xs
xsm
sm
md
lg

เข็นบอนด์ชดเชยเงินเฟ้อ 4 หมื่นล้านขาย 11 ก.ค. นำเงินล้างหนี้บอนด์ไทยเข้มแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
"คลัง" เปิดขายพันธบัตรอิงเงินเฟ้อ เคาะล็อตแรก 4 หมื่นล้าน อายุ 10 ปี ดีเดย์ 11-13 ก.ค.นี้ หวังนำเงินไปจ่ายหนี้พันธบัตรไทยเข้มแข็ง คาดหนี้สาธารณะปลายปี 55 ต่ำกว่า 40%ต่อ GDP เพราะ ศก.โตต่อเนื่อง พร้อมเปิดไอเดียให้จองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านตู้ ATM คาดเริ่มปลายปี

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกความตกลงในการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ (พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ) Inflation Linked Bond (ILB) ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยจะเปิดขายช่วงวันที่ 11-13 กรกฎาคม 2554 นี้ วงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท อายุ 10 ปี

สำหรับอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนแยกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วอยู่ที่ประมาณ 1% ต่อปี ซึ่งจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนในส่วนนี้อีกครั้งในวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 นี้ ส่วนที่สองเป็นดอกเบี้ยชดเชยอัตราเงินเฟ้อบนดอกเบี้ย และส่วนที่สามเป็นดอกเบี้ยชดเชยอัตราเงินเฟ้อบนเงินต้น ซึ่งจะมีการประกาศผลตอบแทนดังกล่าวในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนการจ่ายดอกเบี้ย โดยจะมีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยทุก 6 เดือน

ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะมีการขายพันธบัตรดังกล่าวให้กับนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศ แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดสัดส่วนว่าจะขายให้แต่ละกลุ่มในจำนวนเท่าใด เนื่องจากต้องรอดูการแสดงความสนใจจากนักลงทุนก่อน โดยจะมีการเดินทางไปโรดโชว์ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2554 นี้ รวมทั้งที่ฮ่องกง และสิงคโปร์

ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า การออกพันธบัตรดังกล่าวจะเป็นกลไกบ่งชี้ความร่วมมือด้านนโยบายระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการติดตามเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และขยายฐานการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ 3.8% และหากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสูงเกิน 3% จะส่งผลให้ผู้ที่ลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรทั่วไปในตลาด

"นับเป็นการออก ILB ครั้งแรก ของประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ในตลาดเกิดใหม่ ที่สามารถออก ILB ได้สำเร็จ ซึ่งการออก ILB ครั้งนี้ จะสามารถเป็นเครื่องมือในการบ่งชี้ถึงความร่วมมือ ทางด้านนโยบายระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ในการติดตามดูแลอัตราเงินเฟ้อ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การขยายฐานลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ให้มีความหลากหลาย สามารถรองรับความผันผวนของตลาดการเงินได้ และการพัฒนาตลาดตราสารหนี้"

ทั้งนี้ พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond) เป็นทางเลือกในการลงทุนและบริหารความเสี่ยงของนักลงทุนในช่วงที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงเช่นในปัจจุบัน นอกจากนั้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบ่งชี้ถึงระดับของการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของไทยที่มีความหลากหลายและสามารถตอบโจทย์ให้แก่นักลงทุนทุกประเภท

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนที่ต้องการรักษาอำนาจซื้อจากการเปลี่ยนแปลง ของเงินเฟ้อ โดยรัฐบาลจะจ่ายส่วนชดเชยเงินเฟ้อบนเงินต้นคืนให้กับนักลงทุนพร้อมกับเงินต้นที่ 100% ณ วันครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งถือเป็นการรักษาอำนาจซื้อได้อย่างสมบูรณ์ พันธบัตรดังกล่าวเหมาะสมสำหรับนักลงทุนที่ต้องการออมเงินเพื่อที่จะใช้ในอนาคตข้างหน้าเช่น เพื่อการเกษียณ เพื่อการศึกษาของบุตรหลาน

"ขณะนี้เป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนซื้อพันธบัตรดังกล่าว ผู้ซื้อพันธบัตรจะไม่มีการขาดทุนจากการลงทุน คาดว่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุน และผู้ที่มีเงินออม นอกจากนี้ ผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลยังได้รับการคุ้มครองเงินต้น 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากในเดือนสิงหาคมนี้ สถาบันประกันเงินฝากก็จะลดการคุ้มครองเงินฝากของสถาบันการเงิน เหลือไม่เกิน 50 ล้านบาท สำหรับเงินที่ขายพันธบัตรดังกล่าว วงเงิน 40,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังจะนำไปจ่ายหนี้คืน จากการออกพันธบัตรไทยเข้มแข็งก่อนหน้านี้"

**เล็งขายบอนด์ผ่านตู้เอทีเอ็ม

ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวเสริมว่า มีแนวคิดจะเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์โดยเปิดให้จองซื้อผ่านตู้เบิกถอนเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการซื้อ และเจรจากับธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นช่องทางซื้อขายพันธบัตรได้สะดวกขึ้น คาดว่าน่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนกันยายน 2554 หรือต้นปีบประมาณ 2555

สำหรับพันธบัตรออมทรัพย์ที่จะนำออกมาเสนอขาย คาดว่าจะเป็นพันธบัตรที่ออกเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปี 2555 ส่วนวงเงินจะเป็นเท่าใดนั้น คงต้องรอดูฐานะเงินคงคลังสิ้นปีงบประมาณ 2554 ก่อนว่าคงเหลือมากน้อยแค่ไหน แต่มองว่าการออกพันธบัตรออมทรัพย์อย่างต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อกาสร้าง benchmark ให้กับตลาดพันธบัตร

**คาดหนี้สาธารณะปีหน้าลดลงจาก ศก.ที่ขยายตัว

ผู้อำนวยการ สบน.ยังคาดการณ์ระดับหนี้สาธารณะภายในประเทศ โดยเชื่อว่า ช่วงปลายปีงบประมาณ 2555 ระดับหนี้สาธารณะของไทยน่าจะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลไม่ได้ก่อหนี้มากนัก

ทั้งนี้ ตัวเลขยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 มีจำนวน 4,246,114.68 ล้านบาท หรือคิดเป็น 41.28% ของจีดีพี พร้อมระบุว่า ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำกว่า 50% ของจีดีพี ถือว่าเป็นระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง และหากรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศวางยุทธศาสตร์หลักในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมีนโยบายที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศ ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อระดับหนี้สาธารณะ แต่จะต้องไม่วางนโยบายประชานิยมควบคู่ไปด้วย ซึ่งหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ที่อยู่ในระดับ 60%
กำลังโหลดความคิดเห็น