.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมคณะ ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับ นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ , นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ,นายสถิตพงษ์ สุดชูเกียรติ รองเลขาธิการ ส.ป.ก. ,นายสมศักดิ์ ปริสุทโธ เหมทานนท์ รองผู้ว่าฯ นครราชสีมา , นายอำเภอวังน้ำเขียว พร้อมด้วย ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้ร้องเรียน อีกครั้ง ที่ ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
ศ.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยอีก ว่า การหารือยังไม่ได้ข้อยุติ หรือข้อสรุปใดๆ เพราะเรื่องนี้ค่อนข้างจะลึกซึ้งและซับซ้อน วันนี้แค่รับฟังข้อคิดเห็นร่วมกันของชาวบ้านและรับฟังข้อคิดเห็นของส่วนราชการ โดยเฉพาะอธิบดีป่าไม้ , อธิบดีกรมอุทยานฯ และ ทาง ส.ป.ก. ส่วนข้อสรุปที่ได้ในเบื้องต้นภายหลังจากได้รับฟังข้อคิดเห็นจากทั้งภาคประชาชนในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว และจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว
ในฐานะที่ตนเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งเป็นคนกลางมองว่า ยังมีความจำเป็นที่จะต้องไปศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจนมาเป็นปัญหาเช่นทุกวันนี้อีกระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนของข้อพิพาทกรณีบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เนื่องจากทาง นายจงกล สระเจริญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว ได้อ้างว่ามีการปักหลักแนวเขตของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ที่เคยได้สำรวจทำแนวเขตนี้ขึ้นมาเมื่อปี 2543 จำนวน 197 หลัก
ศ.ศรีราชา กล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ปัญหานั้น ตนเตรียมนำเสนอให้รัฐบาลมีการสำรวจจำกัดแนวเขตพื้นที่เพื่อรักษาป่าต้นน้ำอย่างเป็นระบบและชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติมอีก พร้อมมองหาวิธีการผ่อนปรนแบบมีเงื่อนไขให้ที่ชาวบ้านสามารถอยู่กับป่าได้ แต่ต้องไม่ถึงขั้นไปละเมิดกฎหมายทั้งส่วนของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องหาจุดความพอดี ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องศึกษารายละเอียดที่ชัดเจนก่อนเสนอให้ทางรัฐบาลเป็นผู้พิจารณาแนวทางแก้ไข
ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในระหว่างนี้เบื้องต้นคิดว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะยังไม่ดำเนินการใดๆ กับกลุ่มประชาชนที่อยู่อาศัยโดยสุจริต ดังนั้น อยากขอร้องให้ทุกฝ่ายอยู่นิ่งๆไปก่อน เพื่อไม่ให้ปัญหาทุกอย่างบานปลายและเลวร้ายลงไปกว่านี้ แต่ในส่วนกรณีที่ศาลมีคำตัดสินหรือมีการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้วก็ต้องดำเนินการตามกระบวนกฎหมายต่อไป และหากผลออกมาอย่างไรทุกฝ่ายต้องยึดถือตามนั้น โดยเฉพาะคดีที่ศาลตัดสินมีความผิดออกมาแล้วถือว่าบุคคลคนนั้นผิดจริง จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลเป็นเรื่องที่ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ และการบังคับคดีก็ไม่สามารถชะลอหรือเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรีสอร์ตบ้านพักและประชาชนชาว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ได้เสนอข้อเรียกร้อง ต่อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน 5 ข้อหลัก ๆ ประกอบด้วย
1. ขอให้ทางราชการชะลอการดำเนินการใดๆ ตามกฎหมายกับคนในพื้นที่เพื่อลดผลกระทบด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจจนกว่าจะมีนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน
2.ขอให้มีการพิจารณาเพิกถอนพื้นที่ทับซ้อนชุมชนออกจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี 2524 จำนวน 15 ตำบล 80 หมู่บ้าน โดยยึดหลักแนวเขตที่มีข้อตกลงร่วมกันปี 2543 และให้มีการทบทวนจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ ที่จะผนวกเข้าเป็นพื้นที่อุทยานทับลานด้วย
3.ให้มีคณะกรรมการร่วมกำหนดแนวเขตป่าสงวนโซน C ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวงที่ทับซ้อนชุมชน ให้ชัดเจนโดยมีข้อตกลงการจัดการพื้นที่ร่วมกันทุกภาคส่วนตามสภาพความเป็นจริง
4.ให้มีการวงแผนการจัดการพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว ร่วมกันทุกภาคส่วนและมีนโยบายกำหนดอำเภอวังน้ำเขียวเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
และ 5. ขอให้พิจารณาระเบียบปฏิบัติการใช้ประโยชน์ที่ดินของ ส.ป.ก.ให้สามารถพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงแต่ละท้องถิ่น