xs
xsm
sm
md
lg

รองผู้ว่าฯโคราชนำทีมแจงรุกป่า “วังน้ำเขียว” - ชี้ จนท.ละเว้นฯ ปล่อยเรื้อรังมานาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - รองผู้ว่าฯ โคราชนำทีมแจง กมธ.สภาฯปัญหารุกป่า “วังน้ำเขียว” ชี้ แก้ปัญหาควรดำเนินการควบคู่ “กม.” กับมติ “ครม.’ 41” เพื่อไม่ให้ชาวบ้านอยู่มาก่อนรัฐประกาศเป็นเขตป่าสงวนฯเดือดร้อน เผย เป็นปัญหาเรื้อรังมานานเหตุ จนท.ทุกฝ่ายที่รับผิดชอบละเว้นปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่แรกและสับสนเรื่องอาณาเขต ระบุการแก้ไขต้องแบ่งแยกพื้นที่ให้ชัดเจนทั้ง “ส.ป.ก.-เขตอุทยาน-ป่าสงวนฯ”

วันนี้ (26 ก.ค.) นายสมศักดิ์ ปริสุทโธ เหมทานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงการเดินทางไปชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีนายทุนสร้างบ้านพักหรู และรีสอร์ท รุกพื้นที่ป่า อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ ส.ป.ก.ต่อ คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ในวันนี้ ที่กรุงเทพฯ ว่า เนื่องจาก นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสี มาเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมอบหมายให้ตนเป็นตัวแทน เข้าไปชี้แจงรายละเอียดต่างๆ เพราะทางคณะกรรมาธิการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้เรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น ส.ป.ก., ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจังหวัด, ที่ดินจังหวัดสาขา อ.ปักธงชัย, นายอำเภอ, ผู้นำชุมชน อ.วังน้ำเขียว และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมาเห็นด้วยกับกรมอุทยานแห่งชาติที่จะเอาผืนป่ากลับคืนสู่ธรรมชาติเพื่อร่วมกันฟื้นฟูต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม คงมีประชาชนบางส่วนที่ยังวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ดังนั้น ทางจังหวัดจะต้องดูแลประชาชนในส่วนนี้ด้วย โดยต้องดูแลทั้ง 2 ส่วน ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่จะต้องนึกถึงประชาชนที่ได้เข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวก่อนมีการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ดังนั้นต้องแยกแยะตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้ง 3 ข้อว่าชุดไหน คนไหนอยู่ตั้งแต่เมื่อไรและใช้พื้นที่ใช้สอยเพื่ออะไร ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้งด้านกฎหมายและมติ ครม.30 มิถุนายน 2541

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว เป็นพื้นที่ที่มีปัญหามาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่มีส่วนในการรับผิดชอบก็ละเลยการปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่แรกเพราะความสับสนในพื้นที่และอาณาเขต ซึ่งในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว มีพื้นที่ที่แบ่งเป็นอาณาเขตทั้งหมด 3 อาณาเขต ซึ่งแต่ละหน่วยงานยังไม่ได้มีการชี้แจงอย่างเป็นทางการไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่เขต ส.ป.ก.และพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ดังนั้นทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการก็จะต้อง ตรวจสอบก่อนว่าเป็นเขตรับผิดชอบของหน่วยงานใด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะการบังคับใช้กฎหมายนั้นต้องใช้กฎหมายของในแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องไป

“การแก้ไขปัญหานั้นควรจะมีการแบ่งอาณาเขตของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อผู้ดำเนินการและประชาชนจะได้มีความชัดเจนเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องยึดหลักแนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมาย และมติ ครม.ปี 2541 ด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น