xs
xsm
sm
md
lg

เร่งระดมสมองพัฒนาตลาดทุน 5 พรรค โชว์กึ๋น ธปท.ห่วงคอร์รัปชันบั่นทอนตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฟกัสเวทีสัมมนาตลาดทุน เร่งระดมสมองกำหนดทิศทางให้ชัดเจน สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เสนอ 3 เรื่องหลัก เพื่อให้รัฐบาลใหม่สานต่อทันที ก่อนตกเวทีโลก ผู้บริหาร บจ.แนะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนให้บาลานซ์กับตลาดเงิน พร้อมเพิ่มจำนวนนักลงทุน สร้างความเข้มแข็ง และความเชื่อมั่น ด้านผู้ว่าฯ ธปท.ห่วงปัญหาการคอร์รัปชันกระทบการพัฒนาตลาดทุน วอนทุกฝ่ายช่วยสร้างวัฒนธรรมที่ดี อย่าปล่อยให้คนเชื่อวัฒนธรรมผิดๆ โกงแล้วไม่เป็นไร ขณะที่ 5 พรรค โชว์นโยบาย-วิสัยทัศน์

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวในการสัมมนา “ตลาดทุนกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย...ภายใต้รัฐบาลใหม่” โดยระบุว่า สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเสนอ 3 ข้อ ให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการในการพัฒนาตลาดทุน คือ 1.การเดินหน้าแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพราะหากไม่ทำจะล้าหลังประเทศอื่น ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ต้องดำเนินการ 2.ต้องมีการพัฒนาคนให้มีความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุนให้มากขึ้น ด้านการลงทุนทั่วโลกให้ลึกและกว้าง

3.สร้างแบรนด์ให้กับตลาดทุนไทย เหมือนกับที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากตลาดทุนไทยไม่มีแบรนด์ ดังนั้นต้องสร้างเอกลักษณ์ให้มีความสามารถในการแข่งขัน หากในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ต้องการให้ตลาดทุนไทยอยู่ในเวทีโลก

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ขณะนี้ปัญหาการคอร์รัปชันถือเป็นอุปสรรคในการพัฒนาขีดความความสามารถในการพัฒนาตลาดทุนไทย เพราะคอร์รัปชันเป็นเรื่องไม่ดี บั่นทอนหลายสิ่งหลายอย่าง เป็นอุปสรรคใหญ่ในการพัฒนา ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไข โดยเฉพาะในเรื่องค่านิยมของไทยก็น่าห่วง

“การคอร์รัปชันเป็นเรื่องไม่ดี น่าห่วง เพราะถ้าดูจากข่าวที่สื่อเสนอ และที่เกิดขึ้นกับภาคส่วนต่างๆ เช่น ด้านการศึกษาที่พบว่ามีการซื้อใบปริญญา มีการทุจริตในวงการธุรกิจ ฉะนั้น เราต้องช่วยกันดูแล 3 ในด้านประกอบกัน คือ ด้านกฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ต้องให้บังคับใช้อย่างจริงจัง และด้านกลไกลตลาดก็ต้องช่วยด้วย ใครทำไม่ดีก็ควรได้รับการลงโทษ ส่วนใครทำดีก็ควรได้รับรางวัลชื่นชม ขณะเดียวกัน ด้านการเสริมสร้างค่านิยมที่ดี ก็ควรปลูกฝั่งทางวัฒนธรรมที่ดี อย่าสนับสนุนการโกง อย่าสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้เชื่อว่า โกงแล้วไม่เป็นไร อย่างนี้ ไม่ได้ ถ้าปล่อยให้ทำได้ คงแย่ เศรษฐกิจเราจะไปได้ไม่เต็มที่ ผลกระทบจะเกิดไปทั่ว และกระทบมาถึงตลาดทุนอยู่แล้ว”

