สบน.ถกนักลงทุน ตปท.เตรียมพร้อมออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ รอบแรก 11-13 ก.ค.นี้ คลังไฟเขียวสถาบันต่างประเทศ 5 รายออกหุ้นกู้สกุลเงินบาท 4.2 หมื่นล้าน 1 ก.ค. ถึง 31 ธ.ค.54
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า ได้มีโอกาสเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมเรื่องการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond : ILB) ที่สหราชอาณาจักร, สิงค์โปร์ และ ฮ่องกง เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง, แนวทางการออกพันธบัตรรัฐบาลในเชิงลึก, นโยบายและกลยุทธ์การพัฒนาตลาดตราสารหนี้กับนักลงทุนทั้งในยุโรป และเอเชีย
ทั้งนี้ จากการหารือพบว่านักลงทุนในต่างประเทศมีความต้องการให้มีการพัฒนาพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง โดยต้องการให้สร้างสภาพคล่องให้กับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ โดยการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้ออย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างเส้นผลตอบแทนอ้างอิงโดยการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อในรุ่นอายุอื่นๆ นอกจากรุ่น 10 ปี
นอกจากนี้ นักลงทุนในต่างประเทศยังมีความคิดเห็นว่า การที่ประเทศไทยสามารถออกพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุยาวถึง 50 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดตราสารหนี้ไทยได้พัฒนามาจนอยู่ในแนวหน้าของระดับสากลแล้ว เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ 4 ในโลกที่มีพันธบัตรรัฐบาลยาวถึง 50 ปี อีกทั้งแผนการที่จะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) ถือเป็นแผนการที่ดีในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในเชิงลึก เนื่องจากเป็นการมุ่งเน้นดูแลกลุ่มนักลงทุนรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มักจะไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลในต่างประเทศมากนัก
ล่าสุด จากการสำรวจเบื้องต้น สบน.คาดว่า พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจะได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากนักลงทุน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.นักลงทุนรายย่อย (high net worth) และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (สหกรณ์มูลนิธิต่างๆ) 2.นักลงทุนสถาบันในประเทศ (สถาบันการเงิน กองทุนและบริษัทประกันชีวิตต่างๆ) 3.นักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและบริษัทประกันชีวิตต่างๆ)
โดย สบน.จะเป็นผู้จัดสรรพันธบัตรให้อย่างเหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานนักลงทุนไปยังกลุ่มใหม่ๆและสร้างสภาพคล่องในตลาดรอง ทั้งนี้ เพื่อให้ ILB เป็นเครื่องมือในการระดมทุนของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ Portfolio อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นดัชนีชี้นำการคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น
นอกจากนั้น พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อยังเป็นเครื่องชี้ถึงระดับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของไทยที่ทัดเทียมกับตลาดตราสารหนี้ชั้นนำของโลกด้วย (ประเทศไทยเป็นประเทศแรกใน Asia emerging economy market ที่ออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ)
อนึ่ง สบน.จะจัดจำหน่ายพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อภายในวันที่ 11-13 กรกฎาคม 2554 โดยมีรายละเอียดดังนี้ เป็นพันธบัตรอายุ 10 ปี วงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วและอัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ โดยใช้ดัชนีผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI) เป็นดัชนีอ้างอิง อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วกำหนด ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2554 ส่วนการชำระคืนเงินต้นจะต้องชำระคืนไม่ต่ำกว่ามูลค่าหน้าตั๋ว ณ วันไถ่ถอน ทั้งนี้มีวงเงินขั้นต่ำ 100,000 บาท
สำหรับตัวแทนจัดจำหน่าย ได้แก่ 1.ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง 2.ธนาคารไทยพาณิชย์ 3.ธนาคารกสิกรไทย 4.ธนาคารกรุงไทย
นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า สบน.จะจัดประชุม Market Dialogue ภายในเดือนกันยายน 2554 เพื่อรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้ค้าหลักและนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนำมาใช้ในการวางแผนพัฒนาเครื่องมือระดมทุนและตลาดตราสารหนี้ พร้อมทั้งกำหนดแผนการระดมทุนในปีงบประมาณ พ.ศ.2555 ต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเห็นควรอนุญาตให้นิติบุคคลต่างประเทศ จำนวน 5 ราย ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ประกอบด้วย Credit Agricole Corporate and Investment Bank วงเงิน 10,000 ล้านบาท, First Gulf Bank Public Joint Stock Company วงเงิน 6,000 ล้านบาท, ING Bank N.V.วงเงิน 10,000 ล้านบาท, The Export-Import Bank of Korea วงเงิน 10,000 ล้านบาท และ Lloyds TSB Bank plc วงเงิน 6,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังขอสงวนสิทธิ์ที่จะระงับการอนุญาตในกรณีที่สถานภาพ หรือสถานะทางการเงินของผู้ที่ได้รับอนุญาต หรือเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ การอนุญาตให้ออกพันธบัตร หรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย ในช่วง 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนไทย รวมถึงโอกาสที่นักลงทุนในประเทศสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม และการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยแล้ว
สำหรับผู้มีความประสงค์จะขออนุญาตในรอบถัดไปสามารถยื่นหนังสือแสดงความจำนงได้ภายในเดือนสิงหาคม 2554