xs
xsm
sm
md
lg

ปทุมฯปักหลักเฝ้าปตร.พระยาสุเรนทร์ เชือดเด็กศปภ. กทม.สั่งลุยแจ้งความ"เสงี่ยม"มือเปิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-ปตร.คลองพระยาสุเรนทร์ยังเปิดอ้าอยู่ที่ระดับ 1.50 เมตร ชาวปทุมธานีปักหลักเฝ้า กลัวกทม.หรี่ประตู คนสายไหมเริ่มไม่พอใจเกรงได้รับความเดือนร้อนเพิ่ม "สุขุมพันธุ์" สั่งลุยแจ้งความดำเนินคดี “พ.ต.ต.เสงี่ยม” ฉุนเอากฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ลั่นไม่เจรจาด้วย ส่วนศปภ.โยนกทม.ตัดสินใจปัญหา ขณะที่ศาลปกครองไต่สวน 8 ชม. คดีชาวนนท์ฟ้องศปภ.-กทม. แต่ยังไร้คำสั่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (29 พ.ย.) สถานการณ์ที่บริเวณประตูระบายน้ำ (ปตร.) คลองพระยาสุเรนทร์ ยังคงมีชาวบ้าน จ.ปทุมธานี และพื้นที่เหนือประตูระบายน้ำ รวมตัวกันปักหลักเฝ้าติดตามสถานการณ์ เพราะเกรงว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะหรี่ประตูระบายน้ำเหลือเพียง 1 เมตร ขณะที่ชาวบ้านย่านสายไหมด้านใต้ประตูระบายน้ำ ออกมามุงดูเหตุการณ์ เริ่มไม่พอใจและมีการตะโกนต่อว่า พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ซึ่งเป็นแกนนำว่า กระทำการครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านย่านสายไหม พื้นที่ใต้ประตูระบายน้ำได้รับความเดือดร้อน เพราะเกรงว่า ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น โดยพ.ต.ต.เสงี่ยม ได้เดินทางเข้าไปเจรจาถึงเหตุผลในการรวมตัวกัน โดยไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ

ทั้งนี้ ไม่มีตัวแทนจากศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และกทม. เดินทางมาทำความเข้าใจกับชาวบ้าน แต่ก็มีกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ส่งเจ้าหน้าที่จากสน.คันนายาว และสายไหม เข้ามาควบคุมสถานการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ล่าสุดชาวบ้านยังคงเฝ้าระวังอยู่ที่บนิเวณสะพานด้านหน้าของปตร.คลองพระยาสุเรนทร์ โดยที่กทม.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ได้ โดยคาดว่า ต้องรอดูสถานการณ์ในวันที่ 30 พ.ย.อีกครั้งหนึ่ง

**“สุขุมพันธุ์”ฉุนเอากฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวถึงกรณีที่พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรักษ์ ตำแหน่งข้าราชการทางการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ลำดับที่10) ที่ได้นำชาวบ้านไปเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ที่ระดับ 1.50 เมื่อคืนที่ผ่านมา หลังจากที่กทม.ได้ปรับมาอยู่ที่ระดับ 1 เมตร ซึ่งเป็นการดำเนินการจากที่ก่อนหน้านี้ พ.ต.ต.เสงี่ยม ได้นำชาวปทุมธานีแอบอ้างคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ไปแล้ว ว่า ตนเองขอยืนยันว่า มีอะไรขอให้มาพูดคุยกันก่อน ไม่ใช่ทำโดยพลการ เพราะหากบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปร และหากกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย เราก็ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการอะไรได้ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำหรือไม่เกี่ยวข้องก็ตาม ดังนั้น ต้องเคารพกฎกติกาต่างๆ

“กฎหมายต้องมาก่อนกฎหมู่ และที่สำคัญหากประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ต้องลดลงสู่ระดับ 1 เมตรตามเดิมตนเองถึงจะยอมเจรจา”ผู้ว่าฯกทม.กล่าว

**ระดับน้ำในประตูระบายน้ำเพิ่มสูงขึ้น10 ซม.

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ที่ระดับ 1.50 เมตร น้ำคงไม่ท่วมโดยรอบทันที แต่จะส่งผลให้ระดับน้ำบนถนนสุขาภิบาล 5 เพิ่มสูงขึ้นหรือหมู่บ้านและพื้นที่ต่างๆ มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น การระบายน้ำช้าลง จึงอยากให้ชาวปทุมธานีเข้าใจในการเปิดประตูระบายน้ำไม่ใช่จะเปิดแบบก้าวกระโดดจาก 1 เมตร เป็น 1.50 เมตร ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำที่อยู่ในประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีก 10 ซม.แล้ว