ปัจจุบันตลาดเงินและตลาดทุนไทย มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าของตลาดตราสารหนี้สูงถึง 15 ล้านล้านบาท มูลค่าตลาดรวมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สูงถึง 8 ล้านล้านบาท และมูลค่าของสินเชื่อรวม 7 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ได้เข้ามามีบทบาทในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีทั้งมีประสิทธิภาพ และไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งบางตัวชุดเสริมตลาด แต่บางตัวก็ไปซ้ำซ้อนกับตลาดทุน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ ธปท.พยายามออกพันธบัตรทางการเงิน เพื่อช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ทั้งการสร้างอัตราการผลตอบแทนที่อ้างอิงได้ ขณะเดียวกันก็พยายามดูแลสถาบันการเงินเหมือนกับในต่างประเทศที่ออกกฎดูแลไม่ให้สถาบันการเงิน ทำธุรกรรมในทุกด้านเหมือนกับที่เกิดปัญหากับสถาบันการเงินในสหรัฐฯ เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการเงินและตลาดทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ ต้องทำระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นเข้าใจง่าย เพื่อให้เอกชนใช้ประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยน เสริมศักยภาพของธนาคารกลางในการเข้าแทรกแซง ดูกรอบกฎหมายเรื่องการไหลเข้า-ไหลออก ให้สมดุล โดยจะเปิดรับฟังความเห็นของเอกชนและสาธารณะในไตรมาส 4

ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะมีความสามารถทางการแข่งขันต้องมีปัจจัยหลัก 2 เรื่อง คือ มีคนเก่ง และธุรกิจเก่ง ซึ่งจะสร้างทั้ง 2 เรื่องได้ตลาดเงินและตลาดทุนต้องเอื้อด้วยหลัก 4 ประการ คือ 1.กระบวนการจัดสรรเงินทุนต้องมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการจัดสรรเงินทุนระยะยาว

2.ต้องมีการบริหารความเสี่ยงและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่สามารถป้องกันปัญหาสถาบันการเงินล้มเป็นลูกโซ่ และต้องมีวิธีแก้ปัญหาและฟื้นฟูโดยเร็วหากเกิดปัญหากับสถาบันการเงิน 3.ต้องมีการพัฒนาระบบตลาดทุนเพื่อรองรับแนวโน้มการทำธุรกิจข้ามพรมแดนที่กำลังเกิดขึ้น และแนะนำให้มีการนำกำไรจากการลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น 4.ต้องมีการบริหารต้นทุนทางการเงินและธุรกรรมทางการเงินที่ต่ำ

ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต.กำลังดำเนินการในแผนพัฒนาหลายเรื่อง เช่น สนับสนุนให้เปิดเสรีทางการเงิน ยกเลิกค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อแผนงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องทบทวนระบบอัตราภาษีให้เป็นแบบขั้นบันได โดยควรเน้นการเก็บภาษีจากเจ้าของทุน เพราะปัจจุบันผู้จ่ายภาษีเข้าระบบสูงสุดคือชนชั้นกลางและแรงงาน

นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มองว่า ตลท.ควรจะต้องเพิ่มการลงทุนในตลาดทุนให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลกับตลาดการเงิน โดยในปี 2553 ตลาดทุนมีการลงทุนจากต่างชาติเพียงร้อยละ 39 เพราะจะก่อให้เกิดผลดีต่อบริษัทเอกชนที่มีขนาดใหญ่ เช่น ปูนซิเมนต์ และ ปตท. ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่จะเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทขนาดเล็ก และหากเพิ่มขีดความสามารถในตลาดทุนก็จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามามากขึ้น โดยที่ผ่านมาธุรกิจขนาดเล็กเกิดความผันผวนได้ง่าย ซึ่งหากธุรกิจขนาดใหญ่เข้าระดมทุนในตลาดทุนเพิ่มขึ้นก็จะลดความผันผวนให้กับธุรกิจ

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ควรจะเพิ่มจำนวนนักลงทุนทั้งนักลงทุนสถาบันและรายย่อย เพราะปัจจุบันนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนตลาดฯ ไม่ถึง 600,000 ราย จากประชากรทั้งหมดในประเทศ 64 ล้านคน ขณะเดียวกันควรเพิ่มเครื่องมือทางการเงินให้ออกมาตรการส่งเสริมและตรวจสอบและปกป้องคุ้มครองนักลงทุนให้เกิดความมั่นใจ รวมถึงเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์ในการลงทุนเพิ่มทางเลือกแก่นักลงทุน เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

