วันนี้เมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา (20 ธันวาคม 2545) สถานที่เกิดเหตุบนถนนจุติอนุสรณ์ทางเข้าโรงแรมเจ.บี. หาดใหญ่ รัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้สร้างวีรกรรมการใช้อำนาจรัฐเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพี่น้องในเขตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาและใกล้เคียง ที่เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย เนื่องในโอกาสที่อดีตนายกฯ ทักษิณจะมาจัดให้มีการประชุม ครม.สัญจร จนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม ส่งผลให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมผู้ชุมนุมและต่อมาได้จับกุมชาวบ้านอีกหลายสิบคนไปดำเนินคดี 9 ปีผ่านไป วันนี้คดีความยังคงยึกยักยืดเยื้อ แม้แต่เต่ายังอาย....
ในคดีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้เข้าสลายและจับกุมผู้ชุมนุมไปดำเนินคดีโดยตั้งข้อกล่าวหาว่า “ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย, พกพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธและร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป, ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์, มั่วสุมกันกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธโดยผู้กระทำความผิด เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้ที่มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น, ไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้”
ชาวบ้านจะนะ เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน และนักศึกษาที่ถูกจับดำเนินคดีในวันดังกล่าว ถูกนำตัวไปคุมขังและได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดีในเวลาต่อมา เป็นเวลาประมาณ 5 ปีใน วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลชั้นต้นสงขลาตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้งหมด แต่ทางพนักงานอัยการผู้ทำหน้าที่ทนายให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ได้ยื่นอุทธรณ์คดีจนถึงวันที่ 3 มีนาคม 2552 ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืน กล่าวคือยกฟ้องจำเลยเหมือนศาลชั้นต้น แต่พนักงานอัยการได้ยื่นฎีกา ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างรอคำพิพากษาของศาลฎีกา
จากวันนั้นถึงวันนี้ (20 ธันวาคม 2554) รวมระยะเวลา 9 ปีพอดิบพอดี ในระหว่างคดีความอยู่ในศาล ฝ่ายชาวบ้านหรือผู้ที่ถูกสลายการชุมนุมก็ได้ใช้สิทธิในการพิทักษ์สิทธิของตัวเอง และให้กระบวนการยุติธรรมได้เข้ามาตรวจสอบความถูกผิดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าฝ่ายไหนเป็นผู้กระทำความผิดกันแน่ โดยได้ฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อศาลปกครองสงขลา จำเลยที่ถูกผู้ชุมนุมยื่นฟ้องประกอบด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลยที่ 1, จังหวัดสงขลาจำเลยที่ 2 และกระทรวงมหาดไทยที่ 3 ซึ่งตุลาการศาลปกครองสงขลาได้ตัดสินคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549 ตามคดีหมายเลขคดีที่ 454/2546 และคดีหมายเลขแดงที่ 51/2549 โดยพิพากษาสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจ่ายค่าเสียหายชาวบ้าน 24 รายๆ ละ 10,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยกำหนดให้ชำระภายใน 30 วัน
นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ฝ่ายจำเลยก็ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีก็ยังค้างเติ่งอยู่ที่ศาลปกครองจากวันที่ศาลปกครองสงขลาพิพากษาถึงวันนี้ก็ปาเข้าไป 6 ปี รวมไปถึงที่ผู้ชุมนุมฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 5 ปีที่รอคำพิพากษา
คดีสุดท้ายที่ต่อเนื่องกันมาคือคดีที่ผู้ชุมนุมได้ฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องจำเลยทั้งหมด 7 นาย ในขบวนการสืบพยานโจทย์เห็นได้ชัดเจนว่าทางฝ่ายอัยการ ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความล่าช้าในคดี นายตำรวจทั้งหลายที่เดินทางมาศาลก็ไม่ยี่หระต่อความผิดที่ตัวเองได้ก่อขึ้น เพราะตั้งแต่ตกเป็นจำเลยในคดีมาเกือบ 10 ปี พวกเขาต่างก็ได้รับการปูนบำเหน็จเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มิได้เร่งรัดดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือผิดวินัยร้ายแรงตามกฎระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชาวบ้านได้ร้องขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) สอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการผิดกฎหมาย ผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของเจ้าหน้าที่
ตำรวจที่ตกเป็นจำเลย 7 นายผู้ตกเป็นจำเลยในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ ตามคดีหมายเลขดำที่ 1818/2546 คือ พล.ต.อ.สัณฐาน ชยนนท์ พล.ต.ต.สุรชัย สืบสุข พ.ต.ท.เล็ก มียัง พ.ต.ต.อธิชัย สมบูรณ์ พ.ต.ต.บัณฑูรย์ บุญเครือ ให้ถือเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มแรกที่จะต้องเร่งพิจารณาและมีคำสั่งให้พักราชการหรือให้ออกจากราชการชั่วคราวเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีและเป็นธรรม แต่ก็หาได้มีการดำเนินการใดๆแก่นายตำรวจเหล่านั้น จนบางท่านได้เกษียณอายุราชการออกไป
หลายๆ คนก็เตรียมทยอยเกษียณ หรือไม่ก็ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เสมือนการกระทำความผิดจนศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีความแล้ว ก็หามีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ต่อการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานของพวกเขาไม่ ในสังคมไทยจึงยังเต็มไปด้วยการละเมิด การรีดไถ การอุ้มฆ่าหรือวิสามัญฆาตกรรมที่เต็มไปด้วยคำถามจากผู้คน โดยเฉพาะกับผู้คนที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ได้ยำเกรงกฎหมาย
คำถามจึงมีว่ากระบวนการยุติธรรมโดยองค์รวมของสังคมไทยวันนี้ ถึงเวลาที่จะต้องยกเครื่องกันใหม่ทั้งระบบหรือยัง หรือปล่อยไปอย่างนี้เรื่อยเปื่อยจนผุพังลงเองโดยธรรมชาติ คดีความจากกรณีโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ ที่ยืดเยื้อกันมาเกือบ 10 ปีแล้วยังไม่จบ คงพอเป็นตัวอย่าง เป็นกรณีศึกษาสำหรับกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ที่มีหลายคนบอกว่าเชื่องช้าแม้แต่เต่ายังอาย.