สบน.เร่งวางโครงสร้างพื้นฐาน “ตลาดตราสารหนี้” หวังเพิ่มสภาพคล่อง และช่องทางการระดมทุนฉุกเฉิน พร้อมรองรับการแข่งขันในอนาคต
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปี 2555 จะเป็นปีของการยกะดับโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการเชื่อมโยงกับตลาดตราสารหนี้ในภุมิภาค โดยจะเน้นการทำงาน 3 ด้าน คือ 1.การปรับปรุงสิทธิประโยชน์และหน้าที่ของผู้ค้าหลัก (Primary Dealer) อย่างเป็นระบบ
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาการให้สิทธิ เช่น สิทธิในการประมูลพันธบัตรในตลาดแรก การประมูลพันธบัตรรัฐบาลในภาวะที่รัฐบาลต้องการระดมทุนฉุกเฉิน โดยจะประมูลรุ่นที่เฉพาะเจาะจงและมีการประกาศล่วงหน้าประมาณ 4 สัปดาห์ และสิทธิในการซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมอีก 10-20% ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร”
ทั้งนี้ สบน.จะมีการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยที่ไม่ได้เน้นการสร้างสภาพคล่องในตลาดรองและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและผลักดันตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เป็นผู้นำในกลุ่มอาเซียน สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาค
2.การทำ Bond Switching และ Bond Consolidation ซึ่งที่มีผ่านมีการออกพันธบัตรวงเงินต่อรุ่นค่อนข้างต่ำที่ เฉลี่ย 33,000 ล้านบาทต่อรุ่น และมีจำนวนรุ่นมาก คือ 60 รุ่น ทำให้พันธบัตรรัฐบาลไม่มีสภาพคล่อง ดังนั้น จึงจะมีการทำ Bond Switching และ Bond Consolidation ให้ลดจำนวนรุ่นที่คงค้างในตลาดลง และส่งเสริมให้ยอดคงค้างของรุ่น Benchmark Bond มีวงเงินที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถใช้พันธบัตรรุ่นอื่นทีมีสภาพคล่องต่ำ มาแลกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นที่เป็น Benchmark Bond ของกระทรวงการคลังที่จะออกในปีปัจจุบัน ที่จะทำให้นักลงทุนจำกัดพันธบัตรรุ่นที่ไม่ต้องการออก และรัฐบาลสามารถลดจำนวนรุ่นคงค้างของพันธบัตรที่มีการกระจายในตลาดออกได้ ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะทำให้พอร์ตลงทุนทุกฝ่ายเป็นระบบมากขึ้น และพันธบัตรรัฐบาลจะเป็นตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สบน. มีแผนที่จะทำ Bond Switching และ Bond Consolidation โดยกำหนดในแผนพัฒนาตลาดทุนไทย และทำธุรกรรมได้จริงภายในปีงบประมาณ 2556
3.การ Amortized bond ซึ่งแตกต่างจากพันธบัตรรัฐบาลทั่วไปที่พันธบัตรดังกล่าวไม่ได้ชำระคืนเงินต้นเพียงครั้งเดียวเมื่อครบกำหนด แต่จะทยอยชำระคืนเงินต้นเป็นงวดๆให้ผู้ถือในช่วงปีท้ายๆก่อนพันธบัตรครบกำหนด โดย Amortized bond เหมาะสำหรับการระดมทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ ในรูปแบบ PPP ที่รัฐบาลต้องใช้เงินลงทุนช่วงแรกของโครงการ และเริ่มคืนทุนหลังดำเนินโครงการระยะหนึ่ง ซึ่ง สบน.จะต้องประเมินกระแสเงินสดตั้งแต่แรกเพื่อออกแบบการออก Amortized bond ให้สอดรับระยะเวลาคืนทุน โดยยึดหลักวินัยทางการคลัง
นอกจากนี้ ในระยะยาว Amortized bond จะเป็นเครื่องมือในการช่วยลดภาระหนี้ที่มียอดคงค้างสูง รวมถึงช่วยลดยอดหนี้สาธารณะให้อยู่ต่ำกว่าปกติ เมื่อเทียบกับการออกพันธบัตรรัฐบาลเพียงอย่างเดียว และในแง่ของนักลงทุน กระแสเงินสดของ Amortized bond จะเหมาะสมกับนักลงทุนหลายประเภท เช่น กลุ่มประกันชีวิต ที่มีการทยอยคืนค่ากรมธรรม์ให้ลูกค้าเป็นช่วงๆ ก่อนกรมธรรม์ครบกำหนด