ด้าน นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ข้อดีสำหรับองค์กรเข้าสู่ตลาดหุ้นจะช่วยให้การจัดหาเงินระดมทุนทำได้ง่ายขึ้น สร้างโอกาสการทำธุรกิจ สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน นอกจากนี้ การจดทะเบียนในตลาดหุ้นทำให้สาธารณชนเห็นว่าองค์กรโปร่งใส เชื่อถือได้ และมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุน และถ้าองค์กรเข้มแข็งก็จะส่งต่อไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพดีขึ้น รวมทั้งยังมีผลประโยชน์เกิดขึ้นกับประชาน คือเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการออมเงิน เพราะผลตอบแทนในตลาดหุ้นสูงกว่าการฝากเงิน และอยากให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นมากขึ้น เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยให้เข้มแข็ง และแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า แผนพัฒนาตลาดทุนไทย มี 5 เป้าหมายหลัก ซึ่งมีความก้าวหน้าพอสมควร เช่น ด้านการพัฒนาการแข่งขันของตลาดทุนด้วยการลดต้นทุนให้เอกชน เปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ ทำให้ค่าธรรมเนียมลดลงร้อยละ 20-25 แต่ต้องระวังการส่งสัญญาณว่ากระทรวงการคลังไม่ได้ส่งสัญญาณการแข่งขันด้านราคาอย่างเดียว เพราะจะเกิดปัญหาขึ้น

ส่วนในด้านการปฏิรูปตลาดทุน อยู่ในขั้นการพิจารณาข้อกฎหมายเพื่อเตรียมพร้อมกับการเปิดเสรีอาเซียน และยังมีการพัฒนาคุณภาพความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทั้งบริษัทจดทะเบียน กองทุน ทองแท่ง อนุพันธ์ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนไทย มีทั้งส่วนที่เสร็จแล้ว เช่น ภาษีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และต้องแก้ไข รวมถึงมีมาตรการกระตุ้นการระดมทุนผ่านตลาดทุนให้มากขึ้น

** 5 พรรคเปิดนโยบายตลาดทุน

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ทีมเศรษฐกิจแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งได้รับเชิญให้ขึ้นโชว์วิสัยทัศน์ในงานนี้ ส่วนใหญ่มีนโยบายจะสนับสนุนการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน โดยรับปากจะแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการลงทุน การสร้างความโปร่งใส และความเข้าใจเข้ามาลงทุน

นายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่พรรคจะทำหากได้เป็นรัฐบาล คือ สร้างขีดความสามารถของธุรกิจไทยและกระจายรายได้ให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจะนำนโยบายลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 ภายในปี 2555 และเหลือร้อยละ 20 ภายในปี 2556 ซึ่งเป็นภาษีใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง และยังมีการพัฒนาเชื่อมโยงตลาดทุนกับจุดแข็งของประเทศไทยที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตร และพืชพลังงานทดแทน ให้เดินหน้าไปควบคู่กัน โดยจะมีการยุบรวมตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือเอเฟท เข้ามารวมกับ ตลท.ภายใน 6 เดือน เพราะความเคลื่อนไหวในตลาดเอเฟท มีการซื้อขายแต่ละวันน้อยมาก หากรวมกันได้จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ ไม่ว่าภาวะราคา อัตราแลกเปลี่ยน

ขณะที่ผู้ลงทุนใน ตลท.ที่ต้องการหาประโยชน์จากเงินออมก็จะมีสินค้าให้เลือกในการลงทุนมากขึ้น โดยเห็นว่าปัจจุบันตลาดล่วงหน้า เช่น ทองคำได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุน ดังนั้น การเพิ่มสินค้าตลาดล่วงหน้าทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และเอทานอล ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ โดยพรรคพร้อมรับฟังปัญหาและผู้เสนอแนะเกี่ยวกับตลาดทุนทุกด้าน เพื่อนำมาปรับปรุงตลาดทุนให้น่าสนใจมากขึ้น

