ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กรมป่าไม้เดินหน้าไม่หยุด แจ้งจับ 22 รีสอร์ต รุก “เขาแผงม้า” ป่าสงวนฯเขาภูหลวงที่ สภ.วังน้ำเขียว โคราชแล้ว พร้อมจัดชุดปฏิบัติการพิเศษสนธิกำลัง ตร.ท้องที่ ลุยตรวจค้นรีสอร์ตเป้าหมายแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ ชี้ หากเจ้าของยินยอมไม่จำเป็นต้องรอหมายศาล และพร้อมรับมือม็อบต้าน แฉพบรีสอร์ตรุกป่าต่อแถวรอเชือดอีก 17 ราย ย้ำ ฟันไม่เลี้ยง ด้านผู้ว่าฯวอน ปชช.ทั่วประเทศแยกแยะ อย่าเหมารวมชาววังน้ำเขียวกับรีสอร์ตรุกป่า ระบุ เกษตรกรกว่า 1 พันครอบครัว เดือดร้อนหนัก สินค้าเกษตรถูกบอยคอต สูญวันละ 2.5 ล้าน
วันนี้ (9 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีปลูกป่า “โครงการ 84 ป่าชุมชน ปลูกต้นไม้ถวายพ่อ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” จำนวน 10,000 ต้น บนพื้นที่ จำนวน 50 ไร่ ที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชนเขาสามสิบส่าง และเขาเขียว ในพื้นที่ ต.มะเกลือเก่า อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา
จากนั้น นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการกับบ้านพัก รีสอร์ตที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ว่า กระบวนการที่ทางกรมป่าไม้ดำเนินการอยู่ขณะนี้เป็นกระบวนการขอคืนพื้นที่กลับมา เพื่อสร้างป่าไม้ให้กลับคืนมาสู่ประเทศ ซึ่งในการดำเนินการกับผู้ประกอบการรีสอร์ตที่พักทั้ง 22 แห่ง ที่ทางกรมป่าไม้ มีหลักฐานที่สามารถเชื่อได้ว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง นั้นหลังจากรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้นำข้อมูลหลักฐานเหล่านั้นไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ประกอบการทั้ง 22 แห่งแล้ว ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ สภ.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ในข้อหาบุกรุกพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และ ข้อหาทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้ชุดปฏิบัติการพิเศษของกรมป่าไม้ ประสานงานร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เข้าทำการตรวจสอบเอกสารสิทธิ และพื้นที่รีสอร์ตทั้ง 22 แห่ง ที่ทางกรมป่าไม้มีหลักฐานว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทันที โดยเริ่มต้นลงพื้นที่ตรวจสอบในบางส่วนในวันนี้ (9 ส.ค.) เป็นวันแรก
สำหรับการเข้าตรวจสอบรีสอร์ตในครั้งนี้ จะเป็นทั้งการขอเข้าตรวจสอบโดยความยินยอมของผู้ประกอบการที่อยู่ใน 22 จุดเอง หากผู้ประกอบการรายใดอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่ได้ก็จะเข้าทำการตรวจสอบเอกสารสิทธิ ที่ระบุว่า เป็นผู้ถือครองพื้นที่โดยทันที แต่หากไม่มีหลักฐานเอกสารสิทธิที่จะมายืนยันว่าเป็นผู้ครอบครองพื้นที่ เจ้าหน้าที่ก็จะทำการสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด หากพบว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จริง ก็จะอาศัยอำนาจ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตราที่ 25 สั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ภายใน 45 วัน
แต่หากผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างไม่อนุญาตให้เข้าทำการตรวจสอบ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะต้องรอหมายศาลเพื่อเข้าตรวจค้นเคหสถานจากศาลจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งจะดำเนินการเข้าตรวจค้นในโอกาสต่อไป คาดว่า จะสามารถเข้าตรวจสอบในพื้นที่ทั้ง 22 จุด ได้เสร็จสิ้นและทราบผลภายในสัปดาห์นี้แน่นอน
“นอกจากรีสอร์ตทั้ง 22 แห่งดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ทางกรมป่าไม้กำลังรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อเตรียมดำเนินการเอาผิดกับเจ้าของรีสอร์ตที่พักในพื้นที่ ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งเข้าข่ายบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง เช่นเดียวกันอีกจำนวน 17 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบอย่างละเอียด ส่วนใหญ่อยู่ใกล้พื้นที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง”นายสุวิทย์ กล่าว
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงพื้นที่ในการตรวจสอบรีสอร์ตที่พัก ที่เข้าข่ายบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวงนั้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ และพนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียว มีความพร้อมที่จะเข้าทำการตรวจสอบทันทีตั้งแต่วันนี้ ซึ่งในการตรวจสอบก็จะทยอยตรวจสอบไปวันละ 1-2 จุด หากเจ้าของสิ่งปลูกสร้างในแต่ละจุดให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่แต่โดยดี การตรวจสอบก็จะสะดวกและรวดเร็วขึ้น
โดยการเข้าตรวจสอบพื้นที่ในครั้งนี้ ปกติแล้วทางกรมป่าไม้สามารถเข้าตรวจสอบพื้นที่ได้ทันทีหลังจากแจ้งความดำเนินคดีกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยไม่ต้องมีหมายศาลขอตรวจค้นเพราะเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้อยู่แล้ว แต่ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมของเจ้าของที่อ้างสิทธิในพื้นที่ที่มีการปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างที่มีรั้วรอบขอบชิดก่อน หากไม่ยอมต้องรอหมายศาลเพื่อเข้าตรวจค้น
ต่อข้อถามกรณีหลายฝ่ายกังวลว่าหากเกิดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่กับมวลชนในพื้นที่นั้น นายสุวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางกรมป่าไม้พยายามบอกกับประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอดว่า กลุ่มคนที่ไม่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการดำเนินการของกรมป่าไม้ในขณะนี้ไม่น่าที่จะต้องมีความเดือดร้อนใดๆ ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีมวลชนมาขัดขวางการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นที่จะต้องทำตามหน้าที่ ตามที่กฎหมายระบุไว้เหมือนเดิม
“การนำมวลชนมาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่นั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร อีกทั้งความจริงแล้วการดำเนินในครั้งนี้ของกรมป่าไม้จะดำเนินการเฉพาะใน 22 จุด ที่ระบุไว้เท่านั้น ดังนั้นชาวบ้านในพื้นที่อื่นก็ไม่มีผลกระทบ และจะออกมาต่อต้านทำไม หรือมีส่วนได้เสียใดๆ หากไม่มีก็ไม่มีเหตุผลที่จะออกมาเรียกร้อง หรือขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เดี๋ยวจะเดือดร้อนตัวเองเปล่าๆ ถึงแม้ในความคิดส่วนตัวจะมองว่าไม่น่าจะมีคนในพื้นที่ออกมาเคลื่อนไหวขัดขวาง แต่ได้เตรียมการดำเนินการไว้เป็นขั้นเป็นตอนเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าไว้อยู่แล้ว ในลักษณะการกันประชาชนออกจากพื้นที่ที่จะเข้าตรวจสอบ หรือใช้วิธีหลอกล่อ มวลชนในลักษณะต่างๆแล้วแต่กรณีและสถานการณ์” นายสุวิทย์ กล่าว
ด้าน นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เปิดห้องทำงานชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่า อยากให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้มองเรื่องปัญหาบุกรุกป่า อ.วังน้ำเขียว อย่างแยกแยะ แยกส่วนกันให้ชัดเจน เพราะภาพข่าวขณะนี้ที่ออกไปเป็นเรื่องการบุกรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง อุทยานแห่งชาติทับลาน และการใช้ ส.ป.ก.ผิดประเภทเป็นเรื่องที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งตนในฐานะผู้ว่าฯ ขอพูดแทนพี่น้องประชาชนชาว อ.วังน้ำเขียว ที่เข้าครอบครองที่ดินอย่างถูกต้อง ที่มีเอกสาร ส.ป.ก.4-01 และประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งมีอยู่กว่า 1,000 ครัวเรือน ขณะนี้เกษตรกรกลุ่มนี้ได้นำผลผลิตการเกษตร เช่น เห็ด ผัก ผลไม้ ไปจำหน่ายในตลาดกลางขนาดใหญ่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ หรือชานเมือง เมื่อบอกว่ามาจาก อ.วังน้ำเขียว กลับถูกปฏิเสธไม่ยอมรับซื้อสินค้าเกษตรจากพี่น้องจาก อ.วังน้ำเขียว เลย สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรกว่า 1,000 ครัวเรือน ในจำนวนนี้มีรายใหญ่ประมาณกว่า 200 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณวันละ 2 .5 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งเป็นความเสียหายในเชิงเกษตรกรรมเท่านั้น ไม่รวมเรื่องรีสอร์ต โฮมสเตย์ ในภาคการท่องเที่ยว
“ผมอยากวิงวอนพี่น้องชาวไทยว่า พี่น้อง อ.วังน้ำเขียว ไม่ได้เป็นคนที่บุกรุกป่าทั้งหมด ซึ่งมีส่วนใหญ่ที่ครอบครองที่ดินและมีเอกสาร ส.ป.ก.4-10 และทำการเกษตรปลูกผักปลอดสารพิษ ผลไม้ ผลิตผลการเกษตร และพืชไร่ อย่างถูกต้อง ฉะนั้น จึงอยากให้มองเรื่องนี้อย่างแยกแยะ เพราะเกษตรกรกำลังเดือดร้อนมาก ไม่มีคนมาท่องเที่ยว ผลผลิตที่นำออกไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ ก็ถูกปฏิเสธ และถูกมองว่า เป็นผลผลิตที่ปลูกบนพื้นที่ที่บุกรุกป่า ซึ่งความจริงไม่ใช่ จึงขอให้ประชาชนสนับสนุนซื้อสินค้าเกษตรของ อ.วังน้ำเขียว เหมือนที่ผ่านมา” นายระพี กล่าว