xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดบอนด์ไทยเงียบเหงา นักลงทุนห่วงเงินเฟ้อดันดบ.ขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดตราสารหนี้ยังเงียบเหงา หลังนักลงทุนยังกังวลเงินเฟ้อยังพุ่ง ดันอัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นอีกครั้งเดือนหน้า ด้านนักลงทุนต่างชาติ เริ่มมีสัญญาณกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้งในตราสารหนี้ระยะสั้น

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย รายงานว่า ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 สิงหาคม - 1 กันยายน 2554) มีมูลค่ารวม 325,724 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 65,145 ล้านบาท ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 6% ทั้งนี้ เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 89% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 290,723 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 29,173 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 3,085 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือ รุ่น LB17OA (อายุ 6.1 ปี), LB15DA (อายุ 4.3 ปี) และ LB145B (อายุ 2.7 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 9,759 ล้านบาท 5,466 ล้านบาท และ 5,092 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB11919A (อายุ 14 วัน), CB11920A (อายุ 14 วัน) และ CB11913A (อายุ 14 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 79,099 ล้านบาท 58,986 ล้านบาท และ 17,077 ล้านบาท ตามลำดับ

ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกนั้น ได้แก่หุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF418A (AA-)) มูลค่าการซื้อขาย 601 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (AYCAL12OA (A+)) มูลค่าการซื้อขาย 455 ล้านบาท และหุ้นกู้ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY123A (AA-)) มูลค่าการซื้อขาย 283 ล้านบาท

ทั้งนี้ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ขยับตัวขึ้นลงอยู่ในกรอบแคบๆ หรือปรับตัวขึ้นลงอยู่ในช่วงประมาณ -3 ถึง +3 basis point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) มีเพียงอัตราผลตอบแทนของตราสารที่มีอายุคงเหลือประมาณ 1 เดือน ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10 basis point ตามความกังวลเกี่ยวกับตัวเลขเงินเฟ้อที่ค่อนข้างสูง และอาจนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไป โดยภาพรวมของการซื้อขายตราสารหนี้ไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังถือได้ว่าค่อนข้างเงียบเหงา

ส่วนการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP 1 วัน) อีก 0.25% ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในตลาดมากนัก เนื่องจากอัตราผลตอบแทน (โดยเฉพาะของตราสารหนี้ระยะสั้น) ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปล่วงหน้าแล้ว ในขณะที่ช่วงปลายสัปดาห์ได้มีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อประจำเดือนสิงหาคม ซึ่งพบว่ายังคงขยายตัวอย่างร้อนแรง โดยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่า 4.29% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมในปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้น โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือประมาณ 1 เดือน ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่า 10 basis point เนื่องจากนักลงทุนคาดว่า ด้วยสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้ น่าจะทำให้ กนง. ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้

ทางด้านนักลงทุนต่างชาติ กลับมามียอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทยอีกครั้ง หลังจากที่ขายสุทธิไปในสับดาห์ที่ผ่านมา โดยสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิกว่า 23,633 ล้านบาท ทั้งนี้มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่ของนักลงทุนกลุ่มนี้ยังคงเน้นไปในตราสารระยะสั้น (มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) เป็นหลัก และสำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่ถึงแม้จะมีสัดส่วนของการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมียอดซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องอีกประมาณ 911 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น