ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ประกอบการบ้านพักรีสอร์ต“วังน้ำเขียว”กว่า 500 แห่งไม่สนถูกเชือดคดีบุกรุกป่า ดิ้นจัดโปรโมชันพิเศษกระหน่ำลดราคาห้องพัก 50% หวังดูดนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ พร้อมจัดทัวร์เที่ยวฟรีพิสูจน์ข้อเท็จจริง ยันจุดยืนเดิมจี้รัฐบาลดันวังน้ำเขียวเป็นเมืองท่องเที่ยวพิเศษและชะลอบังคับใช้ กม.ทุกกรณี ขณะ นอภ.ผุดโครงการซับน้ำตาขนสินค้าเกษตรขายหน้าห้างดัง เผยคดี 22 รีสอร์ตฮุบป่า“เขาแผงม้า”ไม่คืบยังไร้เงาหัวเจ้าของแสดงตัว
วานนี้(15 ส.ค.)นายชัยยงค์ ฮมภิรมย์ นายอำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดี รีสอร์ต และบ้านพัก 22 แห่ง บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง บริเวณเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าพนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียวได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 1 ให้เจ้าของรีสอร์ตบ้านพักทั้ง 22 แห่ง มารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมชี้แจงเอกสารสิทธิ์การครอบครองกับพนักงานสอบสวน ล่าสุดจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเจ้าของหรือผู้ประกอบการรีสอร์ตรายใด มาแสดงตัวรับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันเจ้าพนักงานสอบสวนกำลังเร่งสืบหาเจ้าของรีสอร์ตที่แท้จริงให้มีความชัดเจน ซึ่งหากออกหมายเรียก 2 ครั้งแล้ว ยังไม่มาพบพนักงานสอบสวนก็จะได้ยื่นขอศาลออกหมายจับต่อไป ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ไม่ถึงขั้นที่ต้องเร่งรัดโดยให้เวลากับผู้ประกอบการมาแสดงตัวรับข้อกล่าวหาและชี้แจงภายใน 15 วัน หลังได้รับหมายเรียกในแต่ละครั้ง
นายชัยยงค์ กล่าวถึงปัญหาการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรได้มีการหารือกันระหว่างทางอำเภอกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า ในเบื้องต้นจะให้การช่วยเหลือในการกระจายสินค้าเกษตรด้วยการจัดโครงการ“ซับน้ำตาชาววังน้ำเขียว”โดยเปิดขายสินค้าเกษตรจาก อ.วังน้ำเขียว ทั้งผักสด ผลไม้ เห็ดหอมสด และสินค้าเกษตรปลอดสารพิษอื่น ๆ ที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา อ.เมืองนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป หากได้รับการตอบรับที่ดีจะเพิ่มปริมาณสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ
นายชัยยงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับทางด้านผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว อ.วังน้ำเขียว ช่วงบ่ายวานนี้ (15 ส.ค.)ได้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนเกษตรกร รวมกว่า 100 คนถึงแนวทางการแก้ปัญหา และ ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่เตรียมยื่นเสนอต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอวังน้ำเขียว
โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ผู้ประกอบการบ้านพัก รีสอร์ต อ.วังน้ำเขียว ที่มีอยู่กว่า 500 แห่ง รวมห้องพักประมาณ 10,000 ห้อง จะร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด โดยจัดรายการโปรโมชั่นพิเศษกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น ลดราคาค่าห้องพัก 50% พร้อมเที่ยวฟรี กินฟรี และ จะมีโปรโมชั่นอื่นๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการฯ จะนัดหารือกำหนดรายละเอียดโครงการที่ชัดเจนร่วมกันอีกครั้ง
นายชัยยงค์ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล นั้นที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันโดยยึดจุดยืนเดิมตามข้อเรียกที่ได้เสนอมาตั้งแต่แรก คือ 1.ขอให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดและตัดสินว่าควรจะกำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติอย่างไร เพื่อผลการปฏิบัติออกมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมากที่สุด และให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายต่างๆในทุกกรณี รวมถึงให้หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหยุดให้ข่าวจนกว่าผลการตรวจสอบความจริงของรัฐบาลชุดนี้จะได้ข้อยุติออกมา
2.ให้อุทยานแห่งชาติทับลาน ยึดถือเอาแนวเขตอุทยานฯใหม่ที่มีการออกสำรวจร่วมกับภาคประชาชนปี 2543 เป็นแนวเขตหลักในการบริหารจัดการพื้นที่แทนแนวเขตอุทยานฯ เดิมที่ประกาศเมื่อปี 2524 เนื่องจาก เป็นแนวเขตอุทยานฯทับที่ทำกินของประชาชน
3.ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการออกสำรวจแนวป่าโซนซี ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ด้วยการลงพื้นที่จริง เพื่อกำหนดเป็นแนวเขตที่ชัดเจน ไม่ใช่ขีดเส้นแนวเขตบนแผนที่โดยไม่ลงมาดูสภาพแวดล้อมจริงอย่างที่เคยเป็นมา เพื่อความชัดเจนและป้องกันปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในภายภาคหน้า
4.ให้มีการวางผังการบริหารจัดการพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวใหม่ โดยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน กลุ่มเครือข่ายนักอนุรักษ์ ในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดผังบริหารจัดการพื้นที่โดยทั่วกัน และ 5.ให้มีการประกาศให้พื้นที่ อ.วังน้ำเขียว เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน เพื่อให้การขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง.