**เตรียมแจ้งความดำเนินคดี"เสงี่ยม"

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า พ.ต.ต.เสงี่ยม เป็นเพียงข้าราชการทางการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ลำดับที่10) อีกทั้งยังเป็นคณะทำงานติดตามการระบายน้ำ แต่ยังกลับมาบอกว่า หากประชาชนชาวสายไหมเดือดร้อนก็จะลดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ให้ ไม่ทราบว่าเอาอำนาจมาจากไหน ดังนั้น ไม่ว่าประตูระบายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นของกรมชลประทานหรือของกทม.อยู่ตรงไหน ก็คงไม่ปลอดภัยเหมือนกัน

"ผมไม่มีปัญหากับรัฐบาล ไม่มีปัญหากับศปภ. และผมก็ไม่โทษศปภ. เรื่องที่เกิดขึ้นท่านนายกฯ ไม่เคยรู้เรื่อง เป็นการแอบอ้างคำสั่งของนายกฯ แอบอ้างคำสั่งของพล.ต.ต.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม และผู้อำนวยการศปภ. ฉะนั้น เป็นการทำโดยพลการ ผมไม่ต่อรองด้วย เราจะปล่อยให้คนที่ไม่มีอำนาจโดยชอบธรรมแม้แต่นิดเดียวมากระทำการอย่างนี้ไม่ได้ กทม.จึงจะแจ้งความดำเนินคดี แต่การดำเนินการกับพ.ต.ต.เสงี่ยม เป็นเรื่องรอง แต่ขอให้พ.ต.ต.เสงี่ยมหยุดบทบาทก่อน ผมขอให้พ.ต.ต.เสงี่ยมเลือกว่าจะทำงานในตำแหน่งที่ทำเนียบรัฐบาลหรือจะออกมาเป็นผู้นำจิตอาสาจะมี 2 สถานะอย่างนี้ไม่ได้"

***โฆษกกทม.โยนศปภ.จัดการมวลชน

นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่มีชาวบ้านรวมตัวกันมาเปิดประตูระบายคลองพระยาสุเรนทร์ เขตสายไหมว่า กทม.จะต้องมีมาตรการในการควบคุมบานประตูน้ำในพื้นที่กทม. และจะนำเรื่องนี้ส่งให้ศปภ.เข้ามาดำเนินการ เพราะผู้ที่นำมวลชนมาเป็นคนของศปภ. และยังถือเป็นการกระทำซ้ำ 2 ครั้งติดต่อกัน เพราะหากศปภ.ไม่เข้ามาดำเนินการกับคนของตัวเอง จะทำให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบในลักษณะกฎหมู่ แล้วไปทำอะไรอยู่เหนือกฎหมาย หากเกิดความไม่พอใจ ซึ่งในการประชุมร่วมของ กทม.จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ว่า จะใช้มาตรการดำเนินการอย่างไรหากเกิดสถานการณ์เช่นนี้

***ศปภ.โยนกลับให้กทม.แก้ปัญหาเอง

น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในฐานะคณะทำงาน ศปภ. กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับกลุ่มชาวบ้านแล้ว แต่เป็นหน้าที่ของกทม.ที่จะต้องไปเจรจา เพราะเป็นพื้นที่รับผิดชอบของกทม. โดยล่าสุดทางตำรวจได้มีการพูดคุยกับชาวบ้านแล้ว และศปภ. ก็ไม่ได้มีความนิ่งนอนใจที่จะแก้ไขปัญหา เพราะได้เชิญกทม. เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือการบริหารจัดการน้ำตามแนวคันกั้นน้ำในภาพรวม รวมถึงการฟื้นฟูในพื้นที่หลังน้ำลด ซึ่งบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตต้องการให้การจราจรกลับมาเป็นปกติภายใน 7 วัน

**ยอมรับประชาชนได้รับผลกระทบแน่

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการเปิดประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์ กทม.จะได้รับผลกระทบหรือไม่ น.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า อาจจะไม่มีปัญหากับกทม.มาก แต่จะมีผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงได้ เช่น ซอยวัชรพล กับถนนสุขาภิบาล 5 เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวก็ประสบปัญหาน้ำท่วมขังอยู่แล้ว

ส่วนแนวกั้นหรือบิ๊กแบ็กนั้น หากพื้นที่ไหนสามารถรื้อได้ ก็จะรีบทำการรื้อทันที เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขัง โดยขณะนี้ได้ทำการรื้อไปบ้างแล้วกว่า 140 ใบ ที่บริเวณย่านดอนเมือง แต่การดำเนินการอาจล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากต้องใช้เครื่องมือหนัก ส่วนบิ๊กแบ็กที่มีการรื้อจะนำไปช่วยเหลือประชาชนในจุดอื่น อาทิ บริเวณชุมชนแอนเน็กซ์ เพื่อกั้นน้ำไม่ให้เข้ามายังบริเวณกิโลเมตรที่ 25 และ 27 อีกทั้งจะนำบิ๊กแบ็กไปวางแนวไว้บริเวณสนามกีฬาธูปะเตมีย์ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในชุมชน เนื่องจากไม่สามารถวางแนวบิ๊กแบ็กบริเวณวัดลาดสนุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมสูง และรถยนต์ไม่สามารถผ่านได้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทั้งหมด จะมีการหารือกับประชาชนในพื้นที่ก่อนทุกครั้ง เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น

