xs
xsm
sm
md
lg

คลังเปิดตัวบอนด์เงินเฟ้อ ILB ยันเปิดขาย 7 ก.ค.นี้ เคาะดอกเบี้ย 1.0-1.2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังดีเดย์โรดโชว์พันธบัตรเงินเฟ้อ ILB 3 มิ.ย.นี้ ดึงนักลงทุนรายย่อย สถาบันและองค์กรไม่แสวงหากำไรร่วมฟังข้อมูล ผนึก HSBC KTB SCB KBANK รับใบจองล่วงหน้าประเมินความต้องการตลาดก่อนเดินหน้าโรดโชว์อังกฤษ ฮ่องกงและสิงคโปร์ ยันเปิดขาย 7 ก.ค.แน่นอน เคาะดอกเบี้ย 1.0 - 1.2%

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายนนี้สบน.จะเชิญนักลงทุนเข้ารับฟังข้อมูลรายละเอียด (โรดโชว์) ของพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ Inflation-Linked Bond : ILB ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ โดยจะเชิญนักลงทุนทั้งประเภทสถาบัน และรายย่อย รวมทั้งองค์กร มูลนิธิต่างๆ ที่ไม่แสวงหากำไรเพื่อทำความเข้าใจในพันธบัตร ILB ครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการออกพันธบัตร ILB ครั้งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาค

โดยในวันจัดงาน สบน.จะร่วมกับธนาคารผู้แทนจัดจำหน่ายประกอบไปด้วยธนาคารเอชเอสบีซี ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) KTB ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) SCB และธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) KBANK เปิดบูทเพื่อรับคำสั่งจองซื้อพันธบัตร ILBล่วงหน้าก่อนเปิดจำหน่ายจริงเพื่อสำความความต้องการของตลาดในเบื้องต้นและนำมาประกอบการพิจารณาแบ่งสัดส่วนการจำหน่ายให้กับนักลงทุนแต่ละกลุ่มตามความเหมาะสม

“หลังจาดโรดโชว์ในประเทศครั้งนี้เสร็จสบน.ก็จะเดินทางไปโรดโชว์อีก 3 ประเทศคือ อังกฤษ ฮ่องกงและสิงคโปร์เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศที่สนใจลงทุนในพันธบัตร ILB มีทางเลือกเพิ่มขึ้นด้วย” นายจักรกฤศฏิ์กล่าว

นายจักรกฤศฏิ์กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร ILB นั้นคาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.0-1.2% โดยยังไม่รวมผลตอบแทนจากส่วนชดเชยเงินเฟ้อบนดอกเบี้ยและเงินต้น ซึ่งสบน.พยายามที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดกับนักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งนอกจากการฝากเงิน โดยกำหนดการจำหน่ายพันธบัตร ILB ผ่านธนาคารตัวแทนทั้ง 4 แห่งคือวันที่ 7 ก.ค.54

สำหรับเงื่อนไขและรูปแบบของพันธบัตร ILB มีอายุ 10 ปี วงเงินประมาณ 20,000-40,000 ล้านบาท ชำระดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้งทุก 6 เดือน โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นนายทะเบียน นักลงทุนสามารถซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และซื้อเพิ่มเป็นจำนวนเท่าของ 100,000 บาท

ทั้งนี้ สบน.จะดำเนินการออกพันธบัตรแต่ละรุ่นอายุเพื่อใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับตลาดพันธบัตร ทั้ง 3 ปี 5 ปี 7 ปี 10 ปี 15 ปี 20 ปี และ 30 ปี รุ่นละประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยรุ่น 5 ปีขณะนี้อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท ส่วนรุ่น 20 ปีและ 30 ปี ยังอยู่ในหลักพันล้านบาท แต่ในอนาคตจะมีการออกเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นดัชนีอ้างอิงของตลาดต่อไป ซึ่งต้องพิจารณาตามแผนการใช้จ่ายเงินของรับบาลประกอบกันไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น