xs
xsm
sm
md
lg

อุทกภัยไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิต

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ถึงที่สุดแล้วอุทกภัยไทยครั้งยิ่งใหญ่ในรอบกว่าครึ่งศตวรรษนับเป็นจังหวะก้าวแห่งโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ในสังคมไทยที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป ด้วยในความสลับซับซ้อนเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยที่ใน ‘ระดับโลก’ มีความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยเร่งความรุนแรง และปริมาณของพิบัติภัยธรรมชาติจนการมุ่งเน้นตั้งรับกับสถานการณ์โดยขาดการพัฒนาแผนการบริหารจัดการภัยพิบัติระดับชาติ และประสิทธิภาพการบริหารจัดการภัยพิบัติของรัฐอันเป็นปัจจัย ‘ระดับประเทศ’ ได้ทำให้พื้นที่กว่าค่อนประเทศเผชิญผลกระทบ ชุมชนท้องถิ่นนับหมื่น และประชาชนเรือนล้านที่แม้จะพยายามเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติมาก่อนในฐานะความรับผิดชอบของ ‘ระดับปัจเจก’ ที่ต้องดูแลรักษาชีวิตตนเองไม่อาจรอดพ้นต้องปวดร้าวยาวนานจากวิกฤตการณ์นี้แม้นตัวพิบัติภัยจะสิ้นสุดไปแล้ว

แนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติสำหรับประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทั้งด้านการบริหารจัดการและตัวแปรปัจจัยที่มีพลวัตสูงเช่นนี้จึงไม่ควรแค่แก้ไขด้วยการบริหารจัดการวิกฤต (crisis management) ที่มุ่งคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงระยะสั้นเป็นสำคัญ แต่ต้องบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง (change management) ด้วยการกำหนดจังหวะก้าวการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การสร้างเสริมขีดความสามารถที่จำเป็นต่อการรับมือกับสถานการณ์ซึ่งแตกต่างจากอดีตเพราะมีตัวแปรมากมายขึ้นด้วย

ด้วยล่วงเลยเวลานี้ไปไม่เพียง ‘เหล็กจะไม่ร้อน’ ทั้งด้านกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของปัญหาที่ต้องแก้ปัญหาเองแล้ว ด้านข้อมูลข้อเสนอที่มีความสมเหตุสมผลจากรัฐ หน่วยงานรัฐ นักวิชาการทั้งไทยและเทศ และภาคประชาสังคม ที่ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเข้มข้นก็จะมลายหายตามสายน้ำ ละม้ายกันกับข้อเสนอการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่ก็หายไปในอุทกภัยครั้งนี้ ทั้งที่สามารถสลายโครงสร้างเหลื่อมล้ำในการบริหารจัดการน้ำที่สัมพันธ์กับความรุนแรงของอุทกภัยได้เพราะเป็นการแก้ไขรากเหง้าปัญหาทั้งด้านอุทกภัย ภัยแล้ง และการแก่งแย่งทรัพยากรน้ำ

ทั้งนี้วิกฤตผลกระทบมหาศาลต่อสาธารณะจะนำไปสู่การปฏิรูปหรือปฏิวัติได้โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อข้อเสนอข้างต้นที่กล่าวมา ถ้าไม่ครอบคลุมตัวแปรและเงื่อนไขในการป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของอุทกภัยได้ครอบคลุมครบถ้วน รวมถึงวางอยู่บนแนวคิดสถานการณ์ความเป็นไปได้ที่เลวร้ายสุด (worst-case scenario) เพื่อเตรียมการป้องกันที่ดีที่สุดด้วยทุกสรรพกำลังที่มี เพราะจะมีตัวแปรควบคุมไม่ได้ตามมามากมายในภายภาคหน้าทั้งก่อนระหว่างและหลัง ดังสถานการณ์ปีนี้ที่มี ‘big bag’ เป็นนวัตกรรมและจำเลยสำคัญไปพร้อมๆ กัน นอกเหนือไปจากรุงเทพฯ ที่กลายเป็นพื้นที่ความเป็นอภิสิทธิ์และเหลื่อมล้ำ

อุทกภัยครานี้นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายเป็นปัญหา การใช้กลไกทางสิทธิก็กลายมาเป็นปัญหาระหว่างประชาชนกับประชาชน ประชาชนกับรัฐ และรัฐส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเช่นกัน เพราะต่างฝ่ายต่างใช้ ‘สิทธิ’ เข้าสัประยุทธ์กันจนกลายเป็นเกมการเมืองเรื่องอุทกภัยทั้งในระดับผู้นำ และระดับผู้คนทั่วไปในหลายพื้นที่ที่สีเสื้อหลากหลาย ภายในขณะเดียวกันก็ก่อกระแสเห็นแก่ตนเองที่กลบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอันเป็นสายธารน้ำใจไทยเสียสิ้น เพราะต่างอ้างกลไกกฎหมายและสิทธิที่รัฐรับรองความชอบธรรมเข้าควบคุมรัฐอีกต่อหนึ่งเพื่อจะธำรงประโยชน์ตนเองไว้ในลักษณะของ ‘ตัวกูของกู-ตัวกูรอดคนเดียวก็พอ’

