xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด ทส.สั่ง จนท.เข้าตรวจสอบพื้นที่ป่าไทรโยคหลังถูกร้องเรียนออกเอกสารสิทธิทับที่อุทยานฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กาญจนบุรี - ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งกรมอุทยานฯ นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ น.ส.3ก.ในพื้นที่อำเภอไทรโยค หลังมีการรุกเรียนว่ามีการบุกรุกป่า และทับพื้นที่อุทยานแห่งชาติอำเภอไทรโยค หวั่นบานปลายเหมือน “วังน้ำเขียว”


เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (28 ก.ค.) นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ตนได้รับการร้องเรียนว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ (อช.) อำเภอไทรโยค จ.กาญจนบุรี ตนก็ได้สั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ทันที และทราบว่า ขณะนี้ทางกรมอุทยานฯได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการเข้าไปพื้นที่เพื่อตรวจสอบเรื่องที่ตนได้รับร้องเรียนมาแล้ว ส่วนผลการตรวจสอบเป็นอย่างไรคงรายงานมายังตนให้ทราบต่อไป

ต่อมาเวลา 10.30 น.นายอรรถพล เจริญชันษา ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านการป้องกันและปราบปราม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายธรรมรัฐ วงศ์โสภา ผู้อำนวยการส่วนอุทยาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายชาณุ วงศ์สวัสดิวัฒนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอำเภอไทรโยค นายกฤติน หลิมตระกูล หัวหน้าฝ่ายป้องปราบปราม ส่วนยุทธการด้านการป้องกันและปราบปราม อช.ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ อช.ไทรโยค, สำนักสนับสนุนป้องกันและปราบปรามที่ 1, ชุดเฉพาะกิจสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 และเจ้าหน้าที่สำรวจรังวัดที่ดิน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 กว่า 40 นาย เข้าไปตรวจสอบที่ดินในเขตพื้นที่ป่าเขาน้ำวนพื้นที่บ้านหาดงิ้ว หมู่ 5 ต.วังกระแจะ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

โดยการเข้าตรวจพบว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวมีผู้ครอบครอง คือ นายสาธิต ไม่ทราบนามสกุล มีเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) จำนวน 8 ฉบับ ในการถือครองพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบและสำรวจจัดทำการวัดพิกัดในจุดเกิดเหตุเพื่อทำบันทึกการขอเข้าตรวจสอบว่าการได้มาซึ่งสิทธิ์ในการครอบครองนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เนื่องจากเอกสาร น.ส.3ก.ทั้ง 8 ฉบับที่มีการระบุการครอบครองพื้นที่ รวมจำนวนเนื้อที่ 459-0-39 ไร่ สภาพพื้นที่ทำเลสวยงามมาก ด้านหลังติดแม่น้ำแควน้อย ด้านข้างติดภูเขา 2 ด้านและมีถนนเข้ามาถึง พบร่องรอยการบุกรุกครอบครองและเข้าทำประโยชน์โดยการนำเครื่องจักรปรับพื้นที่ในสภาพใหม่ ในพื้นที่อุทยานจำนวน 232-0-40 ไร่ มีการก่อสร้างอาคารที่พักคนงาน 3 หลัง และมีการนำเครื่องจักรเข้ามาปรับสภาพที่ดิน

นายอรรถพล เจริญชันษา ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านการป้องกันและปราบปราม กรมอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยเกี่ยวกับการเข้าตรวจสอบในครั้งนี้ว่า การเข้าปฏิบัติการในครั้งนี้สืบเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนไปยัง นายโชติ ตราชู ปลัดฯ ทส.ว่า มีการบุกรุกนำเครื่องจักรเข้าแผ้วถางในพื้นที่ อช.ไทรโยค

ดังนั้น ทางปลัด ทส.จึงสั่งการมายังกรมอุทยานฯให้ลงมาตรวจสอบโดยผลการตรวจสอบในครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมาพบผู้ดูแล แต่อ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการครอบครองถูกต้องตามกฎหมาย เป็นของ นายสาธิต ไม่ทราบนามสกุล เป็นชาวจังหวัดนครปฐมที่ซื้อเมื่อปี 2554 จากนั้นจึงเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว โดยอ้างสิทธิ์การครอบครองโดยมีเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) จำนวน 8 ฉบับ

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า การตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3ก.ทั้ง 8 ฉบับ ออกโดยสำนักงานที่ดินอำเภอไทรโยค พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นฉบับที่จัดทำขึ้นใหม่หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ทำการอำเภอไทรโยค เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2534 ส่วนการประกาศเขตพื้นที่ อช.ไทรโยค ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาตั้งแต่ เป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2523

ดังนั้น การดำเนินการออกเอกสารการเข้าทำประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนอุทยานที่มีการขั้นตอนการดำเนินการในรูปคณะกรรมการ ที่ต้องมีการลงรายมือชื่อของปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบ ที่ดินอำเภอและป่าไม้อำเภอ ดังนั้น การตรวจสอบเอกสาร น.ส.3ก.ทั้ง 8 ฉบับนี้ จะถูกนำไปตรวจสอบเกี่ยวกับกระบวนการอนุญาตและพิจารณาเกี่ยวกับสถานะของที่ดินว่า เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งหากถูกต้องก็สามารถดำเนินการตามที่ต้องการได้ หากไม่ถูกต้องก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจพิสูจน์และเข่าสู่การดำเนินการอำนาจของเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ต่อไป

มีรายงานข่าวว่า การตรวจสอบในครั้งนี้อาจจะนำไปสู่การเริ่มกระบวนการตรวจสอบกระบวนการออกเอกสารสิทธิในช่วงปี 2534 ที่เป็นเรื่องเก่าหลังจากเหตุการณ์ที่ว่าการอำเภอไทรโยคไฟไหม้ จนต่อมามีการออกเอกสารสิทธิที่ดินใน อ.ไทรโยค จำนวนมากอีกด้วย ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาที่ดินก่อสร้างเป็นรีสอร์ท โรงแรม ที่พัก จำนวนมาก โดยที่ดินแปลงดังกล่าวเดิมเป็นของกลุ่มครอบครัวนักธุรกิจชื่อดังในพื้นที่กาญจนบุรี ต่อมา ขายให้แก่นายสาธิตเมื่อปี 2554

ส่วนผลการตรวจสอบหากไม่พบการกระทำผิดกฎหมายก็ไม่เกิดปัญหาใด แต่หากผลการตรวจสอบ พบว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ทั้ง 8 ฉบับ เป็นเอกสารที่ออกโดยกระบวนการมิชอบ ก็อาจจะนำไปสู่การขยายผลการตรวจสอบที่น่าจะบานปลายเหมือนการเข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ที่อุทยานที่ วังน้ำเขียว ในพื้นที่ อช.ทับลานที่กำลังเป็นข่าวโด่งดังในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น