xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทำไมต้องกลับลำเชือด “ไอ้ตู่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จตุพร พรหมพันธุ์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นเรื่องแปลก แต่ไม่น่าใส่ใจมากนัก เมื่อ"ไอ้ตู่" จตุพร พรหมพันธุ์ คนไม่เอาไหนจากสุราษฎร์ธานี ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติ 4 ต่อ 1 ขาดสมาชิกภาพความเป็นส.ส.

ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ สังคมไทยวิงวอน เรียกร้อง แนะนำ ให้กกต.ชุดนี้ ไม่ให้คำรับรองสภาพความเป็น ส.ส.ของ จตุพร

แต่กกต.ชุดนี้ไม่ยอม โดยเฉพาะ “สดศรี สัตยธรรม” นักการเมืองในคราบกรรมการการเลือกตั้ง

สถานการณ์ในช่วงนั้น กกต.เลือกทางเดินของการ “รับรองไปก่อน” แล้วค่อย “สอยทีหลัง”

กลายเป็นว่า ตำแหน่งสมาชิสภาผู้แทนราษฎร ของรัฐสภา ถูกจัดให้เป็น “รางวัล” แก่คนทำชั่วเพื่อคนคนเดียวๆ

มิใช่คนที่จะทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับชาวบ้านทั่วประเทศ

แต่เมื่อ กกต.ฉีกความคิดความเชื่อของตัวเอง ด้วยการสอยความเป็นส.ส.ของไอ้ตู่

สังคมก็สังสัยในความคงเส้นคงวาของ กกต.เหมือนกัน

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีการพิจารณาสำนวนที่ กกต.ได้ให้อนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ถูกต้องคุมขังตามหมายของศาลอาญา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2554 แต่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะทำให้ความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 หรือไม่ ?

โดยอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้ครบกำหนดระยะเวลาการไต่สวนเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุม กกต.

อนุกรรมการไต่สวนฯ ได้เสนอความเห็นข้อกฎหมายประกอบกับความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ ถึงความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพร ว่าการจะสิ้นสุดหรือไม่สิ้นสุดความเป็น ส.ส.ของนายจตุพรนั้น สามารถนำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 106 มาประกอบการวินิจฉัยของ กกต.ได้

แต่อนุกรรมการฯ ไม่ได้เสนอความเห็นชี้ขาดว่า กรณีของนายจตุพร ที่ถูกคุมขังโดยหมายของศาล และไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม จะเป็นเหตุอันทำให้สิ้นสุดความเป็นสมาชิกภาพหรือไม่ โดยอนุกรรมการฯ เห็นว่ายังมีปัญหาข้อกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม “สมชาติ เจศรีชัย” รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ กกต. แถลงภายหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุม กกต.มีมติ 4 ต่อ 1 เห็นว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ ขาดจากสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ตามมาตรา 106 (4) และ (5) ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.2554 ซึ่งขณะนั้นนายจตุพรถูกจับกุมคุมขังอยู่

จึงสมควรที่ส่งเรื่องไปให้ประธานรัฐสภายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง

ทั้งนี้ ความเห็นของ กกต.ใน 4 เสียง ที่เห็นควรให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ในจำนวนนี้ 3 เสียงเห็นว่า เนื่องจากยังมีปัญหาโต้เถียงกันว่าการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของนายจตุพรสิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.พรรการเมืองมาตรา 20 (3) จะส่งผลให้สมาชิกภาพของความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงตามมาตรา 106 หรือไม่ ถ้าสิ้นสุดจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงเห็นควรเรื่องให้มีการวินิจฉัย

ส่วนอีก 1 เสียงเห็นว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิที่ลงสมัคร ส.ส.ในรัฐธรรมนูญมาตรา 101 และมาตรา 102 โดยยกเว้นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม มิให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมาตรา 100 ( 3) ซึ่งในประเด็นนี้คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เห็นว่าจะต้องนำเอา พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 20 ประกอบมาตรา 19 และมาตรา 8 มาขยายความการเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.ที่บัญญัติเรื่องการสิ้นสุดลงไว้ในมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญ

เสียงข้างน้อยของ กกต.อีก 1 เสียงเห็นว่า ควรยกคำร้องไม่ต้องส่งศาล โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (3) กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในวันสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น