ฝ่ายหนึ่งอ้างสิทธิต้านรื้อ big bag เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง ขณะอีกฝั่งก็อ้างถึงสิทธิจะรื้อ big bag ลดน้ำเน่าท่วมขังนับเดือนและทนไม่ได้กับการถูกมองเป็นคนอื่น (the other) ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยการบอกให้อดทน เสียสละ ขณะที่ได้เพียงถุงยังชีพในช่วงเวลาที่อีกซีกหนึ่งของ big bag ดำเนินชีวิตได้ปกติ

การอ้างถึงสิทธิจึงทำให้เท่าเทียมกันไม่ได้ในภาวะวิกฤต การลดทอนสภาวการณ์ขัดแย้งนี้จึงมีแต่การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในฐานะมนุษย์ที่ต้องการความยุติธรรมเท่าเทียมกันเป็นทางออก เพราะที่สุดแล้วสิทธิไม่ได้เป็นกลไกเดียวที่ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ไม่เช่นนั้นสุนัขซึ่งถูกเจ้าของทิ้งไว้ให้ผจญน้ำท่วมเดียวดายคงไม่ได้รับการช่วยเหลือเพราะสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ไม่มี ‘สิทธิ’ แต่ก็รอดชีวิตมาได้เพราะ ‘ความเป็นห่วงเป็นใยในผู้อื่น’ ซึ่งรวมถึงเจ้าสี่ขานี้ด้วยในฐานะเป้าหมายสำคัญของคนที่เข้ามาช่วยเหลือดูแล


ความตราตรึงประทับใจในสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์และสัตว์ที่ได้รับการดูแลห่วงใยในช่วงวิกฤตพิบัติภัยแม้เป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก แต่ก็เป็นสิ่งซึ่งกลไกสิทธิและกฎหมายไม่อาจให้ได้ ไม่เท่านั้นยังนำไปสู่การดูแลห่วงใยในชีวิตผู้อื่นต่อไป และการให้ความสำคัญกับความยุติธรรมที่เกิดกับคนอื่นด้วย

ดังนั้นวิกฤตอุทกภัยจึงเป็นกลจักรขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปหรือปฏิวัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับของรัฐและปัจเจก เพราะปีหน้าแนวโน้มน่ารุนแรงกว่า ถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยนก็ตาย!

ถึงที่สุดขีดความสามารถของประเทศก็ควรเป็นเฉกเช่นศักยภาพมนุษย์ที่พัฒนาตามสถานการณ์ที่คุกคามโดย ‘พลิกวิกฤตเป็นโอกาส’ ได้ นัยของช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิตทั้งระดับปัจเจกชนและรัฐบาลจึงไม่ควรแค่ฉีกปฏิทินทิ้งเพราะแก่ตัวขึ้น หรือยุบศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เพราะวิกฤตน้ำท่วมคลี่คลาย หรือกระทั่งปรับคณะรัฐมนตรีเพราะบริหารภาวะวิกฤตผิดพลาด แต่ต้องหมายถึงการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่

ในขณะที่ชุดความรู้เดิมๆ แนวทางเก่าๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้ ในวิกฤตอุทกภัยรุนแรงจึงต้องการการเปลี่ยนแปลง ที่อย่างน้อยสุดก็ต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำที่รวมศูนย์ส่วนกลาง และตัดขาดประชาชนออกจากการกำหนดนโยบายสาธารณะที่สร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม ทั้งยังไม่สัมพันธ์กับการผังเมือง ที่ดิน ป่าไม้ ตามข้อเสนอของ คปร.

ช่วงชีวิตรัฐบาลและปัจเจกชนที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาสไม่ได้นับเป็นความเลวร้าย ซ้ำร้ายชีวิตก็ไม่ได้ง่ายดายเหมือนพวกมองโลกแง่ดีเสมอที่บางครั้งถึงขั้นชวนหวนถวิลหาอดีต (nostalgia) ว่าผู้คนจะอยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้สุขสบาย ทั้งที่เมืองไทยในกลุ่มคนจนเมืองและหมู่บ้านจัดสรรไม่อาจถอยเวลากลับไปได้

อุทกภัยไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิตจึงไม่ได้หมายความแค่การเปลี่ยนแปลงของปัจเจกชนที่จะต้องเรียนรู้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่นมากกว่าการมุ่งใช้กลไกสิทธิ และกฎหมายปกป้องทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น ทว่ารัฐเองก็ยังต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นโดยยึดโยงอยู่กับการสร้างความปลอดภัยขั้นต่ำสุดแก่ ‘ทุกคน’ ให้อยู่รอดได้แม้ผจญห้วงวิกฤตในอนาคต เพราะการผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้น่าจะทำให้รัฐและปัจเจกชนเปลี่ยนผ่าน (transition) สู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่จะใช้ความห่วงใยใส่ใจผู้อื่นเป็นกลไกดูแลกันยามวิกฤต
กำลังโหลดความคิดเห็น