ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ป่าไม้โคราชเร่งส่งข้อมูลพิกัดรีสอร์ต 17 แห่งรายใหม่รุกป่าวังน้ำเขียวให้กรมป่าไม้ยืนยันกลับมาใน 2 สัปดาห์ก่อนแจ้งจับ ขณะเจ้าของรีสอร์ต “เขาแผงม้า” 22 แห่งล็อตแรกยังล่องหนไม่ยอมแสดงตัวกับ ตร.ด้าน “ส.อบจ.” พร้อม “ส.ส.” เตรียมนำกลุ่มแกนนำชาววังน้ำเขียวบุกพบ “รมว.ทรัพย์” จี้หาแนวทางช่วยเหลือนายทุนรีสอร์ตรุกป่าถูกดำเนินคดีและชาวบ้าน ชี้ให้ศึกษา “ฟาร์มโชคชัย” เป็นตัวอย่าง จากเมื่อก่อนเช่าที่ดินป่าไม้ แต่วันนี้กลายเป็นโฉนดทั้งหมด ถามทำได้อย่างไร พร้อมเดินหน้าล่าชื่อ 5 หมื่นแก้กม. 3 ฉบับ
วันนี้ (16 ส.ค.) นายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการลงพื้นที่ตรวจสอบรีสอร์ตบ้านพักรายใหม่อีก 17 จุด ที่เข้าข่ายบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง ต.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา หลังจากเสร็จสิ้นการตรวจสอบรีสอร์ตบ้านพัก จำนวน 22 แห่ง บริเวณเขาแผงม้า และ แจ้งความดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้แล้ว ว่า ล่าสุด อยู่ระหว่างการส่งข้อมูลพิกัดที่ตั้งโดยสังเขปให้กับทางกรมป่าไม้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา ได้ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบจุดพิกัดที่ตั้งรีสอร์ต บ้านพักทั้ง 17 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่โดยรอบพื้นที่อนุรักษ์เขาแผงม้า ต.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่สงสัยว่าอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ เพื่อนำไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับแผนที่ ภาพถ่ายแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวงอย่างละเอียดอีกครั้งว่าพิกัดที่ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา ได้ตรวจสอบในพื้นที่นั้น เข้าข่ายบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ตามแผนที่ภาพถ่ายที่กรมป่าไม้มีอยู่หรือไม่ และมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งในส่วนนี้ทางกรมป่าไม้จะทำการตรวจวิเคราะห์และสรุปผลออกมาว่าพื้นที่ที่ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา ส่งไปตรวจพิสูจน์นั้นบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจริงหรือไม่
หากผลการตรวจสอบของกรมป่าไม้ ระบุว่า บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจริง กรมป่าไม้ก็จะยืนยันผลออกมาและจะมีคำสั่งให้เข้าดำเนินการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์การถือครอง ตามอำนาจใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 25 และแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินนคดีกับผู้บุกรุกเหมือนเช่นกรณี การตรวจสอบรีสอร์ตที่พักทั้ง 22 แห่งที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ คาดว่า กระบวนการตรวจสอบพิจารณาตีความของกรมป่าไม้ จะเสร็จสิ้นและมีผลสรุปออกมาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
ขณะที่ พ.ต.อ.วชิรวิชญ์ กฤษณ์ฤทธิศักย์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (รองผบก.ภ.จว.) นครราชสีมา เปิดเผยความคืบหน้าคดีเจ้ารีสอร์ตและบ้านพัก 22 ราย บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง บริเวณเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว ว่า หลังจากพนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียว ได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 1 ให้เจ้าของรีสอร์ตและบ้านพักทั้ง 22 ราย มารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมชี้แจงเอกสารสิทธิในการครอบครองไปแล้วนั้น ล่าสุด จนถึงขณะนี้ยังไม่มีเจ้าของรีสอร์ตรายใดมาแสดงตัวรับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนจะให้เวลา 15 วัน หากยังไม่มาพบอีกก็จะออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ซึ่งหากออกหมายเรียก 2 ครั้งแล้ว ยังไม่มาพบพนักงานสอบสวนก็จะได้ยื่นขอศาลเพื่อออกหมายจับต่อไป
ด้าน นายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (ส.อบจ.นม.) เขต อ.วังน้ำเขียว แกนนำกลุ่มชาวบ้านอำเภอวังน้ำเขียว กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มแกนนำชาวบ้านกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมรายละเอียดข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนใหม่ เพื่อให้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการรีสอร์ตที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกป่าและให้ความชัดเจนกับประชาชนที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ คาดว่า ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ประมาณ 10 คน นำโดยนายประนอม โพธิ์คำ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เขต 12 นครราชสีมา และตนจะเดินทางเข้าพบนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพย์ฯภายในสัปดาห์นี้ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กรุงเทพฯ
ขณะนี้ชาวบ้านที่ทำงานเป็นลูกจ้างในรีสอร์ตหลายคน ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ต้องตกงาน ไม่มีเงินเลี้ยงครอบครัวและส่งให้บุตรหลานเรียนหนังสือ เมื่อเช้านี้มีชาวบ้านประมาณ 3-4 ราย เข้ามาขอยืมเงินตนเพื่อส่งไปเป็นค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน ตนก็ช่วยเหลือไปแต่จะช่วยทุกคนคงไม่มีเงินมากพอที่จะให้หยิบยืมฉะนั้นจึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้
นายชุณห์ กล่าวอีกว่า ส่วนการล่ารายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ ในการเสนอแก้กฎหมาย 3 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยทำกินและใช้ประโยชน์ในที่ดินสร้างเป็นเมืองท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้องโดยไม่ขัดต่อกฎหมายนั้น ล่าสุดจนถึงขณะนี้มีประชาชนมาลงชื่อแล้วกว่า 15,000 รายชื่อและยังคงเดินหน้าล่ารายชื่ออย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครบ 50,000 รายชื่อตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
“อย่างไรก็ตาม กรณีพิพาทปัญหาที่ดินและป่าไม้ ของ อ.วังน้ำเขียว หลายคนเสนอว่าให้ศึกษากรณีของฟาร์มโชคชัย อ.ปากช่อง เป็นตัวอย่าง เพราะเมื่อประมาณ 20-30 ปี ฟาร์มโชคชัยเคยเช่าที่ปาไม้มาก่อน แต่ทุกวันนี้ที่ดินของฟาร์มโชคชัยทั้งหมดกลับออกเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินได้ทั้งหมดแล้ว จึง อยากตั้งคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไร” นายชุณห์ กล่าว