นายเกษมสันต์ วีระกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ปัจจุบันภาษีของบริษัทต่างๆ มีการเสียเฉลี่ยร้อยละ 23 อยู่แล้ว เพราะมีการหลบเลี่ยงภาษีรูปแบบต่างๆ หากพรรคเข้ามาเป็นรัฐบาลสิ่งที่จะต้องดำเนินการ คือการพัฒนาตลาดหุ้นและพัฒนาสินค้าไทยให้รองรับการเปิดการค้าเสรีตามข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 โดยจะเห็นได้ว่า ไทยจำเป็นต้องเงินเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคถึง 5.5 ล้านล้านบาท หากลดภาษีอย่างเดียวและไม่หารายได้เพิ่มก็จะกระทบต่อการก่อสร้างสาธารณูปโภค ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมตลาดทุน ยกระดับพัฒนาตลาดทุน และเน้นความโปร่งใส โดยเฉพาะ สำนักงาน ก.ล.ต. จะต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงจริยธรรมให้มากที่สุด

ขณะที่ นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า ต้องมีการพัฒนาตลาดทุนเสริมสร้างหลักธรรมาภิบาลให้โปร่งใสมากขึ้น ผู้คุมกฎต้องเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้น ตั้งแต่หน่วยงานรัฐ ธปท., ก.ล.ต.และ ตลท.เพราะปัจจุบันไม่ค่อยเปิดเผยมากนัก นอกจากนี้ เปิดเสรีค่าธรรมเนียมของผู้ซื้อขายหลักทรัพย์ที่ ครม.เห็นชอบให้มีการเปิดเสรี แต่พบว่าจะเน้นนักลงทุนรายใหญ่ ดังนั้น ควรจะมีการเปิดเสรีให้กลุ่มนักลงทุนรายย่อยได้ประโยชน์จากการลดค่าธรรมเนียมด้วย

ขณะเดียวกัน ต้องปรับโครงสร้างภาษีส่งเสริมการควบรวมกิจการ เพื่อทำให้บริษัทของไทยลดต้นทุน และเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งการลงทุนในและต่างประเทศ ก็จะมีการพัฒนาตลาดอนุพันธ์ต่างๆ รวมถึงการแข่งขันธุรกิจขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก และส่งเสริมให้มีการออกพันธบัตรในรูปเงินบาท ซึ่งจะทำให้เงินบาทของไทยกลายเป็นเงินที่ใช้ในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ ทางพรรคพร้อมส่งเสริมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เข้ามาจดทะเบียนใน ตลท.ทำให้ตลาดหุ้นมีสินค้ามากขึ้น และมีขนาดกระตุ้นความน่าสนใจของการลงทุนมากยิ่งขึ้น

ด้าน นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สิ่งที่พรรคต้องการทำ คือ ไม่ต้องการเห็น ตลท.เป็นสถานที่เก็งกำไร และจะมีการสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ เข้ามาจดทะเบียนใน ตลท.เป็นทางเลือกมากขึ้น

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทางพรรคได้ดำเนินการส่งเสริมกระตุ้นตลาดทุนอย่างชัดเจน เห็นได้ว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่จะจดทะเบียนใน ตลท. แนวทางนี้อาจจะไม่ได้รับความน่าสนใจ เพราะต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจ แต่แนวทางที่พรรคดำเนินการ คือ การจัดทำ พ.ร.บ.การร่วมทุนให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนกับภาครัฐในการพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ หรือพีพีพี แนวทางนี้เมื่อเอกชนเข้ามาร่วมทุนแล้ว สุดท้ายก็ต้องไปจดทะเบียนใน ตลท.ก็จะเป็นการเพิ่มสินค้าในตลาด และกระตุ้นการลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันทางพรรคส่งเสริมการพัฒนาฐานของนักลงทุนด้วยการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีการออมและเกี่ยวโยงด้านตลาดทุน

ขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลก็ได้มีการส่งเสริมการสร้างสินค้าให้มีการจดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไอ ด้วยการลดภาษี ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีการจดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไอมากขึ้น จากปัจจุบัน มีประมาณ 70 บริษัท จากขนาดกลางทั้งหมดที่มีความสามารถกว่า 2,000 บริษัท และส่งเสริมธรรมาภิบาลต่างๆ นอกจากนี้ การที่ทางรัฐบาลดำเนินการลดค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ซื้อขายเกิน 20 ล้านบาท ทำให้ต้นทุนลดลงร้อยละ 25 โดยลดจากค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.20 เป็น 0.16 ซึ่งถือเป็นผลงานที่ช่วยเสริมสร้างตลาดทุน นอกจากนี้ รัฐบาลยังผ่านความเห็นชอบแผนพัฒนาตลาดทุน ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพทั้งตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น