วานนี้(15 ส.ค.)นายชัยยงค์ ฮมภิรมย์ นายอำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดี รีสอร์ต และบ้านพัก 22 แห่ง บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง บริเวณเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าพนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียวได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 1 ให้เจ้าของรีสอร์ตบ้านพักทั้ง 22 แห่ง มารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมชี้แจงเอกสารสิทธิ์การครอบครองกับพนักงานสอบสวน ล่าสุดจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเจ้าของหรือผู้ประกอบการรีสอร์ตรายใด มาแสดงตัวรับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันเจ้าพนักงานสอบสวนกำลังเร่งสืบหาเจ้าของรีสอร์ตที่แท้จริงให้มีความชัดเจน ซึ่งหากออกหมายเรียก 2 ครั้งแล้ว ยังไม่มาพบพนักงานสอบสวนก็จะได้ยื่นขอศาลออกหมายจับต่อไป ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ไม่ถึงขั้นที่ต้องเร่งรัดโดยให้เวลากับผู้ประกอบการมาแสดงตัวรับข้อกล่าวหาและชี้แจงภายใน 15 วัน หลังได้รับหมายเรียกในแต่ละครั้ง
นายชัยยงค์ กล่าวถึงปัญหาการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรได้มีการหารือกันระหว่างทางอำเภอกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า ในเบื้องต้นจะให้การช่วยเหลือในการกระจายสินค้าเกษตรด้วยการจัดโครงการ“ซับน้ำตาชาววังน้ำเขียว”โดยเปิดขายสินค้าเกษตรจาก อ.วังน้ำเขียว ทั้งผักสด ผลไม้ เห็ดหอมสด และสินค้าเกษตรปลอดสารพิษอื่น ๆ ที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา อ.เมืองนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป หากได้รับการตอบรับที่ดีจะเพิ่มปริมาณสินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ
นายชัยยงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับทางด้านผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว อ.วังน้ำเขียว ช่วงบ่ายวานนี้ (15 ส.ค.)ได้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนเกษตรกร รวมกว่า 100 คนถึงแนวทางการแก้ปัญหา และ ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่เตรียมยื่นเสนอต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอวังน้ำเขียว
โดยที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ผู้ประกอบการบ้านพัก รีสอร์ต อ.วังน้ำเขียว ที่มีอยู่กว่า 500 แห่ง รวมห้องพักประมาณ 10,000 ห้อง จะร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด โดยจัดรายการโปรโมชั่นพิเศษกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น ลดราคาค่าห้องพัก 50% พร้อมเที่ยวฟรี กินฟรี และ จะมีโปรโมชั่นอื่นๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการฯ จะนัดหารือกำหนดรายละเอียดโครงการที่ชัดเจนร่วมกันอีกครั้ง
นายชัยยงค์ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล นั้นที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันโดยยึดจุดยืนเดิมตามข้อเรียกที่ได้เสนอมาตั้งแต่แรก คือ 1.ขอให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดและตัดสินว่าควรจะกำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติอย่างไร เพื่อผลการปฏิบัติออกมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมากที่สุด และให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายต่างๆในทุกกรณี รวมถึงให้หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหยุดให้ข่าวจนกว่าผลการตรวจสอบความจริงของรัฐบาลชุดนี้จะได้ข้อยุติออกมา
2.ให้อุทยานแห่งชาติทับลาน ยึดถือเอาแนวเขตอุทยานฯใหม่ที่มีการออกสำรวจร่วมกับภาคประชาชนปี 2543 เป็นแนวเขตหลักในการบริหารจัดการพื้นที่แทนแนวเขตอุทยานฯ เดิมที่ประกาศเมื่อปี 2524 เนื่องจาก เป็นแนวเขตอุทยานฯทับที่ทำกินของประชาชน
3.ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการออกสำรวจแนวป่าโซนซี ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง ด้วยการลงพื้นที่จริง เพื่อกำหนดเป็นแนวเขตที่ชัดเจน ไม่ใช่ขีดเส้นแนวเขตบนแผนที่โดยไม่ลงมาดูสภาพแวดล้อมจริงอย่างที่เคยเป็นมา เพื่อความชัดเจนและป้องกันปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าในภายภาคหน้า
4.ให้มีการวางผังการบริหารจัดการพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวใหม่ โดยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน กลุ่มเครือข่ายนักอนุรักษ์ ในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดผังบริหารจัดการพื้นที่โดยทั่วกัน และ 5.ให้มีการประกาศให้พื้นที่ อ.วังน้ำเขียว เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน เพื่อให้การขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง.