ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “ป่าไม้โคราช” แจงปัญหารุกป่า “วังน้ำเขียว” อยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงก่อนแจ้งความดำเนินคดี ด้านผู้ว่าฯ ถามขอคืนผืนป่าจาก “ส.ป.ก” เพื่อนำมาฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำเหตุบิน ฮ.พบป่าถูกทำลายมาก และทำอย่างอุกอาจ ระบุเห็นใจ ขรก.ในพื้นที่เป็นหนังหน้าไฟในพื้นที่ ชี้เรื่องนี้ละเอียดอ่อนคาบเกี่ยวหลายหน่วยงาน หากเอาผิดต้องจับทั้งหมด จนท.รัฐละเลยในอดีตต้องโดนด้วย ปฏิเสธไม่เคยบอกให้เอาพื้นที่มาให้เอกชนเช่าแต่ใจอยากได้คืนมาปลูกป่า
วันนี้ (28 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมชั้น 2 หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ หลังศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำเดือน ก.ค.2554 โดยมีวาระการประชุมเรื่องความคืบหน้าการแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าใน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่ง นายยุทธชัย ปัทมสนธิ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา ได้ชี้แจงการดำเนินการของหน่วยงานรัฐต่อที่ประชุมว่า กรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าใน อ.วังน้ำเขียว มี 2 ส่วนคือของกรมป่าไม้และอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ในส่วนของกรมป่าไม้ ได้มีการตรวจสอบพื้นที่โซน ซี คือพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ล่าสุดจากการสำรวจพบมีผู้บุกรุกประมาณ 22 ราย มาถึงตอนนี้ยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ต้องรอขั้นตอนในการเปรียบเทียบปรับ ส่วนที่ 2 เป็นส่วนของกรมอุทยานฯ ตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลานได้นำประกาศของกรมอุทยานฯ ตามมาตร 22 ไปติดไว้ในพื้นที่ที่ถูกบุกรุก ตามคำสั่งของศาลาที่ได้มีดำเนินการแจ้งความมาตั้งแต่ปี 2543 เพื่อให้ผู้บุกรุกได้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการกับผู้บุกรุกทั้งหมด
ด้าน นายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) กรมป่าไม้ ได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ในส่วนของกรมป่าไม้ ตั้งแต่มีข่าวมาได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่อีกครั้งในพื้นที่โซน C ตามที่ได้รับการร้องเรียนว่า มีการบุกรุกอยู่ประมาณ 20 กว่าแห่ง ซึ่งได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ที่กรมป่าไม้รับผิดชอบ คือ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงไม่เกี่ยวกับพื้นที่ที่มอบให้ สำนักงานปฏิบัติรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในส่วนโซน A และ B ได้มอบให้ ส.ป.ก.ไปจัดสรรให้เกษตรกร จำนวน 3.55 แสนไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 7 แสนกว่าไร่ ตอนนี้ที่มีเหลืออยู่ในมือของกรมป่าไม้แค่ 2.47 แสนไร่ และมีพื้นที่กันคืนจาก ส.ป.ก.อีกประมาณ 2 หมื่นกว่าไร่ รวมเป็นพื้นที่ป่าที่กรมป่าไม้ดูแลอยู่เกือบ 2 แสนไร่ใน อ.วังน้ำเขียว
อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้เป็นเพียงการเข้าไปตรวจสอบเท่านั้น ที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีไปบ้างแล้วในส่วนที่เป็นมาแต่เดิม ส่วนเรื่องใหม่ที่มีการตรวจสอบยังไม่ได้ดำเนินการแจ้งความ จะต้องรอแผนที่ละเอียดเพื่อไปขอหมายศาลและแจ้งความดำเนินคดีตามขั้นตอนต่อไป โดยหลักคือ เชิญให้ออกจากพื้นที่หากอยู่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าใครอยู่ในส่วนของ ส.ป.ก.ก็ไปว่ากันในเขต ส.ป.ก. ส่วนของป่าไม้ก็จะดูแลเฉพาะในส่วนที่รับผิดชอบของกรมป่าไม้เท่านั้น
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูหลวง ซึ่ง อยู่ตรงกลางระหว่างเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และทับลาน คือ บริเวณ อ.วังน้ำเขียว เป็นพื้นที่รับน้ำของลำพระเพลิงและอีกด้านของลำตะคอง ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นป่าโซน E คือ ใช้เพื่อการเศรษฐกิจได้จัดเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. วัตถุประสงค์ของการมอบคือต้องการให้เกษตรกรเข้าไปทำกินเป็นการชั่วคราว แต่ไม่ให้ขายต่อและไม่ให้สิทธิ์ถือครอง สามารถตกทอดเป็นมรดกได้ แต่หากหมดธุระไม่ได้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรแล้วก็ต้องส่งคืนให้รัฐ พื้นที่นี้มีประมาณ 3.55 ไร่ แต่หากจะนำพื้นที่นี้กลับมาฟื้นฟูเป็นผืนป่า ต้องใช้งบประมาณถึง 1,200 ล้านในเวลา 5 ปี
ฉะนั้น ในช่วงก่อนไม้โตน้ำก็ยังท่วมโคราชแบบเดิมไปอีกประมาณอย่างน้อย 5 ปี โดยสภาพตามกฎหมายแล้ว กรมป่าไม้ดูแลเฉพาะพื้นที่โซน C คือ ป่าสงวน ส่วนพื้นที่ที่มอบให้ ส.ป.ก.ไปแล้วจะต้องไปดูเรื่องการมอบให้เกษตรกรว่าผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ หากผิดสามารถเอาคืนได้ แต่โดยทั่วไปพื้นที่ ส.ป.ก.ก็ไม่ใช่ไปทำให้โล่งเตียนทั้งหมด เพราะทางวิชาการกำหนดไว้ว่าควรจะมีป่าอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ต่อแปลง
ด้าน นายระพี กล่าวกับผู้ร่วมประชุมว่า ที่ผ่านมาตนประสานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกรมป่าไม้, อุทยาน และ ส.ป.ก.ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ตลอด เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงในที่ประชุมตัวแทนที่มาร่วมประชุมก็ไม่ยอมพูด ซึ่งได้จดไว้ในรายงานที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการทุกเดือน จากภาพข่าวที่ปรากฏ พบว่า การบุกรุกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก.ที่มีความลาดชั้น 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะชาวบ้านด่ากันว่าเป็นพื้นที่เขาทำไมปล่อยให้เข้าไปบุกรุกและมีร่องน้ำ ซึ่งเหมาะเป็นพื้นที่หลังคาโคราช
จากการบินสำรวจโดยเฮลิคอปเตอร์ล่าสุด พบพื้นที่ลักษณะเช่นนี้อยู่มาก จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ยืนยันว่าเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ฉะนั้น จึงอยากถามว่ามีการนำ พื้นที่ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่ และเราจะขอคืนพื้นที่จาก ส.ป.ก.ได้หรือไม่ ถ้าใช้ผิดวัตถุประสงค์ ก็ให้เอาคืน ไปปลูกป่าหลังคาโคราชจะดีกว่า แม้จะใช้เวลาในการฟื้นฟูป่านานก็ตาม หากได้คืนมาจริงก็จะต้องปลูกป่า
“ผมขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำเนินการในเรื่องนี้ทุกภาคส่วน และผมรู้สภาพปัญหา สภาพจิตใจของคนทำงานดี รู้ว่าท่านเป็นหนังหน้าไฟในพื้นที่ รับภาระมาก พูดมากก็ไม่ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย ต้องทำ ถ้ามีอะไรก็มาปรึกษาผู้ว่าฯ ได้ ต้องเรียนว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การแบ่งเส้นของแต่ละหน่วยงานก็ไม่ชัดเจน บ้านหลังใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบุกรุกป่ารุนแรงอย่างอุกอาจ แต่มุมมองหนึ่งบอกว่ามันไม่ได้สร้างวันเดียว มันหายไปไหน ทำไมไม่ไปจับกัน ซึ่งเรื่องนี้ละเอียดอ่อน คนอยู่ในพื้นที่อย่างเราก็รู้ว่าปัญหามันหมักหมม มานาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็หลายหน่วย แต่ที่ชัดเจนในโซน C คือ ในเขตอุทยานฯ ก็ต้องดำเนินการ ซึ่งการดำเนินการอาจมีแรงเสียดสีในพื้นที่บ้างท่านก็ต้องทำไป มีเรื่องอะไรสามารถมาปรึกษาผมได้” นายระพี กล่าว
นายระพี กล่าวว่า จากการบินเฮลิคอปเตอร์ดูแล้ววังน้ำเขียว สวยจริง ๆ สวยจนต้านทานความโลภของคนไม่ได้ และเสียดายที่ป่าถูกทำลายไปมาก น่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ทั้งหมด ขณะนี้ตนคุยกันเยอะมากว่าเราตกผลึกแนวความคิดไว้แล้วแต่ไม่พูด เพราะต้องใช้คนผลักดัน บางอย่างต้องแก้กฎระเบียบ หรือปรับกันบ้าง แต่ทั้งหมดจะไปสู่ทางออกที่ว่าทำอย่างไรจะเอาผืนป่ามาคืนความสมบูรณ์ ได้ ไม่ใช่ว่าพูดไปแล้วจะให้พวกที่บุกรุกป่าเกิดความชอบธรรม บางทีไม่เข้าใจ คิดว่าผู้ว่าฯ พูดว่าให้เอาพื้นที่มาเช่า กลายเป็นว่าพวกนี้เกิดความชอบธรรมขึ้นมา ในการครอบครอง ความจริงไม่ใช่มันเป็นวิธีการว่าทำอย่างไรให้มีต้นไม้เกิดขึ้นมาในผืนป่าผืนนี้ สัตว์ป่าอยู่ได้ ในเงื่อนไขที่เป็นอยู่
“อย่างไรก็ตาม หากมีการดำเนินการต้องให้ทั่วถึงทั้งหมดหากจะจับต้องจับให้หมด แต่จะจับได้หรือไม่ และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในอดีตก็ต้องดำเนินการด้วย แต่เมื่อเอาผิดทุกด้านไม่ได้ก็ต้องมาคุยกัน ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งมันเกินขอบเขตอำนาจของจังหวัดและของกรมฯ ด้วยซ้ำไปปัญหานี้จึงสรุปว่ามันละเอียดอ่อนซับซ้อน ซึ่งผมเห็นด้วยกับกรมป่าไม้ที่จะเอาผืนป่ากลับมา แต่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ” นายระพี กล่าว