“สดศรี สัตยธรรม” กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง ยอมรับว่า ตนเองเป็นเสียงข้างน้อย 1 เสียง ที่เห็นว่าไม่ต้องส่งศาล เพราะเห็นว่านายจตุพรจะเข้าลักษณะตามมาตรา 106 ถ้าจะนำเอากฎหมายของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาใช้ประกอบการพิจารณา ตนก็เห็นว่ายังมีความขัดกันของกฎหมายอยู่

นั่นหมายความว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินชี้ขาดว่า ไอ้ตู่ สิ้นสุดสภาพความเป็น ส.ส. จะทำให้เอกสิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงทัน

“ไอ้ตู่” มีสิทธิ์เดินเข้าคุกอีกครั้ง

นสพ.คมชัดลึก ได้ตรวจสอบคดีอาญาที่ ไอ้ตู่ ตกเป็นจำเลยไว้อย่างน่าสนใจในข้อมูล โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 9 คดี ประกอบด้วย

1. คดีก่อการร้าย หมายเลขดำที่ อ. 2542/2533 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กับพวกที่เป็นแกนนำ และแนวร่วม นปช.รวม 19 คน ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย , ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาเพื่อให้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกฉิน พ.ศ.2548 จากกรณีระหว่างวันที่ 28 ก.พ.- 20 พ.ค.53 ต่อเนื่องกัน พวกจำเลยได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นให้ยุบสภา

คดีอยู่ระหว่างการรอนัดพร้อมในวันที่ 23 เม.ย. 55 เวลา 09.00 น. โดยคดีนี้ นายจตุพร จำเลยที่ 2 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในวงเงินประกัน 600,000 บาท แต่ศาลระบุเงื่อนไขห้ามไม่ให้ กระทำการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อความสงบเรียบร้อย

นี่คือ คดีที่ไอ้ตู่ได้รับประกันตัว และออกมาจากเรือนจำในฐานะส.ส.

2. คดีดักฟังโทรศัพท์ หมายเลขดำที่ อ.177/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพรกับพวกแนวร่วม นปช. เป็นจำเลยที่ 1 - 3 ในความผิดฐาน ร่วมกันดักฟัง หรือ เปิดเผยข้อความที่มีการติดต่อทางโทรศัพท์ และการสื่อสารทางโทรคมนาคม โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่จำเลยทั้งสาม ร่วมกันนำข้อความการสนทนาทางโทรศัพท์ ระหว่าง พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กับ นายวิรัช ชินวินิจกุล อดีตเลขานุการศาลฎีกา และ นายไพโรจน์ นวานุช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา ไปเปิดบนเวทีปราศรัยของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่ท้องสนามหลวง เมื่อคืนวันที่ 22 มิ.ย.50

ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 11 พ.ค.55 เวลา 09.000 น.

3. คดีหมายเลขดำ อ.404/2552 ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา โดยเมื่อวันที่ 13 ม.ค.52 นายจตุพร แถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทย กล่าวหานายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี กระทำการมิบังควรตีตนเสมอพระเจ้าแผ่นดิน โดยนั่งเก้าอี้เทียบเสมอพระเจ้าแผ่นดินในการถวายรายงานราชการ

คดีอยู่ระหว่างรอสืบพยานจำเลยในวันที่ 19 ธ.ค.54 เวลา 09.00 น.

4. คดีหมายเลขดำที่ อ.1962/2552 ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายจตุพร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา จากกรณีเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 52 นายจตุพร ขึ้นปราศรัยบนเวที นปช. ที่วัดไผ่เขียว ทำนองว่า โจทก์ไม่ได้นั่งอยู่ในรถประจำตำแหน่ง ในช่วงเหตุการณ์ที่กลุ่มคนเสื้อแดงปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย และรุมทุบรถ และยังกล่าวหาว่าโจทก์เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือดสั่งทหารยิงประชาชนคนเสื้อแดง ในเหตุการณ์ชุมนุมช่วงเดือน เม.ย.52

คดีอยู่ระหว่างรอสืบพยานในวันที่ 1 ธ.ค.54 เวลา 09.00 น.