**ศาลปกครองไต่สวน 8 ชม.ยังไร้คำสั่ง

วันเดียวกันนี้ ที่ศาลปกครองกลาง นายกมล สกลเดชา ตุลาการหัวหน้าแผนกคดีสิ่งแวดล้อม องค์คณะที่ 4 พร้อมด้วยนายวิรัช ร่วมพงศ์พัฒนะ ตุลาการศาลปกครองกลาง และนางอังคณา เสาธงทอง ตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบัลลังก์ไต่ส่วนในคดีที่ นางทศสิริ พูลนวล ชาวบ้านอ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ยื่นฟ้องศปภ. และกทม. เพื่อขอให้มีคำสั่งระงับคำสั่งศปภ.ที่สั่งให้กู้ถนนสาย 340 (บางบัวทอง-สุพรรณบุรี) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถ.กาญจนาภิเษก) ช่วงอ.ไทรน้อย และอ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และขอให้กทม.ระงับการปิดประตูระบายน้ำในคลองมหาสวัสดิ์ โดยมีนายชัชวาล ปัญญาวาทีนัน รองอธิบดีกรมชลประธาน เป็นตัวแทนจากศปภ. นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากกรมทางหลวง และตัวแทนจากสำนักระบายน้ำ กทม. มาเป็นผู้เข้าชี้แจงต่อศาล ทั้งนี้ การไต่สวนเสร็จสิ้นในเวลา 18.00น. รวมเวลาการไต่สวน 2 ฝ่ายกว่า 8 ชั่วโมง แต่ก็ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา

***“ทศศิริ”ไม่สบายใจกทม.แจงไม่สนจังหวัดอื่น

นางทศสิริกล่าวว่า หลังจากนี้จะไม่มีการไต่สวนและเรียกเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว และจะได้ส่งคำวินิจฉัยว่าจะสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่มายังตนและผู้ถูกร้องทางโทรสารในภายหลัง ซึ่งศาลฯ ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นวันใด แม้ว่าประเด็นการกู้ถนนสาย 340 ที่ตอนนี้สถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่เรื่องการร้องเรียนที่ปฏิบัติต่อประชาชนโดยมิชอบ ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผลให้ประชาชนได้รับทราบ และกรณีการคลองมหาสวัสดิ์นั้น ตนได้รับฟัง คำชี้แจงจากกทม.แล้วยังรู้สึกไม่สบายใจ เพราะตัวแทนที่มาชี้แจงยังมีหมายเหตุว่าการเปิดประตูน้ำของคลองมหาสวัสดิ์ ยังจะต้องมีการเฝ้าระวัง ว่าหากมีประชาชนในเขตกทม.ได้รับความเดือดร้อน และออกมาเรียกร้อง ทางกทม.อาจจะพิจารณาในเรื่องการปรับการลดระดับการเปิดประตูน้ำลง ซึ่งตนคิดว่าการชี้แจงดังกล่าวไม่ได้นำเรื่องความเดือดร้อนของคนไทยเป็นตัวตั้ง แนวคิดจังหวัดใครจังหวัดมันไม่ได้ จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งบานปลายที่ต้องมีการแก้ไข

** หวั่นเชื้อราทำลายโบราณสถาน**

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พร้อมด้วยนางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะคณะกรรมการมรดกโลก ให้การต้อนรับคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้แก่ นางโยโกะ ฟูตากามิ ดร.เทะซูโอะ มิซูตะ จากประเทศญี่ปุ่น นายโซลาน โวจิโนวิช จากประเทศฮอลแลนด์ นายคาโร แกนโตมัสซิ จากประเทศอิตาลี ที่จะมาร่วมกันฟื้นฟูบูรณะโบราณสถานที่เสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นางสุกุมลกล่าวว่า จากการหารือในเบื้องต้น นางโยโกะ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อราภายในโบราณสถาน เสนอว่า ได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของอยุธยามาแล้ว ห่วงเรื่องความชื้น และเชื้อราที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วม โดยหลังจากลงพื้นที่สำรวจโบราณสถานแล้ว แหล่งมรดกโลกและโบราณสถาน ในวันที่ 30 พ.ย.- 1 ธ.ค.นี้ จะนำข้อสรุปที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะฟื้นฟู เพื่อจะนำข้อสรุปเสนอรัฐบาลต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น