xs
xsm
sm
md
lg

“สภาอุตฯเที่ยวไทย” หนุนรัฐเชือดรีสอร์ตรุกป่า “วังน้ำเขียว” - หามาตรการเยียวยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกงกฤช  หิรัญกิจ
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สภาอุตฯท่องเที่ยวไทย หนุนรัฐใช้ กม.เชือดรีสอร์ตบุกรุกป่า “วังน้ำเขียว” โคราช พร้อมเสนอหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ชี้ บางส่วนไม่รู้ข้อเท็จจริง และถูก ขรก.ในพื้นที่ชักชวน ส่วนการดันเป็นเขตเศรษฐกิจท่องเที่ยวพิเศษ รัฐต้องจัดโซนนิงให้ชัดเจน ในพื้นที่ที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่แตะพื้นที่ต้นน้ำ จี้รัฐต้องจัดการทั่วทั้งประเทศโดยใช้ อ.วังน้ำเขียวเป็นต้นแบบการแก้ปัญหา

วันนี้ (23 ก.ค.) ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานนโยบาย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีภาครัฐเข้าไปดำเนินการกับบ้านพัก รีสอร์ตหรูที่บุกรุกพื้นที่ป่า ทั้งเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ ส.ป.ก.ใน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ว่า สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฯ เคยเรียกร้องไปนานแล้วว่าให้รัฐบาลดูแลเรื่องการจัดระเบียบผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ดี ในครั้งนั้นเป็นเรื่องปัญหาที่พักที่ไม่ถูกกฎหมาย

กรณีที่ อ.วังน้ำเขียว จะเห็นว่า มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่เข้าไปบุกรุกเขตอุทยานฯ และป่าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ความจริงเป็นนโยบายที่ชัดเจนของสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฯว่า ผู้ประกอบการจะต้องมีจรรยาบรรณรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม กรณีที่เกิดขึ้นนี้คิดว่ารัฐต้องดำเนินการไปตามกฎหมายให้ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ควรใช้หลักรัฐศาสตร์เข้าไปผสมผสานด้วย เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่เข้าไปดำเนินการในบริเวณอุทยานฯ โดยไม่รู้ข้อเท็จจริง และหลายส่วนได้รับการชี้นำชี้แนะจากข้าราชการในพื้นที่ให้เข้าไปดำเนินการ

ทั้งนี้ กรณีที่เกิดขึ้นแม้รัฐจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าไปดำเนินการให้ถูกต้องแล้ว ก็ควรต้องหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเหล่านี้ด้วย ตนเชื่อว่าผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดที่เข้าไปส่วนใหญ่ไม่มีเจตนาเข้าไปบุกรุก และเห็นว่า เป็นบริเวณที่เรียกว่า ป่าเสื่อมโทรม และไม่มีต้นไม้ใหญ่อยู่จึงเข้าไปดำเนินการโดยไม่ทราบว่าเป็นที่ ส.ป.ก.บ้าง หรือเป็นที่อุทยานฯ บ้าง กรณีเช่นนี้รัฐบาลน่าจะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพวกเขาเหล่านั้น ว่า จะให้เข้าไปดำเนินการอย่างไรต่อไป แม้ว่าจะต้องดำเนินการตามกฎหมายของอุทยานฯ ก็ตาม

“ฉะนั้น สองเรื่องนี้ควรต้องผสมผสาน และทำควบคู่กันไปโดยภาครัฐต้องเข้ามาดูแล แต่ต้องเป็นหน่วยงานที่เหนือกว่ากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ต้องจัดการไปตามกฎหมาย อาจให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และกระทรวงมหาดไทย เข้ามาช่วยดูแลเยียวยา ในส่วนของผู้ประกอบการเหล่านี้ด้วยก็ได้” นาย กงกฤช กล่าว

ส่วนกรณีที่มีผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ เสนอให้จัด อ.วังน้ำเขียว เป็นเขตเศรษฐกิจท่องเที่ยวพิเศษโดยเปิดให้เช่าพื้นที่นั้น นายกงกฤช กล่าวว่า โดยหลักการแล้วตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นที่ ส.ป.ก.หรือ อุทยานแห่งชาติ ก็ไม่ส่ามารถดำเนินการเพื่อเอามาทำเป็นแหล่งที่พักได้โดยเด็ดขาด เพราะเป็นพื้นที่จะต้องทำเพื่อการเกษตรกรรม และมอบให้กับผู้ยากจน แต่หากจะทำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวคงต้องขีดเส้นแบ่งให้ชัดเจนว่า การทำการท่องเที่ยวต้องทำในลักษณะเชิงเกษตรกรรม และทำได้มากน้อยเพียงไร มีขอบเขตรูปแบบอย่างไร เพราะบ้างครั้งก็ล้ำเส้นของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสานไปก็มี และการท่องเที่ยวลักษณะนี้เป็นแนวนโยบายที่รัฐบาลให้การสนับสนุนมาโดยตลอดอยู่แล้ว

กรณีนี้ยังขาดความชัดเจนของความเข้าใจว่า หากเรามีการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแล้วเราไม่มีแหล่งที่พักในแหล่งท่องเที่ยวจะทำได้เพียงใด อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตรกับการจัดสร้างแหล่งที่พัก จำนวนที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าใด และหากเปิดให้เช่าพื้นที่ก็ควรให้โอกาสผู้ประกอบการที่เคยอยู่ในพื้นที่และถูกจัดระเบียบในตอนนี้ก่อน เพื่อให้สิทธิ์คนที่ถูกรัฐดำเนินการไปแต่ทั้งนี้ต้องกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการให้ชัดเจนว่าจุดใดที่จะจัดเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จุดใดที่จะเป็นป่าต้นน้ำซึ่งไปแตะต้องไม่ได้เลย

“ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ อ.วังน้ำเขียว นี้ มีเกิดขึ้นอีกหลายแห่งของประเทศไทย เช่น เกาะในบริเวณอ่าวไทย หรือทะเลอันดามัน มีหลายเกาะที่มีภาคเอกชนเข้าไปอยู่ในเขตอุทยานทางทะเล กรณีเช่นนี้ก็เป็นปัญหา ฉะนั้นรัฐต้องดำเนินการให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน อาจจัดการที่ อ.วังน้ำเขียวให้เป็นกรณีตัวอย่างก่อน เพื่อใช้ดำเนินการกับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” นายกงกฤช กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น