5. คดีหมายเลขดำที่ อ.4176/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328 , 332 กรณีเมื่อวันที่ 11 และ 17 ต.ค.52 นายจตุพร กล่าวปราศรัยในการชุมนุมของ นปช. และเสื้อแดง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและทำเนียบรัฐบาล กล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์ ยึดพระราชอำนาจ โดยไม่เสนอให้มีการถวายฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เป็นฆาตกร อาชญากร สั่งทหารฆ่าประชาชนและสร้างสถานการณ์การจลาจลที่บริเวณ สามเหลี่ยมดินแดง นางเลิ้ง และ ถ.เพชรบุรี ซอย 5 และ ซอย 7 ช่วง เดือน เม.ย. 52 และ เหตุการณ์จลาจล ที่เมืองพัทยา

ศาลนัดสืบพยานจำเลย ในวันที่ 10 ก.พ.55 เวลา 09.00 น.

6. คดีหมายเลขดำ อ.1008/2553 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุพร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 326, 332 กรณีเมื่อวันที่ 29 ม.ค. - 15 ก.พ.53 จำเลยกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มคนเสื้อแดง และประชาชนที่รับชมผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องพีเพิล แชนแนล ใส่ความโจทก์ทำนองว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งฆ่าประชาชน และหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

ศาลนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 6 ก.ค.55 เวลา 09.00 น.

7. คดีหมายเลขดำ อ.855/2553 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายจตุพร ส.ส.บัญชีราชชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 จากกรณีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 52 นายจตุพรได้แถลงข่าวพาดพิงนายสุเทพว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเกณฑ์คนต่างด้าวให้ได้ 5,000 คนมาสวมเสื้อสีแดง แฝงตัวร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง ในวันที่ 10 ธ.ค. 52 แล้วให้ก่อความปั่นป่วน เพื่อป้ายสีคนเสื้อแดง

ศาลนัดสืบพยานจำเลย วันที่ 7 ธ.ค.54 เวลา 09.00 น.

8. คดีหมายเลขดำ อ.771/2554 ที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวกรวม 4 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจตุพร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และสื่อมวลชน รวม 4 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ย.53 จำเลยทั้งสี่ ร่วมกันใส่ความโจทก์ ว่า โจทก์ทั้งหกออกมาชุมนุมเพื่อสร้างความวุ่นวายและร่วมมือกับทหารเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาล จำเลยยังร่วมกันนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยลงในเวปไซต์ www.khaosod.co.th และลงพิมพ์บทความในหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ ในวันที่ 27 ธ.ค.54 เวลา 09.00 น.

9. คดีหมายเลขดำ ด.2635/2551ที่นางทีปสุรางค์ ภักดีธนากุล ภรรยาของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับพวกซึ่งเป็นแกนนำ นปช. และสื่อ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 จากกรณีที่เมื่อวันที่ 4 ส.ค.51 เวลาประมาณ 22.00 -23.00 น. จำเลยที่ 1-3 ซึ่งดำเนินรายการ “ ความจริงวันนี้ ” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ได้แสดงความคิดเห็น โดยเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งนำคำพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลจังหวัดสงขลา คดีที่ดินมาอ่านออกอากาศ โดยอ้างว่าเป็นประเด็นเปรียบเทียบกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้ชมรายการเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี โกงที่ดินของบุคคลอื่น

คดีอยู่ระหว่างรอสืบพยานโจทก์ในวันที่ 25 ม.ค.55 เวลา 09.00

โดยสรุป อภิสิทธิ์ ฟ้องมากที่สุด 4 คดี แต่คดีที่หนักที่สุดคือ คดีก่อการร้าย เพราะคำปราศัยของไอ้ตู่หมิ่นเหม่ต่อการพยายามล้มล้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

เพียงในสถานการณ์ในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลง เมื่อ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อธิบดีกรมสอบสวนดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีกระทำความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ (ล้มเจ้า) ยอมรับว่า ดีเอสไอได้เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนคดีล้มเจ้าที่มีแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 19 คน ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา สืบเนื่องจากการปราศรัยบนเวทีชุมนุมใหญ่ของนปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ตามคำสั่งของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม

ต่างกับการแถลงของ “ธาริต” ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)  เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 53 อย่างสิ้นเชิง

หรือนี่คือ ข้อแลกเปลี่ยนทางคดีของคนชงเรื่อง !!
สดศรี สัตยธรรม
ธาริต เพ็งดิษฐ์
กำลังโหลดความคิดเห็น