xs
xsm
sm
md
lg

รับมือกับเงินเฟ้อขาขึ้น ด้วยพันธบัตรพิทักษ์อำนาจซื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย พาสันติ์ สิงหะ
หัวหน้านักวิเคราะห์กลยุทธ์ตลาดเงินและตลาดทุน
ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย

เร็ว ๆ นี้ กระทรวงการคลังเตรียมจะออกพันธบัตรชนิดใหม่ เพื่อเพิ่มพูนผลตอบแทนแก่นักลงทุน และเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยง สาเหตุที่เราอยากลงทุนก็เพื่อซื้อของในอนาคต แต่ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน เรื่องที่แวบขึ้นมาในสมองก่อนอื่นเลยคงหนีไม่พ้นเรื่องผลตอบแทน แต่อีกเรื่องสำคัญที่หลายคนอาจจะนึกไปไม่ถึง ก็คือ เงินเฟ้อ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้มูลค่าของเงินลดลงตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ลองนึกดูว่าสมัยปู่ย่าตาทวดของเรา ก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งแค่ 5 สตางค์ แล้วในอนาคตรุ่นหลานของเรา ราคาเย็นตาโฟชามหนึ่งจะพุ่งพรวดเป็นเท่าไหร่ หากย้อนกลับไปมองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า เงินเฟ้อของไทยผันผวนอย่างหนัก และเคยพุ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดที่ 9.2% ในช่วงกลางปี 2551

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โอกาสการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แรกเริ่มเดิมที การลงทุนของเรายังจำกัดอยู่ในทรัพย์สินประเภทที่ดิน ทองคำ และบัญชีเงินฝากธนาคาร ต่อมาก็เริ่มขยับขยายมาลงทุนในหุ้น พันธบัตร และประกันเพิ่มเติม และเมื่อเร็ว ๆ นี้ เราก็สามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร และพันธบัตรเกาหลีได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่ว่ามานี้ยังไม่อาจป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อได้อย่างแท้จริง สินทรัพย์บางประเภท อย่างเช่น สินค้าโภคภัณฑ์ และที่ดิน ในบางครั้งอาจสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อ แต่ถึงอย่างไรการลงทุนเหล่านั้นมีปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทาน ที่อาจส่งผลกระทบทำให้ราคาผันผวนอย่างหนัก และนำไปสู่โอกาสที่จะขาดทุนได้

แต่อีกไม่ช้า นักลงทุนก็จะไม่ต้องกังวลเรื่องนี้อีกต่อไป เนื่องจากจะมีทางเลือกในการลงทุนรูปแบบใหม่ โดยเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นตราสารหนี้ ซึ่งมูลค่าของการลงทุนและการจ่ายผลตอบแทนจะอ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อโดยตรง นั่นคือ พันธบัตรพิทักษ์อำนาจซื้อ (Inflation-linked bond) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก และพันธบัตรชนิดนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในแทบทุกประเทศที่เป็นเศรษฐกิจสำคัญของโลก และขณะนี้ก็กำลังจะนำมาใช้ในประเทศไทยด้วย

พันธบัตรพิทักษ์อำนาจซื้อ ให้ผลตอบแทนที่แท้จริงสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยการคิดผลตอบแทนมี 2 แบบหลัก ๆ สำหรับพันธบัตรที่อัตราดอกเบี้ยอิงกับดัชนีเงินเฟ้อ การคำนวณผลตอบแทนจะทำแบบง่าย ๆ โดยเอาอัตราเงินเฟ้อในแต่ละช่วงเวลาบวกเพิ่มเข้าไปจากอัตราดอกเบี้ยประจำ ดังนั้น เงินต้นก็จะยังคงมูลค่าเท่าเดิมตามช่วงอายุของพันธบัตร

ส่วนพันธบัตรที่เงินต้นอิงกับดัชนีเงินเฟ้อ เงินต้นจะมีการปรับตามอัตราเงินเฟ้อนับตั้งแต่พันธบัตรออกเสนอขาย การคำนวณอัตราผลตอบแทนจะทำโดยเอาอัตราดอกเบี้ยประจำบวกกับเงินต้นที่มีการปรับแล้วในแต่ละช่วงเวลา

ในทางปฏิบัติ พันธบัตรที่เงินต้นอิงกับดัชนีเงินเฟ้อ กลับมีข้อดีที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง คือ ผลกระทบที่สะสมมาจากเงินเฟ้อในอดีตจะถูกรวมเข้ามาคิดในเงินต้นด้วย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้นักลงทุนสามารถซื้อขายพันธบัตรได้ง่ายก่อนครบกำหนด สำหรับพันธบัตรพิทักษ์อำนาจซื้อที่ขายกันทั่วโลกส่วนใหญ่ก็มีลักษณะเป็นแบบนี้

ด้วยคุณลักษณะพิเศษของพันธบัตรพิทักษ์อำนาจซื้อที่แตกต่างไปจากพันธบัตรทั่วไป จึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่น่าสนใจในช่วงที่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยกำลังวิ่งทะยานไม่หยุด เนื่องจากจะช่วยเพิ่มพูนผลตอบแทนได้ในภาวะที่เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และช่วยคุ้มครองเงินต้นสำหรับนักลงทุนได้ แต่ในทางกลับกัน พันธบัตรพิทักษ์อำนาจซื้ออาจไม่น่าเย้ายวนใจ หากว่าเงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลงหรืออยู่ในระดับที่ต่ำมาก

สำหรับนักลงทุนตัวยง พันธบัตรพิทักษ์อำนาจซื้อ ยังมีข้อดีอีกอย่าง นั่นคือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทอื่นน้อยมาก ซึ่งหมายความว่า หากเกิดความผันผวนในตลาด มูลค่าของพันธบัตรพิทักษ์อำนาจซื้อจะผันผวนขึ้นลงต่างจากมูลค่าผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทอื่น ดังนั้น หากมีกระจายการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในพอร์ต จะทำให้นักลงทุนมีความเสี่ยงต่ำ ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้ผู้จัดการการลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทนในพอร์ตลงทุนได้อย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ

ในหลาย ๆ ประเทศ คนที่นิยมลงทุนในพันธบัตรพิทักษ์อำนาจซื้อมักเป็นนักลงทุนสถาบัน อย่างเช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และบริษัทประกันชีวิต โดยพันธบัตรพิทักษ์อำนาจซื้อจะช่วยให้นักลงทุนเหล่านี้ได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการ และขณะเดียวกันก็จะช่วยลดความผันผวนในพอร์ตการลงทุนด้วย

กระทรวงการคลังกำหนดจะออกพันธบัตรพิทักษ์อำนาจซื้อในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยธนาคารเอชเอสบีซีได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้เป็นที่ปรึกษาด้านการออกพันธบัตร ผู้ดำเนินการจัดจำหน่าย และธนาคารผู้ประสานงานในระดับโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น