xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดบอนด์พร้อม ทุนนอกจ่อบุกไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – สบน.เผยทุนต่างชาติพร้อมวิ่งเข้าไทยหลัง S&P จ่อปรับเรตติ้ง 27 ชาติยุโรป “จักรกฤศฏิ์” ระบุตลาดตราสารหนี้ยังมีช่องว่างให้ต่างชาติเข้าลงทุนได้อีกมาก เตรียมปรับสัดส่วนระหว่ารัฐเอกชนอยู่ที่ 50% หวังสร้างความสมดุลและรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์หรือ S&P ระบุจะมีการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศนั้นจะส่งผลให้เงินทุนไหลมายังภูมิภาคเอเชียมากขึ้นเนื่องจากไม่มีตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีและมีความมั่นคงเหลืออยู่มากนักซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในภูมิภาคนี้ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน
โดยตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทยยังมีช่องว่างเหลืออีกมากสำหรับเงินลงทุนจากต่างชาติโดยในปัจจุบันสัดส่วนตราสารหนี้ที่ถือโดยนักลงทุนต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 9% ของตราสารหนี้ทั้งหมด ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้อีกมาอยู่ที่ระดับไม่เกิน 15% ถือเป็นสัดส่วนการถือพันธบัตรที่เหมาะสมของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากหากถือครองในอัตราส่วนที่มากกว่านี้หากมีการซื้อขายในปริมาณมากจะส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้ได้
“ตอนนี้ตลาดไม่มีที่ไปทั้งยุโรปและสหรัฐนักลงทุนไม่ค่อยอยากลงทุนนักตลาดตราสารหนี้ของไทยยังคงเป็นที่น่าสนใจของต่างชาติและมีช่องว่างเหลือให้ลงทุนอีก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของตราสารนั้นๆ ด้วยและข้อจำกัดอื่นๆ ของนักลงทุนที่ต้องมีการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนอย่างมีความเหมาะสม” นายจักรกฤศฏิ์กล่าว
นายจักรกฤศฏิ์กล่าวว่า สำหรับโครงสร้างการออกตราสารหนี้ของไทยในปัจจุบันนั้นบทบาทหลักยังคงเป็นของภาครัฐโดยสบน.และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อยู่ โดยมูลค่าพันธบัตรทั้งหมดเป็นการออกโดยภาครัฐถึง 75% ที่เหลือเป็นภาคเอกชนถืออีก 25% เท่านั้น ดังนั้นสบน.จะพยายามผลักดันให้สัดส่วนการออกตราสารหนี้ระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เมาะสมที่ 50% เท่ากัน โดยอันดับเครดิตของหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชนนั้นล้วนแต่มีความแข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ A ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2555 สบน.มีแผนการก่อหนี้อีก 8 แสนล้านบาทโดยรวมทั้งการชำระคืนหนี้เก่าและก่อหนี้ใหม่ แบ่งเป็นพันธบัตรอ้างอิงทุกอายุและพันธบัตรอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อจำนวน 4 แสนล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงิน 1.25 แสนล้านบาท ตั๋วเงินคลัง 6.5 หมื่นล้านบาท พันธบัตรดอกเบี้ยลอยตัว 5 หมื่นล้านบาทและพันธบัตรออมทรัพย์อีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งตลาดมีความต้องการพันธบัตรอยู่อีกในปริมาณสูง
“ความต้องการของตลาดในขณะนี้ยังมีอยู่มากโดยปริมาณพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล 8 แสนล้านบาทนั้นมีความต้องการซื้อมากกว่าถึง 1.2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะเงินจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันทั้งประกันชีวิต ประกันสังคมและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ที่ต้องการซื้อโดยเฉพาะพันธบัตรที่มีอายุ 10 ปี 20 ปี 30 ปีและ 50 ปี โดยสบน.จะทยอยออกเพื่อตอบสนองตลาดตามความเหมาะสมต่อไป” นายจักรกฤศฏิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น